วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1265, 1335/2553 กรณีเครือบริษัทสหวิริยาฯ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินออกคำสั่งเมื่อปี 2553 ให้เพิกถอนและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3 ก.) 52 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 800 ไร่ในพื้นที่ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีชาวบ้านบางสะพานกว่า 100 คนเดินทางมาร่วมฟังคำตัดสิน
ศาลปกครองพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า น.ส.3 ก. ทั้ง 52 แปลง ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับพื้นที่ป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ซึ่งมีสภาพดั้งเดิมเป็นป่าชายเลนและต้องห้ามตามกฎหมายมิให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ กับทั้งมีการอ้างหลักฐานการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน (ส.ค.1 และใบเหยียบย่ำ) จากที่ดินแปลงอื่นมาขอออก น.ส.3 ก. การที่กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนและให้แก้ไขแผนที่และเนื้อที่ใน น.ส.3 ก. ที่พิพาทดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ในลิงค์ด้านล่าง)
ภายหลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ชาวบ้านต่างดีใจและพอใจในผลคำพิพากษาที่จะทำให้ป่าชายเลนในพื้นที่ป่าคลองแม่รำพึงกว่า 800 ไร่ อันเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ได้พึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์และร่วมกันดูแลรักษามาตั้งแต่อดีต ได้กลับคืนมาเป็นสาธารณะสมบัติของส่วนรวมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คดีนี้ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกรองสูงสุดภายใน 30 วัน ซึ่งทางชุมชนยืนยันจะใช้สิทธิต่อสู้คดีในฐานะผู้ร้องสอดร่วมกับหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีอย่างเต็มที่ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินการทางกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งการนิคมอุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง และโดยเฉพาะกรมป่าไม้ซึ่งทางบริษัทอาจใช้ช่องทางยื่นขออนุญาตเช่าพื้นที่ป่าสงวนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเหล็ก
สำหรับความเป็นมาของคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อเดือนมกราคม 2553 อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 14/2553 – 17/2553 และ 20/2553 รวม 5 คำสั่ง ให้เพิกถอนและแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน (น.ส.3 ก.) จำนวน 52 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ ในพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีชื่อบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการอุตสาหกรรมเหล็กยักษ์ใหญ่ กับบริษัทในเครือเป็นผู้ครอบครอง หลังจากมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และถูกตรวจสอบพบว่า เอกสารสิทธิ์ที่ดิน 52 แปลงดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับพื้นที่เขตป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง และมีการอ้างหลักฐานการครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินของที่ดินแปลงอื่นหรือนำหลักฐานอันเป็นเท็จมาขอออก น.ส.3 ก.
ภายหลังใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้วไม่เป็นผล บริษัทจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและต่อมาในเดือนธันวาคม 2553 ตัวแทนชาวบ้านบางสะพานจำนวน 33 คน ในนาม “เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน” และ “กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง” ซึ่งเป็นประชาชนที่ได้พึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่พิพาท และได้รับผลกระทบจากการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 52 แปลงให้แก่เอกชน ได้ร่วมกันใช้สิทธิยื่นร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการปกป้องสิทธิชุมชนในจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รับรองและคุ้มครองไว้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตให้ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 33 คนสามารถเข้าเป็นคู่ความในฐานะผู้ร้องสอดได้ ซึ่งถือเป็นการวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิทธิชุมชนและสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญด้วย
ผู้ร้องสอดทั้ง 33 คนได้นำเสนอข้อมูลต่อศาลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกเอกสารสิทธ์ที่ดินให้แก่เครือบริษัทสหวิริยาฯ ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าชายเลนและอยู่ในเขตป่าคุ้มครองและป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง อันเป็นสาธารณะสมบัติดั้งเดิมของชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ แต่ภายหลังที่เครือบริษัทสหวิริยาฯ ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้นำที่ดินดังกล่าวไปใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึกรองรับอุตสาหกรรมเหล็ก ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการสร้างถนนขวางคลองแม่รำพึงทำให้ระบบนิเวศของป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไป และได้ปิดกั้นเส้นทางระบายน้ำของอำเภอบางสะพาน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สวนและที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหาย และการสร้างท่าเรือน้ำลึกทำให้กระแสการไหลของน้ำเปลี่ยนไป จำนวนสัตว์น้ำลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ประกอบอาชีพประมง เลี้ยงปลาในกระชัง และการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้าน พื้นที่พิพาท 52 แปลง รวมกว่า 800 ไร่ คือ พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณถัดขึ้นมาจากท่าเทียบเรือน้ำลึกของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสหวิริยาฯ ซึ่งปัจจุบันมีการถมที่ดินและสร้างอาคารทับไปบางส่วนแล้ว รวมถึงมีการถมสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ขวางทางน้ำหลากตามธรรมชาติ เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่อำเภอบางสะพาน และเป็นพื้นที่เดียวกับที่มีข่าวแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ครบวงจรของเครือสหวิริยาฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ด้วย
ข้อมูลทั่วไปของคดี
คดีหมายเลขดำที่ 1265, 1335 /2553 ศาลปกครองกลาง ระหว่าง
ผู้ฟ้องคดี: บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน)* ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (*บริษัทอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ)
ผู้ร้องสอด: นายสมหวัง พิมสอ ที่ 1 กับพวกรวม 33 คน (ชาวบ้านบางสะพาน)
ผู้ถูกฟ้องคดี: เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน ที่ 1, อธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2
และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ที่ 3
วันที่ยื่นฟ้อง: 20 สิงหาคม 2553 และ 1 กันยายน 2553
วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา: 29 สิงหาคม 2560 พิพากษายกฟ้อง
- คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1530-1531/2560 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2560 (ฉบับเต็ม)
- คำสั่งศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ชาวบ้านบางสะพานเข้าเป็นผู้ร้องสอด (คดีหมายเลขดำที่ 1335/2553 ศาลปกครองกลาง)
ข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- ศาลยกฟ้อง “สหวิริยาฯ” ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินกรณีเพิกถอนออก น.ส.3 ก. ทับป่าสงวนฯ (ThaiPBS)
- หมายข่าวสรุปผลคำพิพากษา จัดทำโดย สำนักงานศาลปกครอง