สถานการณ์สิ่งแวดล้อม สิทธิ และกฎหมายที่ต้องติดตามในปี 2563


สวัสดีปีใหม่ 2563 …
วาระปีใหม่นี้ “มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)” ขอยก 5 เรื่องสำคัญ “สถานการณ์สิ่งแวดล้อม สิทธิ และกฎหมายที่ต้องติดตามในปี 2563” เพื่อเชิญชวนให้ร่วมติดตาม จับตา เฝ้าระวัง เพื่อความหวังในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของปีใหม่ ที่ต้องช่วยกันทำให้ดีกว่าปีเก่าที่ผ่านไป…

ที่มาภาพ Greenpeace Thailand

1.ฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านมา 1 ปี ดีขึ้นแค่ไหน ?
ในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยรวม อยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พบฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 24 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยก็ประสบปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือพื้นที่ทางภาคเหนือ ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2562 ภาคใต้ยังได้รับผลกระทบหมอกควันจากการเผาป่าพรุในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านประเทศไทยในช่วงเวลาข้างต้นก็ได้พัดเอาหมอกควันจากเกาะสุมาตราเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยด้วย ส่วนมาตรการของรัฐในการจัดการกับปัญหา PM2.5 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นไปตาม แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ผ่านความเห็นชอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการประสานและติดตามการดำเนินการตามแผน แต่ยังมีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่ายว่าแผนปฏิบัติการนี้ยังขาดรูปธรรมที่ชัดเจนและมีจุดอ่อนอยู่อีกมาก
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตลอดปี 2563 จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่เราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าแผนปฏิบัติการนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ รัฐจะเข้ามาดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างไร ประชาชนจะต้องดูแลตัวเองและปรับตัวเพื่อช่วยกันบรรเทาปัญหาอย่างไรบ้าง
อ่านเพิ่มเติม
https://www.greenpeace.org/thailand/story/9181/uncomfortable-air-pollution-plan/
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2317279
https://www.thairath.co.th/news/local/534417
http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download_book.php?bookid=35

ที่มาภาพ ประชาไท

2. แบน 3 สารเคมี สุขภาพของประชาชนและผลกระทบของเกษตรกรที่รัฐต้องเร่งจัดการ
ยืดเยื้อกันมากว่า 2 ปี ในการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีการเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการยกระดับการควบคุม 3 สารเคมีการเกษตรข้างต้น ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผลเป็นการห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลว่ายังไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ และภาระที่จะเกิดขึ้นกับภาครัฐ จึงมีมติ ดังนี้
1. ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่สำหรับสารไกลโฟเซตไม่ยกเลิกแต่ให้จำกัดการใช้แทน
2. มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ (ภายในเดือนมีนาคม 2563)
จึงต้องติดตามกันว่ามาตรการรองรับที่ที่จะออกมานั้น จะช่วยให้สังคมไทยเดินหน้าไปสู่วิถีการเกษตรปลอดภัยแบบไม่ทอดทิ้งให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องแบกรับภาระเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการนี้จะ ไม่ใช่การสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกเป็นทอดๆ และที่สำคัญคือต้องไม่กลายเป็นข้ออ้างในการเลื่อนการแบนสารเคมีอันตรายออกไปอีกเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด
อ่านเพิ่มเติม
https://news.thaipbs.or.th/content/286503
https://www.thaipan.org/action/1187
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1685316

3. การลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมปนเปื้อนมลพิษ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่อาการเรื้อรัง
นอกจากปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นกระแสร้อนแรงอยู่ในช่วงต้นปีนี้แล้วนั้น การลักลอบทิ้งขยะและของเสียอุตสาหกรรมปนเปื้อนมลพิษยังเป็นปัญหาอีกหนึ่งอย่างที่ค้างคามาหลายปีและเป็นอีกปัญหาที่จะต้องเฝ้าระวังกันในปีนี้
หลังจากมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เมื่อต้นปี 2559 ปลดล็อคให้โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ สามารถดำเนินกิจการได้ทุกพื้นที่โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองที่ประกาศใช้ในพื้นที่นั้น ๆ อยู่ก่อน หน่วยงานสามารถออกใบอนุญาตตั้งโรงงานได้แม้ว่าพื้นที่นั้นจะถูกกำหนดเป็นเขตพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือแหล่งชุมชน เป็นผลให้มีการขออนุญาตและอนุมัติการตั้งโรงไฟฟ้าขยะหรือกิจการโรงงานจัดการขยะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาการรั่วไหลปนเปื้อนมลพิษจากโรงงานจัดการขยะและการลักลอบทิ้งขยะและของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่ภายนอกโรงงานหลายกรณีทั้งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สระบุรี และอีกหลายจังหวัด โดยพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่มาก โดยแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเลือกฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมายและมาตรการสิ่งแวดล้อมคือ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการบำบัดกำจัดของเสียอุตสาหกรรมที่เมื่อประเมินเปรียบเทียบกับความเสี่ยงจะถูกลงโทษแล้วก็ยังคุ้มค่า เพราะปัจจุบันกฎหมายโรงงานบัญญัติบทลงโทษสูงสุดไว้เพียงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และหลายกรณีการปนเปื้อนและลักลอบทิ้งที่เคยเกิดขึ้นผู้กระทำผิดก็หลุดลอยนวล หาตัวผู้ก่อมลพิษมาลงโทษและรับผิดชอบไม่ได้
ปัญหานี้สะท้อนถึงการไม่มีมาตรการการกับควบคุมดูแลที่ดีพอที่จะจัดการกับขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ปัญหาการกำจัดขยะอย่างมักง่ายของผู้ประกอบการที่สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลูกโซ่ตามมา โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐกำลังเร่งผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยิ่งต้องช่วยกันจับตาเป็นพิเศษ
อ่านเพิ่มเติม
https://ilaw.or.th/node/4887
https://prachatai.com/journal/2017/08/73012
https://tdri.or.th/2018/08/industrial-waste/
https://www.ldm.in.th/cases/5979
http://www.chiaplatform.org/page/article_read/25

