การอบรมเชิงปฏิบัติการ
“การเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้” *
Capacity Building and Development of Human Rights Lawyers Networks in the Southern Region
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) รายงาน
การรวมตัวของนักกฎหมายทนายความภาค 8 ภาค 9 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ระนอง ตรัง พัทลุง ชุมพร ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2559 ณ จังหวัดสงขลา …เตรียมลุยทำคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้
- การดำเนินคดีและการพิจารณาคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
โดย นายอนุชา ฮุนสวัสดิกุล
ตุลาการศาลปกครองนครศรีธรรมราชช่วยทางานชั่วคราวในตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองพิษณุโลก
ลักษณะพิเศษของคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม
– คำแนะนำประธานศาลปกครองสูงสุด ในการดำเนินคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแบ่งแยกคดีปกครองทั่วไปกับคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม โดยในคำแนะนำฯ ได้กำหนดสาระสำคัญที่นำไปใช้กับคดีสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เช่น การผ่อนคลายความเป็นผู้ฟ้องคดีให้กว้างขึ้น การกำหนดค่าเสียหายได้มากกว่าที่ฟ้องคดีมาในคำขอโดยศาลจะแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปแก้ไขคำฟ้องก่อน
– ลักษณะคดีด้านสิ่งแวดล้อมจะฟ้องคดีในศาลได้ทั้ง ศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลยุติธรรม ขึ้นอยู่กับเหตุผลของคดี เช่น เรือของเอกชนขนน้ำตาลล่มในแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำเน่าเสียส่งผลเลี้ยงปลาในกระชังไม่ได้ การคิดค่าเสียหายแยกได้สองทาง คือ เรียกจากบริษัทเอกชนที่ทำให้เรือล่ม ในขณะเดียวกันก็เรียกจากกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลการสัญจรทางน้ำในฐานะที่ไม่ได้ดูแลจัดการการสัญจรนั้นให้ดี แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐและเอกชนในเรื่องเดียวกันนี้ คิดค่าเสียหายได้ต้องไม่เกินค่าเสียหายที่แท้จริง โดยแต่ละศาลต้องกำหนดค่าเสียหายในส่วนของตน จึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาลอยู่
– คำถามที่ว่ารัฐทำถูกแต่เราเสียหายสามารถฟ้องคดีได้หรือไม่ หรือลักษณะความผิดไม่ใช่ละเมิดทางปกครองหรือสัญญาทางปกครองด้วย คำตอบคือไม่สามารถฟ้องคดีได้ เพราะศาลเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายไม่ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามมีความรับผิดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความรับผิดอย่างอื่น อันส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนจริง เช่น การทำสาธารณะประโยชน์นั้นเรียกร้องภาระให้ประชาชนต้องรับมากจนเกินไป ตัวอย่างในที่นี้คือ การสร้างด่านเก็บค่าทางด่วนของรถสิบล้อขนาดใหญ่ จนทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีความกว้างจาก 1 กิโลเมตร เหลือเพียงสิบ 10 เมตร หรือการไม่ตัดต้นไม้สูงอย่างต่อเนื่องข้างถนนส่งผลให้ทับคนตาย เจ้าหน้าที่ทางหลวงอาจพิจารณาเป็นความรับผิดอย่างอื่นได้ แล้วให้หน่วยงานไปตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่เองว่าประมาทหรือไม่
ศาลปกครองตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นระบบ: ศาลมีระบบ นักกฎหมายก็ควรจัดคำฟ้องให้มีระบบเช่นกัน
– หลักเกณฑ์การฟ้องคดี เป็นส่วนที่ศาลใช้ตรวจคำฟ้องทุกฉบับที่ผ่านเข้ามาในระบบ
- คู่กรณีและลักษณะคดีปกครอง ตามม. 9 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
- ความสามารถในการฟ้องคดี ซึ่งต้องดูตามกฎหมายแพ่ง หากไม่มีความสามารถ เช่น มีอายุไม่ถึง 15 ปี เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ต้องแก้ไขก่อน โดยให้ผู้ปกครองหรือผู้อนุบาลฟ้องคดีแทน
- คำฟ้องเนื้อหาต้องสมบูรณ์ครบถ้วนพอที่จะเข้าใจความเดือดร้อนได้ ศาลปกครองไม่มีฟ้องเคลือบคลุม ศาลสั่งให้แก้ไขและนัดไต่ส่วนได้ ในทางปฏิบัติ
- เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมล ใส่มาเลย เพื่อให้ติดต่อกันได้ง่าย
- การกระทำที่เป็นเหตุในการฟ้องคดี หากว่าศาลไม่เข้าใจ ศาลจะเรียกไต่สวน เช่น ยายอายุ 75 ปีฟ้องมาแต่ศาลอ่านไม่เข้าใจ ยายก็ยังคัดคำฟ้องเดิมมาให้ด้วยตัวหนังสือที่ใหญ่มาก ศาลจึงเลยต้องให้ยายมาไต่สวนที่ศาลแทนเกี่ยวกับคำฟ้องนั้น
- คำขอต้องระบุให้ชัดเจน
- ในศาลปกครองไม่มีการทำคำร้องส่งหมาย ศาลอำนวยความสะดวกให้เลย
- การมอบอำนาจในการดำเนินคดีแทน ทนายความจะเข้ามาดำเนินการในคดีทางปกครองได้ก็ด้วยการมอบอำนาจจากคู่ความในคดี แต่ควรทำให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรโดยการติดอาการแสตมป์และระบุขอบเขตในการมอบอำนาจให้ชัดเจน และการมอบอำนาจที่มีผู้มอบเยอะ ต้องมอบเป็นรายบุคคล ทั้งนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้
- การตรวจสอบการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายในเรื่องนั้นๆ กำหนด โดยผู้ฟ้องคดีต้องทำตามขั้นตอนนั้น ๆ ก่อน จึงสามารถนำมาฟ้องศาลปกครองได้ เช่น การเพิกถอนโฉนด การออกใบอนุญาต การขอข้อมูลข่าวสาร
- ต้องฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีที่ศาลกำหนด แต่ในคดีสิ่งแวดล้อมเราจะผ่อนคลาย อาจไม่มีอายุความเพราะฟ้องเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ค่าธรรมเนียมศาล และการขอยกเว้น ไม่ได้มุ่งประสงค์จะเก็บ แต่ป้องกันมิให้ฟ้องเกินเลย จึงต้องเก็บค่าธรรมเนียมศาล และหากว่าชนะคดีก็ให้คืนค่าธรรมเนียมไป
- การฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน และการดำเนินกระบวนการพิจารณาซ้ำ
เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ม. 9 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 สำคัญมากที่บอกว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของสิ่งที่เราฟ้องนั้นคือไม่ชอบอย่างไร แบ่งกลุ่มเหตุนั้นได้ดังนี้
I) กลุ่มการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่: ไม่มีอำนาจ (ลักษณะที่ขัดต่อหลักความเป็นกลางตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย),
นอกเหนืออำนาจ, ไม่สุจริต, ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
II) กลุ่มขั้นตอนตามกฎหมาย: ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ, เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม, สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น, สร้างภาระเกินสมควร
III) กลุ่มการใช้ดุลพินิจ: ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ คือไม่ชอบด้วยเหตุผล, ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการบังคับคดีและการขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม
– กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการทำคดีปกครองทั่วไปที่มีประโยชน์กับการดำเนินคดีปกครองด้านสิ่งแวดล้อม คือ การบังคับคดี และวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาซึ่งศาลสามารถสั่งได้เองเลยเมื่อเกิดความเดือดร้อน โดยที่คู่ความไม่ต้องขอ (รายละเอียดในการอบรมวันต่อไป)
————————————————–
*การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ได้รับการสนุบสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) และร่วมดำเนินการโดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิคอนราดอาเดนาวร์ (KAS Thailand) ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย (EnROOT Project) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์