“มันบ่แล้วใจ๋เจ้า..ศาล” : ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาคดีแม่เมาะฯ

“มันบ่แล้วใจ๋เจ้า..ศาล” : ข้อสังเกตต่อคำพิพากษาคดีแม่เมาะ กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

มนทนา ดวงประภา
เจ้าหน้าที่กฎหมายประจำ
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

ณ ศาลปกครองเชียงใหม่: เช้าตรู่วันใหม่ของชุมชนแม่เมาะเริ่มต้นด้วยการเดินทางจากอำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปางมาที่ศาลปกครองเชียงใหม่เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่พวกเขารอคอยมากว่า 10 ปี วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10 นาฬิกา ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งพิจารณา หญิงชายวัยกลางคนพร้อมด้วยผู้เฒ่าชราซึ่งใบหน้ามากด้วยริ้วรอยของกาลเวลาและการต่อสู้ ลูกหลานแห่งท้องถิ่นแม่เมาะทั้งในและนอกห้องพิจารณานั่งเงียบคอยฟังว่าผู้พิพากาษาจะกล่าวเช่นใด หากว่าเราได้ยินเสียงภายในใจของทุกคน คงได้ยินถึงคำภาวนาให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ให้ความเสียหายของพวกตนได้รับการเยียวยาบ้าง

บรรยากาศวันฟังคำพิพากษา
บรรยากาศวันฟังคำพิพากษา ณ ห้องโถงศาลปกครองเชียงใหม่


คำพิพากษาที่ข้ามพ้นเรื่องค่าเสียหาย: กว่าชั่วโมงครึ่ง ส่วนสุดท้ายของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ศาลสูงแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าด้วยมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนรายละเอียด โดยมีนัยที่สำคัญคือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อครั้งขอประทานบัตรต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เมื่อปี 2530 และ 2535 ตามลำดับ ในเรื่องดังต่อไปนี้ การติดตั้งม่านนำ้เพื่อลดการกระจายฝุ่นละอองในพื้นที่ การอพยพคนที่ได้รับผลกระทบและมีความประสงค์ออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร การฟื้นฟูขุมเหมืองโดยการถมดินกลับและปลูกป่าทดแทน การนำพืชใน wetland ไปกำจัด ปลูกเสริมและขุดลอกทางน้ำ และการขนส่งเปลือกดินผ่านสายพานที่ติดตั้งระบบสเปรย์น้ำ ทำที่บังให้สูงกว่าจุดปล่อยดิน ทั้งต้องปล่อยดินไม่ให้อยู่ในแนวต้นลมที่ไปถึงหมู่บ้าน และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ที่ศาลชี้ว่าละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินคดีกับกฟผ.ในการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประทานบัตร ให้กำกับดูแลการประกอบการของกฟผ. ในโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะต่อไป และทั้งคู่ต้องปฎิบัติตามคำพิพากษาศาลสูงนี้ภายใน 90 วันนับแต่ศาลมีคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ อ.749-764/2557 ศาลปกครองสูงสุด ระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน กับ รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม กับพวกรวม 7 คน)
 
ก้าวที่ไปถึงของคำพิพากษา: จากเนื้อหาของคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดที่กล่าวถึงมาตรการและกลไกการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ แสดงให้เห็นว่าศาลปกครองได้วางหลักหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ดีในการปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าวไว้ว่า ผู้ประกอบการที่ได้ยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้วพร้อมรายละเอียดถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด หากมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจะทำโดยพลการไม่ได้ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ 2 ส่วนคือ 1) ต้องเสนอถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงวิธีการฟื้นฟูขุมเหมืองหรือการไม่ดำเนินการลดฝุ่นละอองโดยม่านน้ำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา และต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการอีกด้วย และ 2) ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลใช้บังคับ ควบคู่ไปกับใบประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว
 
[pullquote]”ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ 2 ส่วนเพื่อขอแก้ไขมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม คือ 1) เสนอความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบ 2) ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานอนุมัติอนุญาตโครงการนั้น ๆ”[/pullquote]
 
