ปัญหาเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง (2) :ตัวอย่างคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่น่าสนใจของศาลปกครอง

หลังจากผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของประชาชนในการใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนได้อย่างที่ควรจะเป็น อันส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางศาลอย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 28 ในบทความก่อนแล้วนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลในทางปฏิบัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง ว่าได้สร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวอย่างไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำสั่งของศาลปกครองที่ปฏิเสธคำขอให้กำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี จำนวน 4 คำสั่ง และตัวอย่างคำสั่งของศาลปกครองที่สั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาอีก 3 คำสั่ง ดังนี้
กรณีตัวอย่างคำสั่งปฏิเสธคำขอให้กำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ตัวอย่างที่ 1 คำสั่งศาลปกครองนครศรีธรรมราชคดีหมายเลขดำที่ 39/2553
           ข้อเท็จจริง
           คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิให้แก่เอกชนทับที่ดินป่าชายเลนและเข้าทำลายที่ป่าชายเลนเพื่อทำเป็นรีสอร์ต โดยป่าชายเลนดังกล่าวผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นป่าชายเลนสาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในชุมชนใช้เป็นที่ทำการประมงในหน้ามรสุม ใช้จอดเรือและกันคลื่นลมมรสุม มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไม่เคยมีใครครองครองอ้างสิทธิเหนือที่ดินป่าชายเลนดังกล่าวมาก่อน เอกสารสิทธิที่เอกชนอ้างจึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว และขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาห้ามมิให้เอกชนเข้าดำเนินการสร้างถาวรวัตถุในพื้นที่พิพาท เนื่องจากเห็นว่าหากให้มีการดำเนินการดังกล่าวย่อมสร้างความเสียหายต่อป่าชายเลนอย่างรุนแรงและยากที่จะเยียวยาให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมาเป็นป่าชายเลนดังเดิมได้
           คำสั่งศาลปกครองนครศรีธรรมราช
           เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบหกอาศัยอยู่ในบริเวณที่อ้างว่าเป็นป่าชายเลนที่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านในชุมชนบ้านในไร่ได้อาศัยประโยชน์จากป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นปราการป้องกันภัยธรรมชาติ รวมทั้งเป็นที่จอดเรือในฤดูมรสุม ต่อมานายอำเภอท้ายเหมืองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) หมู่ที่ 7 ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงารวม 23 แปลง ให้แก่เอกชน แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า น.ส. 3 ก. 7 แปลงจาก 23 แปลง มีพื้นที่บางส่วนออกทับที่ป่าชายเลนสาธารณะ โดยอ้างว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและส่วนบริหารจัดการป่าชายเลนที่ 2 รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ของศาลยุติธรรมต่างให้ความเห็นว่าที่ดินดังกล่าวออกทับที่ป่าชายเลน คดีจึงมีมูลให้ศาลพิจารณาต่อไปว่ามีเหตุเพียงพอที่ศาลจะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอมาใช้หรือไม่ เห็นว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดิน น.ส. 3 ก. ของเอกชน ออกทับบางส่วนนั้น ผู้ร้องสอดซึ่งรับโอนที่ดินมาอีกทอดหนึ่ง ได้ดำเนินการถมที่ดินและปลูกต้นมะพร้าวและต้นปาล์มไว้แล้ว  และมีโครงการที่จะทำรีสอร์ต ที่ดินดังกล่าวจึงเปลี่ยนสภาพไปจากป่าชายเลนแล้ว การห้ามมิให้ผู้ร้องสอดเข้าดำเนินการก่อสร้าง เปลี่ยนแปลง หรือทำประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อชะลอหรือระงับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลนไว้เป็นการชั่วคราว จึงไม่มีผลใด ๆ ประกอบกับการมีคำสั่งดังกล่าวอาจจะกระทบสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินของผู้ร้องสอด จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอมาใช้
           ความเห็นของผู้เขียน
           คำสั่งนี้เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นไปตามเงื่อนไขที่จะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว 1 เงื่อนไข คือ  คดีมีมูล  แต่ไม่เข้าเงื่อนไขที่สอง คือ ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาใช้ เนื่องจากศาลเห็นว่าป่าชายเลนได้เปลี่ยนสภาพไปแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอและจะกระทบต่อสิทธิของผู้มีชื่อใน น.ส. 3 ก. อีกด้วย คำสั่งนี้แสดงให้เห็นว่าแม้ศาลจะรับฟังว่ามีข้อเท็จจริงเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เพียงพอศาลจะสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้ ผู้ฟ้องคดียังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ตามเงื่อนไขอีก 2 ข้อด้วย
 
ตัวอย่างที่ 2 คำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2548
          ข้อเท็จจริง
          คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าการตราพระราชกฤษฏีการวมสองฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจก็ไม่เคยออกข้อกำหนด ระเบียบ เพื่อจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน แสดงความคิดเห็นและตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนและเนื้อหาของพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับและพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับซึ่งมีผลเป็นการโอน เปลี่ยนแปลงบรรดาสิทธิ หน้าที่รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันไปเป็นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) โดยมีบุคคลบางกลุ่มเท่านั้นที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ ในขณะเดียวกันปรัชญาในการให้บริการแก่ประชาชนก็จะเปลี่ยนไป เนื่องจากบริษัทจะต้องดำเนินการเพื่อมุ่งหวังกำไรสูงสุด โดยผลกำไรจะตกอยู่กับบุคคลบางกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ
           คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
            เห็นว่ามาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกคอรง พ.ศ. 2543 กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามกฎที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่ศาลเห็นว่ากฎนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้กฎดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ศาลเห็นว่าการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเป็นประเด็นหลักแห่งคดีที่ศาลต้องพิจารณาพิพากษา อีกทั้งมีขั้นตอนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ หากให้ระงับการบังคับใช้พระราชกฤษฏีกาดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเกิดปัญหาแก่การบริหารงานของบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า ยังไม่สมควรที่จะสั่งทุเลาการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดี          
          ความเห็นของผู้เขียน
          กรณีนี้เป็นเรื่องการทุเลาการบังคับตามกฎ และเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขข้อแรกของการสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ คือ เงื่อนไขที่ว่ากฎที่พิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลไปอ้างเอาเงื่อนไขข้อที่ 3   ที่ว่าการทุเลาการบังคับตามกฎเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐมาเป็นเหตุในการยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี    คำสั่งนี้แสดงให้เห็นว่าศาลไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ตามลำดับแต่สามารถหยิบยกเงื่อนไขใดขึ้นมาพิจารณาเพื่อยกคำร้องของผู้ร้องขอก่อนก็ได้ 
           
ตัวอย่างที่ 3 คำสั่งศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 1454/2553
          ข้อเท็จจริง
          คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งมีโครงการจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าและมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเห็นว่าใบอนุญาตและมติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในการดำเนินการออกใบอนุญาตไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น เป็นการอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยของชุมชนซึ่งเป็นทำเลและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นการอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีห้ามมิให้สร้าง ซึ่งขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ข้อ 4   นอกจากนี้ยังเป็นการออกใบอนุญาตที่อยู่บนฐานของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย   อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชุมชนเป็นการละเมิดสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิชุมชน  ซึ่งในการฟ้องคดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา  โดยให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตโรงไฟฟ้าไว้เป็นการชั่วคราว
           คำสั่งศาลปกครองกลาง
           ปัญหาว่าสมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือไม่ มีประเด็นต้องพิจารณาก่อนว่า การออกใบอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 นั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาความเห็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เห็นว่าที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรียังไม่มีผลใช้บังคับ ไม่มีสภาพเป็นกฎ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าสอดคล้องกับความเห็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ประกอบกับพื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรียังไม่เคยมีประกาศใช้ผังเมืองรวมมาก่อนจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับให้เป็นผลเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 ได้พิจารณากรณีที่ประชาชนส่งคำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่าเป็นโครงการรุนแรงตามมาตรา 67 วรรคสองหรือไม่ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แล้ว พิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงพลังงานและได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยและพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นมีมติเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องปฏิบัติเป็นพิเศษ 10 ข้อ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวในเบื้องต้นยังไม่อาจถือได้ว่าการใช้อำนาจออกใบอนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เมื่อข้อเท็จจริงในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี
