ยกคำร้องเลิกการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ศาลชี้ชุมนุมชอบด้วยกฎหมาย

ลำดับเหตุการณ์-คำสั่งศาล-ข้อสังเกตทนายความ


12 กุมภาพันธ์ 2561 เริ่มต้นการชุมนุมหน้า UN
เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประมาณ 150-200 คน ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของชุมชน โดยใช้พื้นที่ชุมนุมบริเวณทางเดินเท้าเกาะกลางถนนหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (ตึกยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เริ่มทำกิจกรรมการชุมนุมโดยการนั่งสงบนิ่งมาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.30 น. ตั้งเป้าหมายว่าจะนั่งชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะตอบสนองตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนางเลิ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุมตามที่พระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) กำหนดไว้โดยถูกต้องทุกประการ และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ในฐานะผู้รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะก็ได้มีหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุม ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ตอบกลับถึงกลุ่มผู้ชุมนุมรับทราบการแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยไม่ได้มีข้อกำหนดเงื่อนไข หรือข้อห้ามคำสั่งใดๆ กิจกรรมการชุมนุมเริ่มดำเนินไปอย่างสงบและเรียบร้อย
ทั้งนี้ การชุมนุมครั้งนี้เป็นการปฏิบัติการต่อเนื่องมาจากการชุมนุมบริเวณทางเดินเท้าหน้าสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2561 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการออกประกาศกองบัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องประกาศห้ามการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 50 เมตรรอบพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ประกาศฉบับดังกล่าวต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วเนื่องจากเห็นว่าเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ได้กระทำการไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

13 กุมภาพันธ์ 2561 ตำรวจออกประกาศสั่งให้ย้ายสถานที่ชุมนุม
11.30 น. โดยประมาณ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ที่ 2/2561 เรื่องให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 21 (2) มาแจ้งแก่ผู้ชุมนุม อ้างว่ามีการชุมนุมโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 16 (1) เป็นการกีดขวางและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าและประชาชนผู้ที่ใช้รถใช้ถนนบริเวณดังกล่าว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมาย และสั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งสองเครือข่ายแก้ไขการชุมนุมสาธารณะโดยการเคลื่อนย้ายที่ชุมนุมจากทางเดินเท้าเกาะกลางถนนหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (ตึกยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก ออกไปอยู่ที่บริเวณทางเท้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งหน้าวัดโสมนัส ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561
ประมาณบ่าย 3 โมงวันเดียวกัน ผู้ชุมนุมทั้งสองเครือข่ายร่วมกันทำหนังสืออุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะฉบับดังกล่าวที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยื่นต่อผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ยืนยันว่าการชุมนุมของเครือข่ายฯ เป็นการนั่งชุมนุมบนทางเท้าโดยสงบปราศจากอาวุธและความรุนแรง มิได้มีการชุมนุมรบกวนกีดขวางบริเวณพื้นผิวการจราจรหรือบนถนน ประชาชนทั่วไปยังคงสามารถใช้เส้นทางการจราจรในบริเวณใกล้เคียงได้ตามปกติ และไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้บริการสถานที่ทำการของหน่วยงานในบริเวณที่ชุมนุม ไม่มีการปิดกั้นขวางทางเดินเท้า ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนหรือมีพฤติการณ์ที่ทำให้บุคคลอื่นรู้สึกไม่ปลอดภัย ประชาชนทั่วไปยังคงสามารถเดินสัญจรผ่านไปมาในบริเวณพื้นที่ชุมนุมได้โดยสะดวกและปลอดภัย กับทั้งทางเดินเท้าในบริเวณดังกล่าวก็มีพื้นที่กว้างขวางทั้งในส่วนเกาะกลางถนนระหว่างช่องทางด่วนและช่องทางคู่ขนาน และในส่วนริมถนนติดกับอาคารสำนักงานที่ประชาชนยังสามารถเดินสัญจรผ่านได้ในระหว่างที่มีการชุมนุม และยืนยันเสรีภาพในการชุมนุมอยู่บนทางเท้าจุดเดิมต่อไป และจนล่วงเลยเวลา 16.00 น. ตามประกาศฯ การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ ไม่มีปฏิบัติการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมในช่วงเย็นวันนั้น

