ประมวลสถานการณ์การปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ประจำปี 2556
โดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 743/2555 [1]เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 โดยศาลได้กำหนดคำบังคับให้กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ทราบ โดยวิธีการเปิดเผย โดยต้องทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ
ในปี 2556 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ 4 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 วันที่ 11-17 มีนาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 3-8 มิถุนายน ครั้งที่ 3 วันที่ 9-14 กันยายน และครั้งที่ 4 วันที่ 25-30 พฤศจิกายน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) จึงนำข้อมูลผลการตรวจทั้ง 4 ครั้งของกรมควบคุมมลพิษซึ่งได้เผยแพร่ทางเว็ปไซด์ [3] ประมวลเป็นสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ประจำปี 2556 โดยจัดข้อมูลออกเป็น 3 กลุ่มตามมาตรฐานการปนเปื้อนที่แตกต่างกันคือ 1. การปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำ 2. การปนเปื้อนสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำ และ 3. การปนเปื้อนสารตะกั่วในสัตว์น้ำและพืช
การปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำลำห้วยคลิตี้
กราฟแสดงแนวโน้มปริมาณตะกั่วทั้งหมดในห้วยคลิตี้ ประจำปี 2556 โดย EnLAWตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนตะกั่วในแหล่งน้ำผิวดินไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร
จากผลการตรวจน้ำในลำห้วยคลิตี้ ของกรมควบคุมมลพิษ ทุกระยะ 3 เดือนตลอดช่วงปี 2556 ส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ยกเว้นการตรวจในครั้งที่ 3 คือช่วงวันที่ 9-14 กันยายน พบว่ามีจำนวน 4 จุดที่มีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือจุด KC3, KC4, KC6, และ KC8 โดยมีค่า 0.731, 0.128, 0.109 และ 0.089 ตามลำดับ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีความเห็นว่า “การที่พบค่าตะกั่วสูงคาดว่ามีสาเหตุมาจากช่วงที่เก็บตัวอย่างเป็นฤดูฝน น้ำในลำห้วยมีปริมาณมาก และมีสีน้ำตาลขุ่น”
การปนเปื้อนสารตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้
กราฟแสดงแนวโน้มปริมาณ ตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำในลำห้วยคลิตี้ ประจำปี 2556 โดย EnLAW
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนด ค่ามาตรฐานการปนเปื้อนในตะกอนดิน แต่ตามรายงานการศึกษาการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน ที่ดำเนินการศึกษาโดยกรมควบคุมมลพิษ [4]ได้เสนอค่ามาตรฐานการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดิน ไว้ที่ 35.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ซึ่งจากผลการตรวจตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 4 ครั้งในปี 2556 ซึ่งมีการตรวจครอบคลุมพื้นที่เหนือโรงแต่งแร่ (จุด DK และจุด KC1) ใกล้โรงแต่งแร่ และใต้โรงแต่งแร่อีกรวม 8 จุด โดยผลการตรวจ บริเวณก่อนถึงโรงแต่งแร่ คือจุด DK และ KC1 มีการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำต่ำสุดที่จุด DK คือ 15.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสูงสุดที่จุด KC1 คือ 307 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมีค่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับจุดตรวจใกล้โรงแต่งแร่และหลังโรงแต่งแร่ลงมาอีก 8 จุด โดยมีค่าต่ำสุดที่จุด KC2 คือ 3,413 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และค่าสูงสุดที่จุด KC3 คือ 213,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
การปนเปื้อนสารตะกั่วในสัตว์น้ำและพืชบริเวณลำห้วยคลิตี้
ประมวลผลตรวจวัดสารตะกั่วในสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้และพืชผักบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง-บน ประจำปี 2556โดย EnLAW
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหาร(น้ำหนักเปียก) ไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อ กิโลกรัม ซึ่งจากผลตรวจสัตว์น้ำ และพืชผักสวนครัวของกรมควบคุมมลพิษประมวลได้ดังนี้
สัตว์น้ำจากตัวอย่างซึ่งเก็บครอบคลุมพื้นที่บริเวณเหนือโรงแต่งแร่ ใกล้โรงแต่งแร่ และใต้โรงแต่งแร่ลงมา ผลการวิเคราะห์หาปริมาณตะกั่วในสัตว์น้ำ พบว่า สัตว์หน้าดิน อาทิ กุ้ง ปู และหอย ซึ่งอยู่อาศัยบริเวณตะกอนดินท้องน้ำ ส่วนใหญ่มีตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารฯ โดยมีค่าการปนเปื้อนมากที่สุดในหอย คือ 743 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่สามารถนำมารับประทานได้
ส่วนปลา ผลการตรวจส่วนใหญ่มีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอาหารฯ แต่ก็มีตัวอย่างในเดือนกันยายน 2 จุด และเดือนพฤศจิกายน 7 จุด ที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารฯ โดยมีค่าการปนเปื้อนสูงสุดอยู่ที่จุด KC 4 ในเดือนพฤศจิกายน คือ 0.23-116.61 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ผลการตรวจพืชผัก ทั้งพืชผักสวนครัวและพืชไร่ ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษได้ทำการตรวจจำนวน 4 ครั้ง โดยผลการตรวจในช่วง 2 ครั้งแรกคือ เดือนมีนาคมและมิถุนายน มีการแจ้งต่อชาวบ้านระบุว่าเป็นผลตรวจของพืชผักสวนครัว และพืชไร่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่ามีชนิดใดบ้าง ส่วนการตรวจในช่วง 2 ครั้งหลัง คือเดือนกันยายนและพฤศจิกายน มีการตรวจและแจ้งผลการตรวจโดยจำแนกพืชผักออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ใกล้ลำห้วยคลิตี้น้อยกว่า 10 เมตร และกลุ่มที่ไกลลำห้วยคลิตี้มากกว่า 10 เมตร และแจ้งชนิดของพืชผักด้วยซึ่งประมวลข้อมูลได้ดังนี้
การเก็บตัวอย่างได้เก็บทั้งพืชผักสวนครัวและพืชไร่ทั้งหมด 8 จุด โดยในแต่ละจุดเก็บที่ 2 ระยะ คือ ระยะที่อยู่ใกล้ลำห้วยไม่เกิน 10 เมตร และห่างลำห้วยมากกว่า 10 เมตร จากผลการตรวจทั้งหมดพบว่ามีพืชผักสวนครัวจำนวน 5 ชนิดที่ตรวจพบว่ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารฯ กำหนด คือ กะเพรา พริก ใบกระเจี๊ยบ ตะไคร้ ผักกูด โดยชนิดที่มีการปนเปื้อนสูงสุดคือ กะเพรา โดยมีค่าปนเปื้อน 9.38 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีพืชไร่ชนิดที่ตรวจพบว่ามีค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารฯ กำหนด เพียง 1 ชนิด คือ มันสำปะหลัง โดยมีค่าปนเปื้อน 22 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
อ้างอิง
[1] อ่านคำพิพากษาศาลปกครองฉบับเต็มได้ที่นี่
[2] อ่านรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมห้วยคลิตี้ ปี 2555 เพิ่มเติมได้ที่นี่
[3] ติดตามผลการตรวจของกรมควบคุมมลพิษได้ที่นี่
[4] อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่