          ความเห็นของผู้เขียน
         กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง และศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อแรกของการที่จะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง นั่นคือ กรณียังไม่อาจถือได้ว่าใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีโดยไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นอีก กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดในการใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของประชาชน เพราะโดยลักษณะของคดีปกครองแล้ว ย่อมเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีจะสามารถพิสูจน์จนเป็นข้อยุติได้ตั้งแต่ชั้นต้นถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ประเด็นหลักของคดีมักจะเป็นเรื่องการโต้แย้งว่าการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการไม่ถูกต้องตามวิธีการหรือขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย การที่ศาลไม่ได้ตรวจสอบการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองในชั้นนี้ แต่กลับสรุปว่ากรณียังไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 1 คือ ยังไม่มีเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมส่งผลให้การนำวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษามาใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร    
 
ตัวอย่างที่ 4 คำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 495/2553
           ข้อเท็จจริง
         คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและประกาศใช้กฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการประกาศใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีและการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากหน่วยงานรัฐใช้เวลาในการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีกว่า 7 ปี   แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด นอกจากนี้ในระหว่างที่ร่างผังเมืองยังไม่ประกาศใช้ก็ไม่ได้มีการดำเนินการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินขัดกับร่างผังเมืองที่กำลังจะประกาศใช้ ส่งผลให้พื้นที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ซึ่งตามร่างผังเมืองถูกกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม มีข้อกำหนดห้ามสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในพื้นที่ ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นพื้นที่โรงงานจำนวนมาก ทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่อำเภอหนองแซงที่ควรจะได้รับการคุ้มครองจากผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ได้รับการคุ้มครอง ประชาชนจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล และขอให้ศาลกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยสั่งห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต โครงการหรือกิจการต่างๆ อนุมัติอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่จะขัดต่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีในเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมในพื้นที่อำเภอหนองแซง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกับการอนุมัติอนุญาตกิจการโรงงานและกิจการพลังงานไว้เป็นการชั่วคราว
            คำสั่งศาลปกครองกลาง
            พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอบรรเทาทุกข์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องอันเป็นการกระทำที่ถูกฟ้องร้องและเป็นคำขออย่างคลุมเครือแบบกว้าง ๆ อีกทั้งเหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าหากปล่อยให้มีการอนุมัติ อนุญาตโครงการหรือกิจการต่างๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินขัดต่อร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีอาจส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อวิถีชีวิตเกษตรกรรมของผู้ฟ้องคดีและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างรุนแรงนั้นก็เป็นการคาดการณ์ที่ไกลเกินกว่าเหตุเป็นอย่างมาก ในชั้นนี้ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีตั้งใจจะกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายต่อไปอย่างไร ประกอบกับการประกาศใช้กฎกระทรวงที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนภายในของฝ่ายปกครอง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ และท้ายที่สุดหากผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างไรก็สามารถเยียวยาแก้ไขได้ ขณะเดียวกันหากศาลมีคำสั่งตามคำขอย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐในด้านการลงทุนและการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจโดยรวม กรณีจึงถือว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอ จึงมีคำสั่งยกคำขอดังกล่าว
           ความเห็นของผู้เขียน