15-16 กุมภาพันธ์ 2561 แจ้งผลอุทธรณ์และร้องศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม
15 กุมภาพันธ์ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศฯให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะออกโดยชอบแล้ว ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ชุมนุม โดยไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบการพิจารณาใดๆ ระบุไว้
16 กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานศาลนำหมายนัดไต่สวนของศาลแพ่งพร้อมสำเนาคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งที่อ้างว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะที่สั่งให้ย้ายสถานที่ชุมนุม มาแจ้งแก่ผู้ชุมนุมโดยวิธีการปิดหมาย ณ สถานที่ชุมนุมเกาะกลางถนนหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ โดยศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้อง วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.00 น.

20 กุมภาพันธ์ 2561 นัดไต่สวนและฟังคำสั่งศาลแพ่ง
ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องขอให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง (ผู้ร้อง) อ้างตนเองเป็นพยานขึ้นเบิกความต่อศาลและตอบคำถามทนายความฝ่ายผู้ชุมนุม (ผู้คัดค้าน) รับว่า การชุมนุมอยู่ภายในบริเวณทางเดินเท้าเกาะกลางถนนโดยยังเหลือพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นหญ้าที่ประชาชนสามารถเดินผ่านได้แต่ไม่สะดวก การชุมนุมใช้พื้นที่ทางยาวประมาณ 70 เมตร จากเกาะกลางถนนทั้งหมดประมาณ 170 เมตร และไม่ได้รบกวนกีดขวางป้ายรถเมล์และทางม้าลาย ฝ่ายตัวแทนผู้ชุมนุมขึ้นเบิกความยืนยันว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีการรบกวนกีดขวางพื้นผิวการจราจรหรือบนถนน และไม่กีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้บริการสถานที่ทำการของหน่วยงานในบริเวณที่ชุมนุม ไม่มีการปิดกั้นขวางทางเดินเท้า และนอกจากเกาะกลางถนนแล้ว ในส่วนริมถนนทางคู่ขนานติดกับตึกองค์การสหประชาชาติก็มีทางเดินเท้ากว้างขวางที่ประชาชนสามารถเดินสัญจรผ่านได้ในระหว่างที่มีการชุมนุม การชุมนุมจึงชอบด้วยกฎหมาย อยู่ภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ให้การรรับรองคุ้มครองไว้ โดยได้ยื่นหนังสือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ (UN OHCHR) ที่ยืนยันรับรองความสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมในสังคมประชาธิปไตยต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาทำคำสั่งด้วย  

จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น. ศาลแพ่งได้อ่านคำสั่งระบุว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า การชุมนุมของผู้ชุมนุมบริเวณทางเดินเท้า เกาะกลางถนนราชดำเนินนอกหน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นไปตามที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจัดและกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมตามหนังสือเรื่องสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะและแผนที่ ประชาชนที่ใช้ทางเดินเท้าอาจไม่สะดวกบ้าง แต่ไม่ถึงกับทำให้ได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมขัดขวางหรือกระทำการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะและการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น ประกอบกับผู้จัดการชุมนุมดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรณีเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ยกคำร้อง

 

คำสั่งศาลแพ่ง (ท้ายรายงานกระบวนพิจารณา) คดีหมายเลขแดงที่ ชส 2/2561 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
ระหว่าง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง (พ.ต.ต.อรรถวิท เรืองโภควิทย์)  ผู้ร้อง
นายสมยศ โต๊ะหลัง และนางสาวจินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์  ผู้คัดค้าน

 
มุมมองความเห็นและข้อสังเกตของทนายความฝ่ายผู้ชุมนุม
ต่อกรณีการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจและคำสั่งของศาลแพ่งที่สั่งยกคำร้องขอให้มีคำสั่งเลิกการชุมนุมดังกล่าว นายสุรชัย ตรงงาม หนึ่งในคณะทนายความของกลุ่มผู้ชุมนุม มีความเห็นและข้อสังเกตว่า

