ศาลปกครองยกฟ้อง! คดีเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง ชี้ ผังเมืองยังไม่ประกาศ ผลกระทบป้องกันได้
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 7 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง ในคดีหมายเลขแดงที่ 126/2556 ซึ่งนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ที่ 1 กับพวกรวม 61 คน ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ,คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ บริษัท กัลฟ์ เจพีเอนเอส จำกัด(บริษัทฯ) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพื่อขอให้พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี
โดยศาลเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีอาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายต่อสิทธิในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การที่ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่ในการรักษาประโยชน์สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นอกจากนี้ เมื่อเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
เมื่อ กกพ.ได้พิจารณาความเห็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ว่าการตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงงาน พ.ศ. 2535 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากยังไม่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง กกพ.เห็นว่าสอดคล้องกับความเห็นของกรมโยธาและผังเมืองแล้ว ประกอบกับ กกพ.ได้พิจารณาว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา67 วรรค 2 ตามคำคัดค้านของประชาชน และโครงการก็ได้ถูกบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573แล้ว การพิจารณาออกใบอนุญาตของกกพ.จึงสอดคล้องกับมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
อีกทั้ง เมื่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมิได้ลงนามในกฎกระทรวงและยังมิได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จึงไม่อาจนำร่างกฎกระทรวงฯมาบังคับให้เป็นผลเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ เนื่องจากการออกใบอนุญาตต้องคำนึงถึงสิทธิของบริษัทฯ บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น รวมทั้งประโยชน์สาธารณะที่จะได้จากการมีเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าสำรองด้วย
สำหรับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า กรณีปัญหาขาดแคลนน้ำ มลพิษทางอากาศ การทิ้งน้ำเสียและการเลี้ยงไก่ ก็ได้มีการระบุวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)อยู่แล้ว การประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ในประเทศไทยมีอยู่หลายแห่ง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีผลกระทบต่อชุมชน จึงแสดงว่าโรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับชุมชนได้
ดังนั้น มติของคชก.ที่เห็นชอบEIA และคำสั่งของกกพ.ที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าหนองแซงจึงชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โดยต่อจากนี้ ทางผู้ฟ้องคดีและทนายความจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมจะได้ดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ โทร. 084-0166152, มนทนา ดวงประภา โทร. 086-5467054