           กรณีนี้เป็นเรื่องการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และคำสั่งนี้เป็นกรณีที่ศาลยังไม่ได้พิจารณาว่าคดีมีมูลหรือไม่ แต่ศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 2 และข้อ 3  คือ ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาใช้ และหากนำมาใช้จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ  จึงยกคำร้องดังกล่าว  กรณีนี้แสดงให้เห็นเช่นเดียวกับตัวอย่างที่ 2 ว่าศาลจะหยิบยกเงื่อนไขข้อใดขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ได้
            จากตัวอย่างคำสั่งของศาลทั้งสี่คำสั่งที่ยกมา จะเห็นได้ว่าในการที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นกรณีขอให้ทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่ง ในตัวอย่างที่ 2 และตัวอย่างที่ 3 หรือกรณีที่ขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในตัวอย่างที่ 1 และตัวอย่างที่ 4   ศาลสามารถเลือกหยิบยกเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องพิจารณาหรือวินิจฉัยในเงื่อนไขข้ออื่นๆว่าจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่    คำสั่งทั้งสี่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ศาลจะยกคำร้องขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีมากกว่าที่จะสั่งให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ
 
 กรณีตัวอย่างคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
            เพื่อให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองไทย ผู้เขียนได้ค้นคว้าคำสั่งของศาลปกครองที่สั่งกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ที่น่าสนใจมาแสดงในบทความนี้จำนวน 3 คำสั่ง   ดังนี้
ตัวอย่างที่ 1 คำสั่งศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2221/2550
          ข้อเท็จจริง
          คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานขุดดินดูดทราย ที่ดำเนินการขุดดินดูดทรายในพื้นที่ใกล้กับที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอย่างมาก เนื่องจากการขุดดินดูดทรายส่งผลให้ดินมีการทรุดตัว ที่นาและบ่อปลาของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย รวมถึงบ้านเรือนที่ทรุดจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ผู้ฟ้องคดีได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานขุดดินดูดทรายและให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขฟื้นฟูสภาพบ่อให้มั่นคงปลอดภัยกว่าที่เป็นอยู่ โดยเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการออกใบอนุญาตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม อยู่ใกล้ชุมชนและเมื่อมีการประกอบกิจการจริงก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนหลายประการ นอกจากนี้ยังไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตหลายประการ เช่น มีการขุดดินดูดทรายในพื้นที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่เว้นระยะห่างกับพื้นที่ข้างเคียงตามที่กฎหมายกำหนด มีการปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสาธารณะ เป็นต้น ในการฟ้องคดีก็ได้มีคำขอให้ศาลกำหนดวิธีการหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาด้วย
            คำสั่งศาลปกครองกลาง
          เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงจากการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลโดยการไต่สวนคู่กรณีและการตรวจสอบบ่อดินพิพาทปรากฏว่า คู่กรณีรับกันว่า เดิมผู้ร้องสอดได้ดำเนินการขุดดินและดูดทรายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต แต่ต่อมามีที่ดินข้างเคียงทรุดพังทลาย ผู้ร้องสอดจึงได้รับโอนที่ดินดังกล่าวและทำการขุดดินในที่ดินดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4และ 5 (นายก อบต. ลาดหลุมแก้วและคลองพระอุดม) รับว่าเคยออกใบรับแจ้งการขุดดินให้แก่ผู้ร้องสอดแต่ต่อมาพบว่าผู้ร้องสอดขุดดินลึกกว่าที่แจ้งไว้และขัดกับข้อบัญญัติท้องถิ่นและก่อให้เกิดความเสียหาย จึงสั่งให้ผู้ร้องสอดระงับการดำเนินการและร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร้องสอด และเมื่อระยะเวลาตามใบรับแจ้งสิ้นสุดลงก็มิได้ออกใบรับแจ้งให้อีก แต่กลับพบว่าผู้ร้องสอดยังดำเนินการขุดดินและดูดทรายโดยไม่มีใบรับแจ้ง จึงมีคำสั่งให้หยุดกระทำการและร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร้องสอดกับพวกอีกหลายครั้ง  สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 นั้น อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีเคยออกคำสั่งครั้งแรกให้ผู้ร้องสอดหยุดการประกอบกิจการและให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่มีการขยายระยะเวลาแก้ไขหลายครั้ง ต่อมาเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้เข้าตรวจสอบ พบว่าผู้ร้องสอดยังไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นครั้งที่สอง โดยให้ทำการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระยะเวลาดังกล่าวจะสิ้นสุดผู้ร้องสอดก็ขอขยายระยะเวลาอีก แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ร้องสอดไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขในใบอนุญาตได้ จึงเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจสั่งปิดโรงงานของผู้ร้องสอด ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลในการตรวจสอบบ่อดินว่าขอบบ่อด้านที่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีบางรายและด้านที่ติดกับถนนสาธารณะว่าไม่ได้เว้นขอบบ่อและดำเนินการให้มีความลาดชันตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต