EnLAW จัดวงเสวนาเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกธรณีวิทยาจาก The Clark Fork Coalition
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2557 เวลา 13.00-16.30 ณ ห้องประชุมมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้จัดวงเสวนาพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้หัวข้อ “การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองแร่: ประสบการณ์ด้านนิเวศและเศรษฐกิจชุมชนในสหรัฐอเมริกา” โดยมี ดร.คริสติน บริค (Chistine Brick) ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์ สมาพันธ์ลุ่มน้ำคลาร์คฟอร์ค (the Clark Fork Coalition หรือ CFC ) รัฐมอนทานา (Montana) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อปกป้องและฟื้นฟูลุ่มน้ำ Clark Fork มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ดร.คริสติน บริค เล่าถึงปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีจากเหมืองแร่ลงสู่ลุ่มน้ำ Clark Fork ว่าการปนเปื้อนเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 18 ที่เหมืองแร่ทองแดงได้เข้าประกอบกิจการและปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกากตะกอนแร่ที่ประกอบด้วยสารโลหะหนักอันตรายหลายชนิดลงสู่แม่น้ำ Clark Fork จนทำให้แม่น้ำที่เคยมีปลาอาศัยอยู่อย่างชุกชุมกลายเป็นแหล่งรับน้ำเสีย มีสภาพเน่าเหม็นและเป็นพิษ สิ่งมีชีวิตก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป
รูปที่ 2 ภาพแม่น้ำ Clark Fork เปลี่ยนเป็นสีแดงจากการปนเปื้อนโลหะหนัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว สหรัฐอเมริกามีการประกาศบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนและการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมาย Superfund’ จึงทำให้มีกองทุนและหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนคือ สำนักงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US Environmental Protection Agency – EPA) ในการเข้าดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่กฎหมาย Superfund ให้อำนาจ EPA รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นสามารถฟ้องบริษัทเหมืองผู้ก่อให้เกิดมลพิษให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูคุณภาพลำน้ำจากการปนเปื้อนมลพิษ และค่าใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสภาพธรรมชาติดังเดิมได้ด้วย
แผนงานฟื้นฟูแม่น้ำ Clark Fork และการดำเนินการในพื้นที่จริง
ปัจจุบันระบบนิเวศของลำน้ำได้เริ่มกลับคืนสู่สภาพปรกติที่มีความอุดมสมบูรณ์ แล้ว ตัวชี้วัดหนึ่งคือปลาในแม่น้ำที่คืนกลับมาจำนวนมาก ถึงขนาดที่ต้องมีการออกกฎหมายควบคุมการจับปลาในแม่น้ำ Clark Fork เป็นครั้งแรกในปี 2012
ดร.คริสติน บริค เน้นย้ำถึงความสำคัญของกฎหมายกองทุนสิ่งแวดล้อม หรือ Superfund ว่าไม่เพียงแต่ช่วยให้สามารถบังคับให้อุตสาหกรรมหรือผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบชดใช้ต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ แต่กฎหมาย Superfund ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน โดยกำหนดให้กระบวนการฟื้นฟูในทุกขั้นตอนต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมด้วย ตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินตรวจสอบการปนเปื้อน การออกแบบและเลือกแนวทางการฟื้นฟู จนถึงการลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
บทเรียนจากเหมืองแร่ในไทย การปนเปื้อนที่ยังไร้กลไกแก้ไขปัญหา
ต่อมา คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้เล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทย ที่แม้จะมีบทเรียนกรณีการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมให้ได้ศึกษามากเพียงใด แต่ในปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายและองค์กรที่มีความรับผิดชอบและสามารถเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเช่นสำนักงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายที่อำนาจในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและไล่เบี้ยค่าเสียหายจากผู้ก่อมลพิษอย่างเป็นระบบดังเช่นกฎหมาย Superfund ด้วย
ภาพแม่น้ำหลังการฟื้นฟูและปลาที่กลับคืนสู่ลำน้ำ
ลงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เพื่อศึกษาปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้
ต่อมาวันที่ 18-20 มกราคม 2557 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมและ ดร.คริสติน บริค เดินทางลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง เพื่อเรียนรู้ปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้จากพื้นที่จริง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านการฟื้นฟูคุณภาพลำน้ำร่วมกับชาวบ้านคลิตี้ล่าง
สำรวจโครงสร้างโรงแต่งแร่ บ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ และจุดปรับปรุงประสิทธิภาพฝายตะกอน
กิจกรรมแรกของช่วงเช้าวันที่ 19 มกราคม ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้พาผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สำรวจบริเวณที่ตั้งโรงแต่งแร่ จุดที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์จำกัดเจ้าของโรงแต่งแร่นำตะกอนหางแร่ไปลักลอบทิ้ง และบริเวณจุด KC 4/1 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพฝายหินทิ้งสำหรับดักตะกอนตะกั่วเรียบร้อยแล้ว
ภาพบริเวณโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ จำกัด
ภาพบริเวณบ่อเก็บตะกอนหางแร่ที่บริษัทนำมาลักลอบทิ้ง
ต่อมาในช่วงบ่าย ชาวบ้านได้พาผู้เชี่ยวชาญออกสำรวจพื้นที่จนถึงบริเวณน้ำตกท้ายหมู่บ้านซึ่งแม้จะยังมีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่ในตะกอนท้องน้ำก็มีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่เป็นปริมาณมากเช่นกัน
ในช่วงเย็น ชาวบ้านและเยาวชนคลิตี้ล่างได้จัดวงพูดคุยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่ศาลาวัดคลิตี้ล่างโดยดร.คริสติน บริค ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงานด้านการฟื้นฟูคุณภาพแม่น้ำ Clark Fork ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสำรวจโรงแต่งแร่และบริเวณลำห้วยคลิตี้
ในช่วงที่เป็นการแลกเปลี่ยนและสอบถาม ผู้เชี่ยวชาญมีข้อแนะนำถึงเรื่องแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ว่า ชาวบ้านควรเข้าไปมีส่วนร่วมต่อการวางแผนเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การตรวจสอบครอบคลุมทุกจุดที่ชาวบ้านมีความห่วงกังวล รวมถึงควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทางเลือกในการฟื้นฟูอย่างรอบคอบ เพื่อให้การฟื้นฟูไม่กระทบต่อวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
วงประชุมที่ศาลาวัด
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทั้งการจัดวงเสวนาที่กรุงเทพและการลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมขอขอบคุณชาวบ้านคลิตี้ล่างและ ดร.คริสติน บริค ที่ได้เห็นความสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และขอขอบคุณ คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมที่ได้ประสานงานให้เกิดความร่วมมือระหว่างมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ Clark Fork Coalition และช่วยเป็นล่ามจนจบกิจกรรม
ดร.คริสติน บริค คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ และทีมงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม