ราคาที่ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เรียบเรียง [i]

มหากาพย์คดีแพ่งชาวบ้านคลิตี้ 13 ปี ในศาลยุติธรรม

ในปี 2559 ศาลฎีกา (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) มีคำพิพากษาให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ[ii] คำพิพากษาในส่วนนี้เป็นการพิพากษาถึงการรับผิดชอบเยียวยาสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนโดยตัวผู้ก่อมลพิษเอง คือ บริษัทเอกชน ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) นอกเหนือจากการชดเชยเยียวยาความเจ็บป่วยและความเสียหายจากการขาดประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของผู้คนผ่านการให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแล้ว  

ความท้าทายในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลยุติธรรม

หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ศาลปกครองสูงสุด[iii] เองก็มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ สายน้ำแห่งเดียวที่ชาวบ้านคลิตี้ใช้อุปโภคบริโภค ขณะนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีที่กรมควบคุมมลพิษดำเนินการบางอย่างในการจัดทำแผนการฟื้นฟูลำห้วยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ความท้าทายที่เกิดขึ้นที่ควรพิจารณาต่อการบังคับให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย คือ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการจัดทำแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต่อมาศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาให้บริษัทเอกชนดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแล้วหลักการและขั้นตอนในการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาต้องดำเนินการอย่างไรในการบังคับบริษัทเอกชนให้ดำเนินการ และหรือร่วมกับการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐได้อย่างไร  

 

นานาทัศนะของนักกฎหมายและนักวิชาการ [iv]

 
สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

คำบังคับหรือการบรรลุผลตามคำพิพากษามีข้อสังเกตว่าทั้งสองศาลมีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ สิ่งที่เหมือน คือ จำเลยทั้งสองคดี กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานรัฐ และบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดในฐานะเอกชนผู้ก่อมลพิษมีหน้าที่และความรับผิดชอบเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของการบรรลุผลตามคำพิพากษานั้นต่างกันอยู่ บริษัทฯ ต้องฟื้นฟูจนกว่าลำห้วยจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ ในส่วนกรมควบคุมมลพิษต้องฟื้นฟูถึงขนาดไหนนั้นให้กรมเป็นผู้กำหนดตามแผนที่จะกำหนดขึ้นจากการศึกษาและต้องตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำจนกว่าจะพบว่าสารตะกั่วมีปริมาณไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อย 1 ปี

   

สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ได้ให้ข้อสังเกตถึงการตกลงให้เอกชนฟื้นฟูว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้วจากกรณีการลักลอบทิ้งกากขยะของเสียอันตรายในพื้นที่บ่อดินเก่าทิ้งร้าง ที่ ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทเข้าไปจัดการน้ำเสียในบ่อด้วยวิธีการของบริษัท โดยมีกรมโรงงานซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่เข้าไปตรวจรับงาน แต่สิ่งที่ขาดไปคือ ความมั่นใจของชุมชนต่อวิธีการจัดการมลพิษ ประสิทธิผลของการฟื้นฟู หรือแม้แต่การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเองที่อาจเป็นหน่วยงานที่มีส่วนได้เสียกับการจัดการลักลอบทิ้งกากของเสีย

สมชาย อามีน คณะทำงานช่วยเหลือคดีคลิตี้แพ่ง สภาทนายความ

ความรับผิดชอบต่อการฟื้นฟูลำห้วยของบริษัทฯ นี้รวมถึงความรับผิดเป็นการส่วนตัวของกรรมการบริษัทฯ ด้วย ในคดีคลิตี้แพ่งศาลให้เหตุผลถึงความเป็นผู้บริหารและการดูแลกิจการของกรรมการบริษัท รวมไปถึงการเป็นผู้ครอบครองสารตะกั่วอันเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษร่วมกับบริษัทฯ ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษโดยตรง การบังคับตามคำพิพากษาฎีกาจึงต้องรวมถึงการบังคับกรรมการบริษัทฯ ให้ปฏิบัติการบางอย่างด้วย