สภาพทางกายภาพของพื้นที่น่าเชื่อว่าผู้ร้องสอดเพิ่งเริ่มดำเนินการปรับปรุงได้ไม่นานและดำเนินการได้น้อยมาก ประกอบกับข้อเท็จจริงจากหนังสือกรมทรัพยากรธรณีมีสาระสำคัญว่าบริเวณด้านเหนือของขอบบ่อมีการเปิดหน้าดินประชิดเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินและในบางจุดมีการพังทลายของขอบบ่อลึกเข้าไปในที่ดินพื้นที่ข้างเคียง กรณีจึงมีเหตุเพียงพอที่รับฟังได้ว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีมูลและรับฟังได้ว่าแม้มีการออกคำสั่งให้ผู้ร้องสอดหยุดการประกอบกิจการและมีการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ร้องสอดกับพวก ตลอดจนมีการเปรียบเทียบปรับผู้ร้องสอดกับพวกหลายครั้งแล้วก็ตาม ผู้ร้องสอดก็ยังคงฝ่าฝืนทำการขุดดินและดูดทรายในบ่อดินพิพาทอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีนี้  เนื่องจากผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปจากการขุดดินและดูดทรายของผู้ร้องสอดที่เป็นผลมาจากคำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการ คำสั่งอนุญาตให้ประกอบกิจการต่อไป คำสั่งอนุญาตให้ขยายโรงงานและการไม่กำกับดูแลให้การประกอบกิจการขุดดินดูดทรายเป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต
            ความเห็นของผู้เขียน
            กรณีนี้เป็นเรื่องการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์นั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลเป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมายครบถ้วนทั้ง 3 ข้อ ดังนี้  
             เงื่อนไขข้อที่ 1 คือ คดีมีมูลหรือไม่  ศาลได้อ้างพยานหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากทั้งจากคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี  รายงานผู้เชี่ยวชาญและการที่ศาลได้เดินเผชิญสืบ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องสอดดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างค่อนข้างชัดแจ้ง  คดีนี้จึงเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนตั้งแต่ชั้นทำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแล้วว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอดน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงสรุปได้ว่าเป็นคดีมีมูล                       
          เงื่อนไขข้อที่ 2 เรื่องมีเหตุผลที่จะต้องนำมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาใช้หรือไม่นั้น เนื่องจากคดีนี้มีพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีหลายอย่างที่แสดงให้ศาลเห็นว่าผู้ร้องสอดยังคงดำเนินการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและก่อความเดือดร้อนแก่ผู้ฟ้องคดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ศาลจึงสามารถวินิจฉัยได้โดยง่ายว่ามีเหตุจำเป็นต้องนำมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาใช้       
          เงื่อนไขข้อที่ 3   เรื่องปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานของรัฐ นั้น ศาลไม่ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็สามารถอนุมานได้จากการให้เหตุผลในคำสั่งว่ากรณีนี้ศาลเห็นว่าการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ เนื่องจากขณะที่ทำคำสั่งฉบับนี้ ผู้ร้องสอดไม่มีสิทธิประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมาย เพราะอยู่ภายใต้บังคับคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำลังพิจารณาสั่งปิดโรงงานผู้ร้องสอด 
          เหตุที่ศาลสามารถออกคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวได้ในคดีนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเนื่องมาจากการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดแจ้งของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอด และเป็นกรณีที่ทุกฝ่าย(ยกเว้นผู้ร้องสอด) ยอมรับตรงกันตั้งแต่ชั้นการพิจารณาออกคำสั่งนี้แล้วว่า ไม่ควรให้มีการประกอบกิจการโรงงานพิพาทต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงยุติเช่นนี้ศาลก็สามารถออกคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวได้โดยง่าย แต่ถึงกระนั้นกระบวนการก่อนออกคำสั่งก็ใช้เวลานานถึง 1 ปี   ซึ่งระหว่างนั้นความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีก็ยังคงดำเนินต่อไป 
 
ตัวอย่างที่ 2 คำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่คดีหมายเลขดำที่ 146/2554
            ข้อเท็จจริง
            คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนกว่า 100 คน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เห็นว่าชุมชนของตนจะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สุขภาพ ตลอดจนวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมของชุมชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกอนุญาตให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่เกษตรกรรม ใกล้แหล่งชุมชน ใกล้แหล่งโบราณสถาน ใกล้ลำเหมืองสาธารณะของชุมชน โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงโรงงานที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 ออกให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            คำสั่งศาลปกครองเชียงใหม่
            เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 โดยที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมิได้ให้ความเห็นชอบ ประกอบกับการออกใบอนุญาตดังกล่าวยังขัดกับมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ที่เห็นว่าไม่สมควรให้มีการก่อสร้างโรงงาน ทั้งข้อเท็จจริงรับกันว่าที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2   ได้มีการถมดินพาดผ่านลำเหมืองสาธารณะโดยไม่ได้ขออนุญาตองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ประกอบกับต่อมาสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือมีมติเอกฉันท์ว่าไม่เห็นชอบให้มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถือว่าหนังสือเห็นชอบฉบับวันที่ 20 มกราคม 2552 เป็นหนังสือที่ได้รับความเห็นชอบจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จึงน่าจะไม่ชอบด้วยมาตรา 66, 67 ,281 และ 283 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการที่จะดำรงชีพอยู่ได้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายและในการบริหารจัดการชุมชนดังกล่าวคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีมีมูลว่าการออกใบอนุญาตโรงงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
            ปัญหาต่อไปคือการให้ใบอนุญาตดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าปัจจุบันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เข้าดำเนินการในพื้นที่โดยเริ่มทำการถมดิน ขุดบ่อ และสร้างบ้านพักคนงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าหลังจากถมดินจึงทราบว่ามีลำเหมืองสาธารณะผ่ากลางพื้นที่จริง ซึ่งหากให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ประชาชนย่อมไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในลำเหมืองสาธารณะดังกล่าวได้ นอกจากนั้นบริเวณที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานเป็นพื้นที่ต่ำ ซึ่งเดิมเป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำของพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เข้าดำเนินการปรับพื้นที่ได้มีการถมดินสูงและนับตั้งแต่มีการถมดินได้ส่งผลทำให้น้ำท่วมในพื้นที่นา ประกอบกับเมื่อพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีการก่อสร้างเพียงการปรับสภาพพื้นที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงาน เห็นว่าหากต่อมาศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 ออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะได้รับความเสียหายน้อยกว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับความเดือดร้อนที่เกิดจากการก่อสร้างโรงงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไปแล้ว จึงเห็นว่าการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าที่พิพาทในคดีนี้มีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งร้อยคนและประชาชนจนยากแก่การเยียวยาในภายหลัง 
            ปัญหาต่อไปคือ การมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราว จะก่อให้เกิดอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะหรือไม่ เห็นว่าผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าหากศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1   กรณีจึงเห็นได้ว่าการมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
          ความเห็นผู้เขียน
          จากคำสั่งที่ยกมาในคดีนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าศาลได้วินิจฉัยทุกประเด็นตามเงื่อนไขในการสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ดังนี้                                                                      
          เงื่อนข้อที่ 1 คือ เรื่องความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองนั้น ศาลได้ยกเหตุที่ทำให้ใบอนุญาตน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายถึงสามเหตุ ได้แก่ การก่อสร้างทับลำเหมืองสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต การออกใบอนุญาตขัดกับมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง และการอ้างอิงมติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาและต่อมาสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีมติไม่เห็นชอบให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว โดยการอ้างเหตุทั้งสามประการนั้นต่างมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุนตั้งแต่ชั้นไต่สวนคำร้อง
           เงื่อนไขข้อที่ 2 คือ เรื่องความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังนั้น เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานมีการใช้ที่ลำเหมืองสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งคู่ความยอมรับร่วมกัน และปัจจุบันขณะเริ่มดำเนินการก่อสร้างก็ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมที่นาโดยรอบแล้ว   เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดี 100 คน และประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับเริ่มได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างแล้ว   ศาลก็ให้น้ำหนักกับผู้ฟ้องคดีและประชาชนโดยรอบโรงไฟฟ้ามากกว่า
           เงื่อนไขข้อที่ 3 คือ เรื่องปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐนั้น เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานผู้ถูกฟ้องคดี ยืนยันว่าการทุเลาการบังคับตามใบอนุญาตไม่กระทบต่อการบริหารงานของรัฐ ทำให้ศาลสามารถรับฟังและวินิจฉัยไปตามนั้นได้โดยง่าย แต่หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็มีคำถามว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะยืนยันเช่นนี้หรือไม่หรือจะคัดค้านการคุ้มครองชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลว่าจะกระทบต่อการบริหารงานของรัฐและอาจทำให้ไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ ซึ่งหากเป็นหลังศาลจะตรวจสอบความเห็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอย่างไร
 
 ตัวอย่างที่ 3 คำสั่งศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 908/2552
          ข้อเท็จจริง
          คดีนี้เป็นกรณีที่ประชาชนที่อยู่อาศัยรอบพื้นที่จังหวัดระยองและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมอุตสาหกรรมและคมนาคมในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยอ้างว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกคำสั่งต่างๆ โดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ตลอดจนละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กล่าวคือภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ยังคงรับเรื่อง พิจารณาหรืออนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพในพื้นที่จังหวัดระยองเหมือนเดิม จำนวนกว่า 76 โครงการโดยไม่สนใจว่าจะต้องนำบทบัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวไปปฏิบัติทันที จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายโครงการรุนแรงที่ผ่านความเห็นชอบหรืออนุญาตนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ หรือการอื่นใดตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 โดยในการยื่นฟ้องดังกล่าวได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใด ๆ เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลสั่งให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างไว้เป็นหารชั่วคราวก่อนการพิพากษา
            คำสั่งศาลปกครองกลาง
          กรณีความเดือดร้อนเสียหายของผู้ขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 3-43 และประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินชีวิตอยู่อย่างปกติสุขจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมข้างเคียง ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามเอกสารในสำนวนคดีของศาลปกครองระยองคดีหมายเลขแดงที่ 32/2552 ว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เคยพิจารณาความเป็นไปได้ในการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดแต่ไม่ได้ประกาศ   จนต่อมามีการฟ้องคดีและศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 32/2552 ให้ดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ  โดยระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่อไป แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงตรงกันว่า ในเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนมาบตาพุดมีอยู่จริงและสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงเห็นว่าคำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามที่ขอมาใช้ได้และผู้ขอจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปหากมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มเติม
            ส่วนความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพิเคราะห์แล้วเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 เป็นสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่สำคัญเพื่อรับรองและคุ้มครองให้ชนชาวไทยสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน หลังจากรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2550 มีการประกาศใช้ย่อมทำให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับทันทีและศาลปกครองต้องผูกพันในการใช้บังคับและการตีความกฎหมาย โดยมาตรา 67 วรรคสองได้บัญญัติ ห้ามดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ เว้นแต่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงข้อยกเว้นจึงต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัด  แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดชี้แจงว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับได้มีการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายฟ้อง โดยยังไม่ได้มีการกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง จึงเห็นว่าเป็นกรณีมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ                      
            ในส่วนปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหากมีการกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นนั้น สามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน 
            ดังนั้นจึงมีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารหมายเลข 7  ท้ายคำฟ้อง  ไว้เป็นการชั่วคราว   จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         ความเห็นผู้เขียน
        จากคำสั่งที่ยกมาผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีนี้ ศาลได้วินิจฉัยครบทั้งสามเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดเฉกเช่นคำสั่งของสองตัวอย่างก่อนหน้านี้                                                                                                  