  1. ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องของ สน.นางเลิ้ง หลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักน่าจะเป็น ผู้ชุมนุมชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ การชุมนุมบนทางเท้าหน้า UN ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินไป ซึ่งน่าเสียดายที่ศาลไม่ได้วินิจฉัยถึง เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน รวมถึงหนังสือของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของ UN ที่ชี้แจงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 เรื่องเสรีภาพการชุมนุม ที่อ้างส่งศาลที่ระบุว่ารัฐควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงเสรีภาพการชุมนุมโดยการกำหนดสถานที่และเวลาให้กับผู้ชุมนุม ก็ไม่ปรากฎในคำวินิจฉัยนี้
  2. คำสั่งศาลแพ่งกรณีนี้วินิจฉัยสั้น เพียงครึ่งหน้ากระดาษ ต่างจากคำสั่งให้เลิกการชุมนุมกรณีเทพา ของศาลจังหวัดสงขลาที่วินิจฉัยยาว กรณีนี้วินิจฉัยสั้นก็มีข้อดี อำนวยความยุติธรรมด้วยความรวดเร็วกระชับเข้าใจง่าย แต่การอำนวยความยุติธรรมเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีแบบนี้ สิ่งที่ขาดไปคือการวางแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับการชุมนุมของตำรวจให้ชัดเจน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปในอนาคต เช่น เหตุที่ตำรวจสั่งให้แก้ไขการชุมนุมแต่หนังสือไม่ระบุสิทธิในการอุทธรณ์ให้ชัดเจน ถ้าชาวบ้านชุมนุมไม่มีที่ปรึกษา ก็จะเสียสิทธิไป หรือที่ตำรวจสั่งไม่รับอุทธรณ์ของกลุ่มกระบี่เทพาแต่ไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจน ว่าไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ชุมนุมโต้แย้งเพราะอะไร ฯลฯ
  3. การใช้อำนาจของตำรวจให้แก้ไขการชุมนุม ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และมีแนวโน้มสั่งการในเชิงการปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมได้ง่าย เช่นคดีนี้ อ้างว่าการชุมนุมรบกวนผู้ใช้ทางเท้า ทั้งๆที่มีทางเดินอื่นที่ใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านผู้ชุมนุม และไม่ได้รบกวนผู้ใช้ถนน ถ้าชุมนุมทางเท้าไม่ได้ สงสัยอยู่ว่าจะเหลือพื้นที่ไหนให้ชุมนุม เป็นหน้าที่ตำรวจต้องจัดการจราจรให้เหมาะสมหรือไม่ การตีความจนเกินจำเป็นแบบนี้ของตำรวจสร้างภาระทั้งศาลและผู้ชุมนุม ต้องมาเสียเวลาในการพิจารณาคดี และไม่เห็นว่าตำรวจซึ่งออกคำสั่งผิดพลาดจะได้ถูกตรวจสอบว่าควรมีความรับผิดทางวินัยหรือแพ่ง อาญา
    ที่ชัดเจนอย่างไร 


        การไม่มีหลักเกณฑ์ตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชัดเจน ทั้งโดยกฎหมาย แนวทางปฎิบัติของตำรวจ และการควบคุมตรวจสอบในชั้นศาล ทำให้แนวปฎิบัติในการใช้อำนาจเรื่องชุมนุมของตำรวจหลายเรื่องยังคลุมเครือและไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เราอาจชนะคดีนี้แต่ถ้าไม่วางหลักการใช้อำนาจของตำรวจให้ชัด การใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนในคราวหน้าก็จะอยู่ในหุบเหวแห่งความเสี่ยงเช่นเดิม ดังนั้น นอกจากความยินดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่-เทพา ที่วางหมุดหมายการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมด้วยสองเท้าและการนั่งอดอาหารโดยสงบแล้ว เราต้องตั้งคำถาม และศึกษาบทเรียนการปิดกั้นการชุมนุมของรัฐผ่านกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ 2558 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย เพื่อสนับสนุนเสรีภาพการชุมนุมให้ปรากฎเป็นจริงในสังคมไทยต่อไป

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
ข่าวสารล่าสุด