 

ฑิตา ตันคณิตเลิศ ตัวแทนกรมบังคับคดี

มุมมองการบังคับคดี ทางกรมบังคับคดีมีภารกิจหลักสองส่วน คือ การบังคับคดีแพ่งและการบังคับคดีล้มละลาย ซึ่งการบังคับคดีแพ่งเป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน อย่างในกรณีคลิตี้คือที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเราไปบังคับเอากับทรัพย์สินได้เลย  แต่ในส่วนของการฟื้นฟูลำห้วยนั้นเป็นหนี้ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ ซึ่งเป็นเรื่องการบังคับการกระทำของตัวจำเลย โดยหลักแล้วกรมบังคับคดีจะบังคับให้ไม่ได้  แต่ถ้าสมมติว่าบริษัทฯ ไม่กระทำการฟื้นฟูลำห้วย แล้วมีการไปจ้างบริษัทเอกชนหรือบุคคลภายนอกมาดำเนินการแทนจะทำให้มีหนี้เงินเกิดขึ้นทันที กรมบังคับคดีก็อาจเข้ามาบังคับหนี้เงินในส่วนนี้ให้ได้

อาจารย์ ดร. นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อสังเกตหนึ่งต่อการเข้าไปฟื้นฟูลำห้วยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและศาลฎีกา คือ มาตรฐานที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาทั้งสองว่าอย่างไรถึงจะได้มาตรฐานตามคำพิพากษา และสุดท้ายแล้วชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจะเข้าไปมีส่วนร่วมและรับรู้การฟื้นฟูนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

 

อาจารย์ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเราจะบังคับคดีอย่างไรในเชิงระบบ ตัวชุมชนเป็นผู้เสียหายชุมชนก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาได้เอง โดยไม่ต้องรอกรมควบคุมมลพิษมาดำเนินการฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นั่นหมายความว่าในระบบกฎหมายแพ่งที่เป็นอยู่ของไทย ชุมชนอาจจะไปหาบริษัทเอกชนที่มีความสามารถในการฟื้นฟูลำห้วยเข้ามาดำเนินการตามคำพิพากษาฎีกา แล้วก็ไปเก็บค่าใช้จ่ายเอากับบริษัทฯ ได้ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาในกรณีคลิตี้ คือ เหตุที่นำมาสู่คดีนี้ทั้งคดีปกครองและคดีแพ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะจัดการความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย คือ กรมควบคุมมลพิษที่เป็นหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน และชุมชนคลิตี้ ได้อย่างไรให้เรื่องที่มีสาเหตุเดียวกัน การแก้ไขปัญหาเดียวกันทั้งทางข้อเท็จจริงและตามคำพิพากษาและผู้เกี่ยวข้องชุดเดียวกันให้เป็นไปในทิศทางที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบการบังคับตามคำพิพากษาด้านสิ่งแวดล้อม  

 

การเดินทางยังไม่สิ้นสุด…เราชวนท่านติดตามการบังคับด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามคำพิพากษา กรณีบังคับให้เอกชนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ผู้ก่อมลพิษจะจ่ายราคาที่ได้ก่อไว้อย่างไร ?

————————————————————————————-

[i] อานันท์ รัตนเจียเจริญ ธนกฤต โต้งฟ้า และมนทนา ดวงประภา  

[ii] สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาคดีคลิตี้ (แพ่ง 8 คน)  https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2016/07/Summary-Decision-KlityCivil8-SupremeCourt.pdf

[iii] สรุปคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด : กรณีฟ้องให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่และชดใช้ค่าเสียหาย ในการมีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้   https://enlawfoundation.org/newweb/?p=321

[iv] ประชุมกลุ่มย่อยเรื่องการบังคับเอกชนให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559  

ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว ThaiPBS และจดหมายข่าวกรมควบคุมมลพิษ

บทความที่เกี่ยวข้อง