ที่มาภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

4. การส่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน สิทธิที่ยังถูกจำกัดและคุกคาม
ในขณะที่รัฐเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดการแย่งชิงและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งโครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขื่อนและโครงการผันน้ำต่าง ๆ แต่การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ และเรียกร้องการแก้ไขปัญหา กลับทำได้อย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขข้ออ้างทางกฎหมายต่าง ๆ ที่รัฐสร้างขึ้น โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่เป็นอุปสรรคทำให้การออกมารวมตัวรวมกลุ่มของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและประเด็นสาธารณะอื่น ๆ ทำได้อย่างยากลำบาก หลายกรณีมีการกดดันข่มขู่ผู้เข้าร่วม หลายกรณีตามมาด้วยการถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ยังมีความพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะด้วยการฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP) ทั้งข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อยู่อย่างต่อเนื่อง
ปี 2563 นี้ที่มีแนวโน้มของการออกมาเรียกร้องแสดงออกของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตาดูสถานการณ์การจำกัดและคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ว่าจะลดลงหรือเพิ่มมากขึ้นอย่างไรภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
อ่านเพิ่มเติม
https://www.tlhr2014.com/?p=11258
http://naksit.net/2019/06/reportslapps2019hrla

ที่มาภาพ ประชาไท

5. กฎหมายใหม่ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ต้องจับตาในปี 63
นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในทางตรงแล้ว การออกและแก้ไขกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับก็เอื้อให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทำได้ง่ายขึ้น จนบางทีแทบจะไม่เห็นมุมมองของการระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตัวอย่างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งกฎหมายที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนทำให้การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นแค่ส่วนประกอบที่ไม่ถูกให้ความสำคัญ
5.1 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562
ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์คือการแก้ไขนิยามของคำว่า “โรงงาน” ให้ต้องมีเครื่องจักรขนาด 50 แรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จึงจะถือเป็นโรงงานที่อยู่ในบังคับต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน ทำให้มีกิจการขนาดเล็กจำนวนมากหลุดออกจากการควบคุมกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน ซึ่งอาจรวมถึงกิจการคัดแยกและจัดการขยะอุตสาหกรรมที่แม้จะมีขนาดเครื่องจักรหรือจำนวนคนงานต่ำกว่ากฎหมายแต่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบมลพิษร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกอายุและการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเคยเป็นมาตรการสำคัญในการตรวจสอบทบทวนมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงาน รวมถึงผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขด้วย
อ่านเพิ่มเติม
https://ilaw.or.th/node/5359
https://enlawfoundation.org//?p=4906
5.2 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560
ซึ่งเริ่มต้นใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งมีการเพิ่มบทเฉพาะกาลให้บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้ได้ต่อไป จนกว่าผลการใช้บังคับตามสัญญาจะสิ้นสุดลง แต่พบว่ามีบางสัญญาที่ไม่สามารถยกเลิกได้เนื่องจากไม่มีระยะเวลากำหนดไว้ในสัญญา อีกทั้งเหมืองแร่หลายแห่งที่ได้รับอนุญาตไปแล้วก็ขัดมาตรการสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยประเด็นที่มีปัญหาในหลายพื้นที่และน่าติดตามต่อไปในปี 2563 คือประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
อ่านเพิ่มเติม
https://enlawfoundation.org//?p=3582
https://enlawfoundation.org//?p=3590
.
5.3 พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561
หรือเรียกกันว่า พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสามารถกำหนดพื้นที่อื่นเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ อันเป็นการลดทอนมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยภาคประชาชนยังคงมีข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการในพื้นที่ EEC ทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์และวิถีชีวิต จึงต้องร่วมกันติตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
https://ilaw.or.th/node/5358
https://enlawfoundation.org//?cat=358
.
5.4 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะในส่วนของระบบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) มีการเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงาน EIA / EHIA ซึ่งเป็นช่องทางให้โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐสามารถจัดหาผู้ดำเนินโครงการได้ก่อนโดยไม่ต้องรอให้รายงาน EIA/EHIA ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์ของระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องติดตามการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม
https://ilaw.or.th/node/4705
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644609
https://enlawfoundation.org//?cat=357

บทความที่เกี่ยวข้อง