(28 ต.ค. 58) สืบเนื่องจากที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐพยายามผลักดันอย่างเร่งรีบให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง หรือ “โรงไฟฟ้าขยะ” ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ตามแผนแม่บทการจัดการขยะระดับชาติ โดยมีรูปธรรมสำคัญคือ การมีมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่
องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการ “ยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ: ทางออกหรือภาระประชาชนครั้งใหม่” ขึ้นในวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะและสื่อมวลชนถึงข้อห่วงกังวลของภาคประชาชนต่อกรณีดังกล่าว โดยมีวิทยากร 4 ท่านมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น
ภาพรวมสถานการณ์การดาเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะ มูลฝอยและ ของเสียอันตรายของรัฐบาล โดย ดร.สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายเพื่อนตะวันออก
บทเรียนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการ โรงไฟฟ้าขยะ โดย คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH)
วิเคราะห์เปรียบเทียบระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ ประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ โดย คุณสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และมุมมองการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขกฎหมายยกเว้นการจัดทำรายงาน EIA โครงการโรงไฟฟ้าขยะ โดย คุณไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
————————————————-
ในช่วงท้ายตัวแทนชุมชนจากหลายพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะและการออกกฎหมายยกเว้นการจัดทำ EIA สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ ได้ร่วมการอ่านแถลงการณ์แสดงข้อห่วงกังวลและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและรัฐบาลให้มีการทบทวนการประกาศยกเว้น EIA สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย
แถลงการณ์ ต่อกรณีการยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ
เผยแพร่วันที่ 28 ตุลาคม 2558
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558 ที่มีผลเป็นการยกเว้นให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกขนาดกำลังการผลิตไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน EIA จากเดิมที่กำหนดให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักการใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยได้เปลี่ยนให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice/ COP) แทน ที่ยังไม่มีความชัดเจนในหลักการและกลไก รวมไปถึงกฎหมายที่รองรับ
กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่ศึกษาและติดตามนโยบายตามแผนแม่บทการจัดการขยะเห็นว่า การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกระทรวงฯ ครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเป็นการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่อาจบรรลุถึงประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยให้โครงการบางประเภทต้องจัดทำรายงาน EIA เพื่อประเมินความจำเป็นและหรือทางเลือกของโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ และกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อยกเว้นให้โครงการใดไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA จึงต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอสำหรับการลดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น อีกทั้งตามหลักการในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้น กระบวนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะของกระทรวงฯ โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอจึงไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิ่งแวดล้อม
- การแก้ไขให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice หรือ COP) แทนรายงาน EIA ก็ไม่สามารถทดแทนกันได้ ด้วยเหตุที่ COP นั้นเป็นเพียงคู่มือรายการสิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist)ที่เป็นรายการที่โครงการต้องปฏิบัติตามและทำการติดตามตรวจสอบเท่านั้น และCOP ไม่ถูกกำหนดมาให้ผ่านการพิจารณาเชิงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
- การออกกฎระเบียบของฝ่ายปกครอง นอกจากมีกฎหมายให้อำนาจแล้ว ยังต้องเคารพในหลักความได้สัดส่วน กฎระเบียบที่บัญญัติออกมาต้องสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายเพื่อยังประโยชน์ให้สาธารณะชน กรอบแนวคิดหนึ่งของการจัดการขยะตามแผนแม่บทคือการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน ทั้งระบบการหมักปุ๋ย เตาเผา ฝังกลบ การแปรรูปเป็นพลังงานและระบบคัดแยก การยกเลิกการทำรายงาน EIA ของกระทรวงฯ นี้จึงส่งผลต่อจำกัดการออกแบบการจัดการขยะแบบผสมผสานนี้ให้ออกมาในรูปแบบเดียวคือ โรงไฟฟ้าขยะ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง การออกประกาศนี้จึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ถึงการจัดการขยะแบบยั่งยืนได้
กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่ศึกษาและติดตามนโยบายตามแผนแม่บทการจัดการขยะขอเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกเลิกประกาศ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 และกำหนดให้โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเดิม เพื่อรองรับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากกิจการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ
2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทบทวนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านขยะที่ยั่งยืน เช่น การคัดแยกขยะ การกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมสารไดออกซินไอโลหะหนัก และเถ้าเบา เถ้าหนัก เป็นต้น
ลงชื่อ
เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ
ตัวแทนจากจังหวัดระยอง ชลบุรี สระแก้ว สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสมุทรปราการ
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
————————————————-
- แถลงการณ์องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนต่อกรณีการประกาศยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ
- ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2558
- รายงานและมติการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 (วันที่ 10 มิถุนายน 2558)