            เงื่อนไขข้อ 1 คือ เรื่องคดีมีมูลหรือไม่ ศาลได้อธิบายให้เห็นถึงหลักการเบื้องหลังรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และหลักผลบังคับผูกพันทันทีของรัฐธรรมนูญ   ก่อนที่จะมาปรับข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานและการให้ถ้อยคำของผู้ถูกฟ้องคดีเองว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้หน่วยงานรัฐไม่เคยมีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง   เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายอนุวัตรการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ   และยังไม่มีการกำหนดชนิดและประเภทของโครงการรุนแรง    ทำให้ศาลสามารถวินิจฉัยได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงมีมูล
            เงื่อนไขข้อ 2 เรื่องความจำเป็นที่ต้องนำมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวมาใช้นั้น ศาลได้อธิบายถึงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดที่มีความร้ายแรงในหลายด้านและยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงถึงพยานหลักฐานที่เป็นที่ยุติแล้วทั้งจากสำนวนของศาลปกครองระยองในคดีหมายเลขแดงที่ 32/2552    และประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่มาบตาพุดมียังคงมีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและหากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปย่อมมีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีต่อไป จึงมีเหตุมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามที่ขอมาใช้ได้       
            เงื่อนไขข้อ 3 เรื่องปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐนั้น ศาลให้น้ำหนักกับการอธิบายเงื่อนไขข้อนี้น้อยโดยไม่มีหลักฐานใดๆ อ้างอิง ทำให้น้ำหนักในการให้เหตุผลในข้อนี้มีน้อย อย่างไรก็ตามการให้เหตุผลเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาเพื่อออกคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีนี้ ศาลให้ความสำคัญกับเงื่อนไขข้อ 1 และข้อ 2 ยิ่งกว่าเงื่อนไขข้อสาม ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับวินิจฉัยในคดีนี้ เนื่องจากในคดีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่กระทบต่อคนในวงกว้างนั้นสิ่งที่ศาลควรให้ความสำคัญยิ่งกว่า คือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิใช่ปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ    คำถามจึงมีว่าแนวทางที่ศาลปกครองใช้ในคดีนี้จะถูกใช้เป็นการทั่วไปหรือเป็นเพียงข้อยกเว้นเฉพาะคดีนี้เท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก
 บทสรุป
            จากคำสั่งศาลปกครองที่ยกมา ทั้งกรณีที่ศาลปฏิเสธคำร้องขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาและกรณีที่ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา  คงพอทำให้ผู้อ่านเห็นแนวโน้มที่ศาลจะยกคำร้องของผู้ร้องมากกว่าที่จะสั่งให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นผลมาจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีปัญหา จึงควรอย่างยิ่งที่จะมีการพิจารณาทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง ให้เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่
            อย่างไรก็ตามเมื่อกฎหมายยังไม่ถูกแก้ไขและยังต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ต่อไป การเรียนรู้แนวทางในการสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองก็ให้บทเรียนที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินคดี กล่าวคือ บทเรียนดังกล่าวทำให้เราต้องตระหนักว่าในการยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ผู้ร้องควรแสวงหาและเตรียมพยานหลักฐานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเชื่อให้ได้อย่างน้อย 2 เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขที่ 1 คำสั่งหรือกฎที่พิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือคดีมีมูล และเงื่อนไขที่ 2 ความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นยากแก่การเยียวยาในภายหลัง  เนื่องจากเงื่อนไขทั้งสองข้อนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้ร้องสามารถแสวงหาพยานหลักฐานมายืนยันข้ออ้างได้ (แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม)   ส่วนเงื่อนไขข้อที่ 3 เรื่องอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐนั้น   เป็นเรื่องยากที่ผู้ร้องจะสามารถพิสูจน์ได้ แต่ตามจากตัวอย่างคำสั่งศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 ที่ยกมา ก็พบว่าศาลให้น้ำหนักกับเงื่อนไขข้อที่ 1 และข้อที่ 2  มากกว่าเงื่อนไขข้อที่ 3  อย่างไรก็ตามเงื่อนไขข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของผู้พิพากษาค่อนข้างมาก และคงเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปว่าคำสั่งของศาลมีเหตุผลและนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้จริงหรือไม่ 

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

ทนายความประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 

ดาวโหลด บทความเรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับ วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครอง ฉบับเต็ม

บทความที่เกี่ยวข้อง