แล้วมันบ่แล้วใจ๋จ๊ะใด: หลังจากการอ่านคำพิพากษาคดีเสร็จสิ้น แรงกระเพื่อมในสังคมไทยต่อกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะก็เกิดขึ้น ตามความเห็นของผู้จัดทำเฟสบุ๊คกฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้โพสเอาไว้ถึงประเด็นที่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีไม่ชนะคือ “การเรียกร้องค่าเสียหาย” จากกฟผ. เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้สิ่งแวดล้อม ชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเสียหายเนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่เสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงความเสียหายนั้นได้ว่าเกิดจากโรงไฟฟ้า (กฎหมายสิ่งแวดล้อม, 2558) หลายสำนักข่าวรายงานว่าหนึ่งในผู้ฟ้องคดี นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ผิดหวังที่การไฟฟ้าไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะด้านสุขภาพ หากเป็นไปได้อยากให้กฟผ. มาคุยหาทางออกร่วมกันต่อปัญหาที่ค้างมายาวนาน (สำนักข่าวอิศราและASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2558) ส่วนนายสมเพียร สายคำได้กล่าวเอาไว้หลังจากฟังคำพิพากษาว่า [pullquote]“ในเมื่อพิพากษาแล้ว เฮาก็เคารพตามศาล แต่ภายในใจแล้วมันเจ็บ” นายสมเพียร สายคำ[/pullquote]“ในเมื่อพิพากษาแล้ว เฮาก็เคารพตามศาล แต่ภายในใจแล้วมันเจ็บ” (ไทยพีบีเอส, 2558) ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วนอกจากที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับค่าเสียหายต่อความเสียหายด้านต่างๆ แล้ว การประกอบกิจการของเหมืองถ่านหินแม่เมาะได้ดำเนินการไปถึงเฟสที่ต่อจากเฟสที่ 5 ตามคำขอประทานบัตรเลขที่ 3-6/2530 และ 30-46/2535 ซึ่งชุมชนใช้เป็นฐานในการฟ้องคดีตามคำพิพากษานี้ไปแล้ว คำถามคือแท้จริงแล้วคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนี้มีประโยชน์เท่าทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทำเหมืองมากน้อยแค่ไหน อย่างไร
 
ความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม: ในงานศึกษาของ Millner (2011) ได้กล่าวถึงลักษณะของความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ Millner แบ่งความเป็นธรรมนี้ออกเป็น 5 ประการ 1) ความจำได้หมายรู้ถึงการขยายออกไปของการถูกคุกคามของชุมชนจากความเสี่ยงในระบบนิเวศนั้น ๆ 2) การมีส่วนร่วมและคิดวิเคราะห์อย่างอิสระโดยประชาชนและตัวแทนของชุมชนในทุกการตัดสินใจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3) การป้องกันไว้ก่อนเพื่อความแน่นอนในการจำกัดความเสี่ยงที่อาจจะเกี่ยวข้องกับชุมชนขนาดใหญ่ 4) การกระจายความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม 5) การแก้ไขปัญหาและการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหาภายในระบบนิเวศนั้น อย่างไรก็ตาม จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด หากพิจารณาถึงลักษณะของความเป็นธรรมที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ก็จะพบถึงความไม่เป็นธรรมที่ยังดำรงอยู่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ก้าวที่ยังไม่ถึงในคำพิพากษา”
1) การพิจารณาถึงดุลพินิจของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในการเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่กรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามวิธีการทำเหมืองและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตรแห่งมาตรา 138 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ว่าเป็นดุลพินิจที่จะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้หากมีเหตุผล ประกอบกับได้พิจารณาว่าการไม่ปฎิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของกฟผ. ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงถึงขนาดต่อส่วนรวม (ทั้งที่ขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปและการศึกษาเรื่องผลกระทบของถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ) และหากจะมีการเพิกถอนประทานบัตรที่พิพาทก็อาจกระทบถึงการบริการสาธารณะด้านไฟฟ้า ซึ่งเป็นการอ้างถึงหลักการบริการสาธารณะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างกว้างขวางมากเกินไป โดยไม่ได้พิจารณาประกอบถึงศักยภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยศาลไม่ได้กล่าวถึงหลักการว่าด้วยการปรับเปลี่ยนการบริการสาธารณะได้ตามสถานการณ์สังคมของการบริการสาธารณะนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงถึงชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อธรรมชาติ หรือแนวโน้มการชะลอการลงทุนด้านพลังงานถ่านหิน อีกทั้งการไม่ได้มองถึงความได้สัดส่วนในการดำรงอยู่ของบริการสาธารณะที่ไม่ควรจะมีต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป อันเป็นการไม่คำนึงถึงหลักการป้องกันไว้ก่อนต่อความเสี่ยงของชุมชนขนาดใหญ่และเป็นกระจายความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ชุมชนชายขอบ
2) การไม่กล่าวถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นอ้างของผู้ฟ้องคดีบางรายเพื่อให้ศาลได้มองถึงความเสียหายต่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญที่ถูกละเมิดจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันที่เป็นเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมนั้นจะไม่ปรากฎชัดแจ้ง แต่การเสียความสามารถในการอยู่อาศัยที่ดี การมีสุขภาพอนามัยที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์ และการเสียสุขภาวะทางด้านจิตใจนั้นก็เป็นผลโดยตรงจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมนั้น คำพิพากษานี้จึงไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหามลพิษนั้น
3) การแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจไต่สวนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่เพียงพอในการตัดสินคดี อันเป็นช่องทางในการอำนวยความยุติธรรมเมื่อคู่ความไม่ได้หาให้ศาล ศาลก็ต้องหาเองด้วยอำนาจที่ตนเองมี ในคำพิพากษาคดีนี้กล่าวไว้ว่า “แม้ศาลปกครองจะแสวงหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีก็ต้องหาข้อเท็จจริงมาในเบื้องต้น” เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่สามารถเสนอพยานหลักฐานได้ถึงการไม่ปฎิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของกฟผ. และการแตกร้าวของบ้านเรือนจึงเป็นการไม่ได้เสนอว่าเสียหายอย่างไร อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมไทยเองที่ไม่มีระบบตรวจสอบปัญหาข้อพิพาทที่เป็นรูปธรรมอันจะนำไปสู่การพิจารณาคดีที่เป็นรูปธรรม คิดอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับคำแนะนำของประธานศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ข้อ 6 โดยระบบไม่ควรยึดโยงที่ตัวคู่ความในคดีมากเกินสมควรในการหาผลการตรวจสอบทางสุขภาพและปัญหามลพิษออกมา ซึ่งศาลปกครองอาจต้องตั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางและมีประสบการณ์มาสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อให้เกิดการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากปัญหาของระบบมลพิษนี้ตามหลักการเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตัวคู่ความเองก็มีหน้าที่ในการเสนอพยานหลักฐานตามสมควร (สุรชัย, 2558)[pullquote]ก้าวที่ยังไม่ถึงของศาลปกครอง  1) หลักการว่าด้วยการปรับเปลี่ยนการบริการสาธารณะได้ตามสถานการณ์สังคมของการ บริการสาธารณะ 2) ความเสียหายต่อสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีตามรัฐธรรมนูญ และ 3) ระบบไต่สวนในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีสิ่งแวดล้อม[/pullquote]
 
 
…ขอแล้วใจ๋ซักกำเตอะ ก้าวฮื้อถึงไปตวยกันเน้อศาลเจ้า…
 
 
 
 
อ้างอิง:
กฎหมายสิ่งแวดล้อม. (10 ก.พ. 2558), ข้อความที่โพสไว้ในเฟสบุ๊ค กฎหมาย สิ่งแวดล้อม, เข้าฐานข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ใน https://www.facebook.com/envilawenfo
ไทยพีบีเอส. (2558), เสียงเต้นของหัวใจคนแม่เมาะหลังคำพิพากษาศาลปกครอง “มันเจ็บ” : นักข่าวพลเมือง”. เข้าฐานข้อมูลเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ใน http://www.citizenthaipbs.net/node/4696
สำนักข่าวอิศรา. (10 ก.พ. 2558), ศาลปค.สูงสุดให้กฟผ.ติดตั้งม่านนำ้ อพยพคนพ้น รัศมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายใน 3 เดือน. เข้าฐานข้อมูลเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ใน http://www.isranews.org/thaireform-other-news/item/36441-egat_364411.html
สุรชัย ตรงงาม, เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม. (2558), การพูดคุยแลกเปลี่ยนส่วนบุคคล, กุมภาพันธ์ 2558
ASTV ผู้จัดการออนไลน์. (10 ก.พ. 2558), ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สั่ง กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟ-อพยพชาวบ้านพ้นรัศมีผลกระทบ. เข้าฐานข้อมูลเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ใน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9580000016352
Millner, F. (2011). Access to environmental justice. Deakin L. Rev., 16, 189.
 
*เพิ่มเติมคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่: https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2015/02/Decision-MaemohEIA-SupremeAdminCourt.pdf

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด