จากกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงหมู่บ้านคลิตี้ล่างได้รับสารตะกั่วและสารพิษเข้าสู่ร่างกายจากการดื่มน้ำและกินสัตว์น้ำจากลำห้วย จนชาวบ้านต่างเจ็บป่วยล้มตาย วิถีชีวิตที่เคยอยู่อย่างสงบสุขต้องเปลี่ยนแปลงไป อันนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทผู้ก่อมลพิษเป็นคดีแพ่งระหว่าง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 8 คน ฟ้องให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวก ในปี 2546 ให้ชดใช้เยียวยาความเสียหายฐานละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นเงินรวม 119,036,400 บาท และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ผ่านไป 14 ปี กระบวนการดำเนินคดีได้เดินทางมาถึงวันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา วันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีเปิดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มีใจความสำคัญโดยสรุปและบรรทัดฐานสำคัญในคดีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแพ่งกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 15219/2558
ประเภทคดี แพ่ง
คู่ความ นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน โจทก์
บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย
ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 ฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 119,036,400 บาท
โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายจากคณะทำงานฝ่ายสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย
ศาลชั้นต้น: ศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ตัดสินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายรวม 4,260,000 บาท แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์: ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นจำนวน 29,551,000 บาท
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา มีประเด็นโดยสรุป ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดเคลือบคลุมหรือไม่
วินิจฉัยว่า เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งระบุรายละเอียดความเสียหาย และค่าเสียหายของโจทก์และแต่ละคนไว้ชัดแจ้ง ส่วนกฎเกณฑ์หรือข้อมูลที่นำมาใช้ เป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายขอโจทก์แต่ละคน เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์ทั้งแปด จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งแปด และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์ทั้งแปดจึงไม่เคลือบคลุม
ประเด็นที่ 2 ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์ทั้งแปดป่วยและกระบือของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 6 ตายเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่คลิตี้ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดหรือไม่
จำเลยทั้งสองไม่มีพยานนำสืบหักล้างว่าอาการป่วยของโจทก์ทั้งแปดมิได้เกิดจากการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นปริมาณสารตะกั่วในร่างกายของโจทก์ทั้งแปดจึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและสุขภาพอนามัยของโจทก์ทั้งแปด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งแปดป่วยเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่ของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและสุขภาพอนามัย จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการแต่งแร่ดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ มีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปดไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 96
จำเลยที่ 2 เป็นหนึ่งในกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งแปดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 96
ประการที่ 3 ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งแปดขาดอายุความหรือไม่
คำฟ้องของโจทก์ทั้งแปดมิได้เป็นคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบเฉพาะความผิดฐานละเมิด แต่เป็นคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ และมีขอบเขตของความรับผิดกว้างกว่าความรับผิดฐานละเมิด ซึ่งไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ประการที่ 4 ตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดและของจำเลยทั้งสอง ว่าสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดเพียงใด
เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายดังนี้
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ทั้งแปดก่อนฟ้อง เป็นเงินคนละ 100,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อเนื่องจนกว่าจะลดปริมาณสารตะกั่วในร่างกายให้อยู่ระดับที่จะไม่เกิดพิษต่อโจทก์ทั้งแปดภายในเวลา 2 ปี เป็นเงินคนละ 50,000 บาท
- ค่าที่ต้องเสียความสามารถและโอกาสในการทำงานอย่างสิ้นเชิงหรือบางส่วนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัย และค่าขาดประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค ขาดแหล่งอาหารขาดประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากลำห้วยคลิตี้ กำหนดให้แก่
โจทก์ที่ 1, ที่ 3, ที่ 4 และที่ 6 คนละ 2,000,000 บาท
โจทก์ที่ 2 และที่ 7 คนละ 2,500,000 บาท
โจทก์ที่ 5 และที่ 8 คนละ 3,000,000 บาท
รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 , 3 , 4 , และ 6 ได้รับเป็นเงินคนละ 2,150,000 บาท
รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 และที่ 7 ได้รับเป็นเงินคนละ 2,650,000 บาท
รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 5 และที่ 8 ได้รับเป็นเงินคนละ 3,150,000 บาท
รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งแปดได้รับทั้งสิ้น 20,200,0000 บาท
ประการที่ 5 ตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดว่า ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองแก้ไขฟื้นฟูนำแร่ตะกั่วออกจากลำห้วยคลิตี้ตามคำขอของโจทก์ทั้งแปดได้หรือไม่
ศาลฟังได้ว่าโจทก์ทั้งแปดและชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิที่จะอนุรักษ์และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากลำห้วยคลิตี้อย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 46, 56, 69 ประกอบรัฐธรรมนูญฯ 2550 และรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว)ฯ 2557 มาตรา 4 ที่ได้รับรองสิทธิชุมชนต่อเนื่องมา
ดังนี้เมื่อปรากฏว่า จำเลยทั้งสองก่อให้เกิดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ โจทก์ทั้งแปดและชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จึงเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองกระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนได้ การที่โจทก์ทั้งแปดฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยนำแร่ตะกั่วที่ตกค้างอยู่ในลำห้วยคลิตี้ออกไปทั้งหมด เพื่อให้ลำห้วยคลิตี้สะอาดปราศจากสารตะกั่วด้วย ซึ่งคำขอดังกล่าว เป็นคำขอเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งแปดและชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง คำฟ้องของโจทก์ทั้งแปดในส่วนที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ฟื้นฟูบำบัดน้ำในลำห้วยคลิตี้จึงเป็นการฟ้องในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โจทก์ทั้งแปดจึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ
ส่วนการที่โจทก์ทั้งแปดขอให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูลำคลิตี้ของจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า การดูแลรักษาและแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว กรมควบคุมมลพิษย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการขจัดมลพิษออกจากลำห้วยคลิตี้จนกว่าจะกลับมามีสภาพที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชุมชนบ้านคลิตี้ล่าง โดยจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 96 วรรค 2
ประเด็นที่ 6 มีเหตุที่จะสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ทั้งแปดเกิดจากการได้รับสารพิษตะกั่วสะสม ต้องใช้ระยะเวลาในการติดตาม ไม่อาจชี้วัดได้ว่าจะหายเป็นปกติเมื่อใด ประกอบกับโจทก์ยังดำรงชีวิตอยู่บริเวณลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วและยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง ย่อมส่งผลกระทบต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ จึงเป็นการพ้นวิสัยหยั่งรู้ว่าความเสียหายที่แท้จริงมีเพียงใด เห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะสงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนนี้ไว้เป็นเวลา 2 ปี
“…พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เป็นเงินคนละ 2,150,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 7 เป็นเงินคนละ 2,650,000 บาท และโจทก์ที่ 5 และที่ 8 เป็นเงินคนละ 3,150,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ และให้สงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัยและค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถประกอบการงานของโจทก์ทั้งแปดภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 100,000 บาท แทนโจทก์ทั้งแปด ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7…”
อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม: http://goo.gl/0xTKGZ
อ่านรวมคำพิพากษาคดีคลิตี้และคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ: https://enlawfoundation.org/newweb/?page_id=860
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณสมชาย อามีน ทนายความจากสภาทนายความ โทร. 081-4071061