สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาคดีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ (คดีแพ่ง-ชาวบ้าน151คน)

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 10797/2559

 
ประเภทคดี: แพ่ง (เรียกค่าเสียหายและขอให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม)
คู่ความ:
โจทก์                    

  • นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน                                     

จำเลย

  • บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด  ที่ 1
  • นางศิริวรรณ  มนะเวส  ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์  กลีบบัว  ที่ 2
  • นางสุลัดดา  กลีบบัว  ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์ กลีบบัว  ที่ 3
  • นางรัศมี  กลีบบัว  ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธานี  กลีบบัว  ที่ 4
  • นางสาวอาวีนันท์  กลีบบัว  ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธานี  กลีบบัว  ที่ 5
  • นายพรนเรศ  กลีบบัว  ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธานี  กลีบบัว  ที่ 6
  • นางอุไรวรรณ  อดิศรางกูร  ที่ 7                                                             

 
ข้อหาหรือฐานความผิด:   ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ยื่นฟ้อง:     เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท (หนึ่งพันสี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้  โดยความช่วยเหลือในการดำเนินคดีจากสภาทนายความฯ

ศาลชั้นต้น:   เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้ง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม และให้จำเลยดำเนินการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป  หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ศาลอุทธรณ์:   เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจฟ้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษให้ทำได้
 
สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา:  วันที่ 11 กันยายน 2560 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 โดยมีประเด็นสรุปดังนี้
 
ประเด็นที่ 1    โจทก์ที่เป็นผู้เยาว์ซึ่งฟ้องคดีโดยผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจฟ้องหรือไม่
วินิจฉัยว่า        ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาลที่จะ
ใช้ดุลพินิจว่าจะสืบพยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์จะสืบหรือไม่ เพียงใด และหากเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์ที่เป็นผู้เยาว์ดำเนินการนำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ แม้จะเป็นภายหลังจากที่ฝ่ายจำเลยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้อง
 
ประเด็นที่ 2      ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
วินิจฉัยว่า        ในปี 2542 ถึงปี 2547 รายงานผลการตรวจระดับตะกั่วในเลือดของประชาชนหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีค่าเกินกว่าระดับมาตรฐาน แสดงว่าการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ยังคงมีอยู่และส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของโจทก์ต่อเนื่องกันตลอดจนถึงปี 2547 เป็นอย่างน้อย
เมื่อเดือนมีนาคม 2546 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีเอกสารเรื่องการจัดการปัญหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ ระบุว่าการดำเนินการในปี 2545 ถึงมีนาคม 2546 ได้มีการนำหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” มาใช้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ทั้งหมด และมีมาตรการในการช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการตั้งกองทุนเพื่อรักษาพยาบาล
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างในฎีกาว่า บริเวณพื้นที่ของหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในระดับสูงมากและพืชที่ปลูกก็มีสารตะกั่วปะปนเกินมาตรฐาน การสะสมของสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้ล่างก็เกิดจากการอุปโภคบริโภคอาหารที่มีสารตะกั่วเจือปน ไม่ใช่กรณีที่สารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้แต่อย่างใด เห็นว่า เอกสารที่จำเลยอ้างนั้นเป็นรายงานการประชุมเรื่องการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการสะสมของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมบริเวณเหมืองแร่คลิตี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2543 ซึ่งสรุปผลการวิเคราะห์ว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วจึงให้ที่ประชุมเสนอแนะวิธีการฟื้นฟูที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่น ซึ่งแสดงว่ายังมีการแก้ไขปัญหาเรื่องสารตะกั่วเรื่อยมาเพราะมีผลต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วย เมื่อนับตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันฟ้อง 19 ตุลาคม 2550 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ภาค 7
 
ประเด็นที่ 3      จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นการส่วนตัวหรือไม่
วินิจฉัยว่า        จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2522 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองโรงแต่งแร่แทนจำเลยที่ 1 เพราะการแสดงเจตนาต้องใช้กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการเป็นผู้แสดงออก
เมื่อโรงแต่งแร่เป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และจำเลยที่ 2 พิสูจน์ไม่ได้ว่ามลพิษจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารตะกั่วเจือปนลงลำห้วยคลิตี้เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของโจทก์ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายของตนเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงหรือโดยอ้อมในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวด้วย ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างทั้งสอง
 
ประเด็นที่ 4      จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์ กลีบบัว ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่
วินิจฉัยว่า        นายคงศักดิ์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในช่วงเกิดเหตุเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรอง จึงเป็นผู้ครอบครองโรงแต่งแร่แทนจำเลยที่ 1 เช่นกัน นายคงศักดิ์จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 เมื่อนายคงศักดิ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์ เมื่อมิได้มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกแล้วจึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์
 
ประเด็นที่ 5      โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูกำจัดสารตะกั่ว และสารเคมีทั้งหมดออกไปจากลำห้วยคลิตี้ตามฟ้องหรือไม่
วินิจฉัยว่า        จำเลยที่ 1, นายคงศักดิ์, นายธานี, จำเลยที่ 2 และที่ 7 จงใจปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ตะกอนตะกั่ว และสารเคมีจากโรงแต่งแร่ให้ไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ก่อให้เกิดมลพิษในน้ำและสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ ทำให้โจทก์รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่บริโภคน้ำในลำห้วยคลิตี้เป็นประจำเพื่อการดำรงชีพได้รับสารตะกั่วเข้าไปสะสมในร่างกาย ทำให้ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ถูกละเมิดสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนเอง จึงฟังได้ว่าคำขอดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่เป็นคำขอเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างทุกคน ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่น ตามมาตรา 66 และ 67 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต่อเนื่องมา
ดังนั้น ในส่วนคำขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งเจ็ดจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการตามที่โจทก์ขอให้บังคับ
ส่วนการขอให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจสอบและดูแลการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของจำเลยทั้งเจ็ดนั้น เห็นว่า การดูแลรักษาและแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แม้ไม่มีคดีขึ้นมาสู่ศาล ก็ต้องกระทำเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัฐของชาติไว้ จึงไม่จำเป็นต้องสั่งให้ตามที่ขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

คำพิพากษา

  • ประเด็นค่าเสียหายมีคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลชั้นต้นคือ  ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ทั้ง 151 รายยกเว้นโจทก์ที่ 36  รวม 36,050,000 บาท
  • โดยพิพากษาแก้บางส่วนว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งเจ็ดจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะมีสภาพที่ใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ โดยจำเลย
    ที่ 2 ไม่ต้องร่วมดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคงศักดิ์ กลีบบัว
  • ให้จำเลยทั้งเจ็ดใช้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
  • ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 701,250 บาท แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
  • ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 100,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 151 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม : https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2017/09/Decision-Klity151Civilcase-SupremeCourt.pdf

บทความที่เกี่ยวข้อง