วันที่ 9 มกราคม 2562 กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์โรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล ณ วิทยาลัยชุมชนยโสธร เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และผลกระทบ พร้อมยืนยันเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะลงพื้นที่ในวันที่ 15 มกราคม 2562 ยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ
ผลกระทบจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล : อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
อุตสาหกรรมการปลูกอ้อยเป็นการเกษตรแบบมาตุฆาต เกษตรบาป ถางป่า เวลาตัดอ้อยจะจุดไฟเผา ไม่มีขั้นตอนใดที่สร้างความยั่งยืน เป็นการเกษตรแบบขูดรีดธรณี
อุตสาหกรรมน้ำตาลเข้ามาในอีสาน ราวๆ ปี พ.ศ.2525 ปัจจุบันพื้นที่ที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่มานาน เช่น กุมภวาปี กระนวน น้ำพอง เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่เหล่านี้ เศรษฐกิจในพื้นที่ได้เติบโตขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และเป็นสิ่งที่น่าอึดอัดใจว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ นับมาแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสารคาม ไม่ได้มีงานวิจัยที่เป็นกลางอันแสดงว่าพื้นที่ที่อยู่กับอุตสาหกรรมนี้มานาน มีฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างไร ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกอ้อยว่าแทบทุกขั้นตอน ทำไม่ได้โดยเกษตรกรรายย่อย หรือแรงงานในครัวเรือน ทุกขั้นตอนต้องจ้าง ต้องใช้รถแทรกเตอร์ รถยก ดังนั้นเมื่อลงรายละเอียด รายได้ไม่ได้เป็นของเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง และแม้อ้อยจะเป็นเกษตรพันธะสัญญาชนิดแรกๆ ของประเทศไทย ที่มีกฎหมาย (พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527) เข้ามากำกับดูแล แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรรายย่อยจะเข้าถึงความเป็นธรรมในโครงสร้างการปลูกอ้อย
สำหรับจังหวัดยโสธรได้ประกาศว่าจะเป็นเมืองสมุนไพร ผมมีโอกาสเดินทางไปทั้งน้ำปลีก (ต.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ) และเชียงเพ็ง (ต.เชียงเพ็ง จ.ยโสธร) จะเห็นว่าบรรพบุรุษได้เลือกพื้นที่ตั้งได้อุดมสมบูรณ์มาก ไม่จำเป็นต้องปลูกอ้อย ปลูกว่านชักมดลูกก็ได้ ซึ่งขายได้กิโลละพันบาท ถ้าประเทศไทยต้องการตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง การทำมาหากินไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือน “น้ำไหลลง” ให้นายทุนคนหนึ่งเข้ามาสร้างกิจการแล้วหวังว่ากิจการของนายทุนคนนั้น จะสร้างงานสร้างการพัฒนาให้คนเล็กคนน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำไหลลง สร้างความร่ำรวยให้กับคนจำนวนน้อย
น้ำตาลนี้ชาวบ้านก็ทำได้ ขายกิโลละร้อยยังได้ ไปหีบน้ำอ้อยแล้วมาเคี่ยวด้วยกระทะกิโลหนึ่งทำเป็นถุงเล็กๆ ได้สิบถุง จึงเรียกว่า กิโลละร้อย ขายร้านกาแฟ น้ำตาลอินทรีย์ประเทศไทย เมื่อเจอกับช็อกโกแลตยุโรป จะหอมมาก สิ่งเหล่านี้สามารถจะส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้ ปัจจุบันที่จังหวัดเชียงใหม่ อ.พร้าว ยังมีการประกอบอาชีพทำน้ำตาลอ้อยอยู่ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาแบบนี้ รายได้จะเกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อย ไม่ใช่ให้นายทุนเข้ามาสร้างแล้วรวบรายได้ หรือนายทุนมาใช้ที่ดิน ใช้ทรัพยากร ใช้แรงงานของคนในท้องถิ่น ซึ่งการพัฒนาแบบนี้ เป็นปัญหาของการพัฒนาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
การต่อสู้มันไม่ใช่ภารกิจที่ต้องสำเร็จในช่วงชีวิตของเรา การต่อสู้เป็นภารกิจชีวิตที่จะส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไป เพื่อไม่ให้มีคำถามกับคนรุ่นต่อไปว่า ในช่วงที่เขามาปู้ยี่ปู้ยำบ้านตัวเอง เราทำอะไรอยู่ ก่อนที่น้ำฝนจะกินไม่ได้ ก่อนที่จะมีอุบัติเหตุระเนระนาด เราทำอะไรอยู่ โรคที่จะตามมาหลังจากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลคือ หรือโรคซิลิโคซีส หรือโรคปอดฝุ่นทราย (Silicosis) คือโรคปอดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้าใดลงทุนกับเทคโนโลยีการจับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งควรที่จะมีการลงทุน แต่ด้วยความเห็นแก่ตัวของนายทุนจึงไม่มีการลงทุนกับเทคโนโลยีนี้ สุดท้ายขอฝากกับพี่น้องว่าการต่อสู้มันไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จในช่วงอายุนี้ แต่มันคือการที่การต่อสู้นี้จะส่งต่อ ถ่ายทอดอุดมการณ์ไปสู่รุ่นต่อไป
สถานการณ์ในพื้นที่ : สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง
จากการศึกษา เห็นชัดว่าพื้นที่ภาคอีสานไม่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย เพราะพื้นที่ผูกพันอยู่กับนิเวศทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก (จ.อำนาจเจริญ) ต.เชียงเพ็ง (จ.ยโสธร) เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ มีป่าหัวไร่ปลายนาที่ชุมชนใช้ในการดำรงชีพ หากดูจากนโยบายของรัฐที่พยายามสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน ต.น้ำปลีก และคาบเกี่ยวมา จ.ยโสธร (ตามรัศมี 5 กิโลเมตร) โรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน รถขนอ้อยจำนวนกว่าพันคัน นี่เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นขึ้นในพื้นที่
กระบวนการที่พี่น้องออกมาปกป้องทรัพยากร ปกป้องชุมชน ปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง แต่กระบวนการเหล่านี้ถูกกฎหมายตีตายหมด เช่น กระบวนการ EIA ที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง กล่าวคือ 1.กระบวนการรับรู้ข่าวสารของพี่น้อง 2. กระบวนการในการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ ค.1 – ค. 2 พี่น้องถูกกีดกันตลอด ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาถึงปัจจุบัน
แม้ว่า EIA ของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าจะผ่านไป และโรงงานน้ำตาลได้ใบอนุญาตไปแล้ว ก่อสร้างไปแล้ว แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ยังอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า จาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ถามว่า กกพ. เคยลงพื้นที่พื้นที่ไหม ? เมื่อไม่เคยลงพื้นที่แล้ว กกพ. รู้ได้อย่างไรว่าคนน้ำปลีก คนเชียงเพ็งอยู่กินกันอย่างไร และรู้ได้อย่างไรว่าตรงนี้มีลำเซบาย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ข้อมูลตรงนี้พี่น้องแจ้งกับ คชก. มาตลอดว่า 1. หากเกิดโรงงานน้ำตาลขึ้นมาจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เพราะโครงการจะผันน้ำจากลำเซบาย ซึ่งประเด็นนี้พี่น้องท้วงติงมาตลอด 2. พื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชุมชน และบริเวณนี้ไม่มีการปลูกอ้อย
การออกไปปฏิบัติการใช้สิทธิของพี่น้อง ทำให้ กกพ. ต้องลงพื้นที่มาคุยกับพี่น้อง ซึ่งการลงพื้นที่ของ กกพ. 1. ต้องทำข้อมูลให้ชัดเจนถึงข้อห่วงกังวลของพี่น้อง 2. ถ้าลงมา การรับฟังความเห็นของพี่น้อง ไม่ควรมองว่าเป็นประเด็นเดิม 3. พี่น้องขอยืนยันว่าไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ต้น เมื่อพี่น้องไม่ยอมรับก็หมายความว่ากระบวนการของ EIA ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น 4. ถ้า กกพ. ลงมาแล้วเห็นสถานการณ์ ฟังสถานการณ์แล้วก็สมควรที่จะยกเลิกการพิจารณาโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาด เนื่องจากพี่น้องกังวลเรื่องฝุ่นละออง
นายสิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนจังหวัดยโสธร มีการตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพ กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งผลการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วม เซ็นโดยผู้ว่าฯจังหวัดยโสธร และส่งให้ กกพ. พิจารณา มีอยู่ 2-3 ประเด็นชัดๆ คือ 1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้ การประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 2. การมีส่วนร่วมการรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล พี่น้องเคยได้ยินข่าวสารหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาในรัศมี 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลเชียงเพ็ง 5 หมู่บ้าน ผลการศึกษาออกมาชัดว่า 92 % ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมทั้ง 2 ข้อเลย และเป็นข้อมูลทางวิชาการ เพราะฉะนั้น กกพ. ต้องฟังข้อมูลส่วนนี้ด้วย เพื่อบอกว่า พี่น้องขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น
สิทธิชุมชน การพัฒนาและสถานการณ์ในภาคอีสาน : สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สถานการณ์และการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม จากนโยบายการพัฒนาภายหลังรัฐประหาร 2557 ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมชุมชน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าขยะ ชีวมวล,โรงงานน้ำตาล, เหมืองแร่,เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งไม่ต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
สิทธิชุมชน ที่ยังคงอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือ
มาตรา 43 บุคคล ชุมชน มีสิทธิ
(2) จัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(3) เข้าชื่อเสนอแนะ หน่วยงานของรัฐ ให้ดำเนินการใดที่เป็นประโยชน์ ประชาชน/ชุมชน งดเว้นการดำเนินการที่กระทบความเป็นอยู่สงบสุข ได้รับแจ้งผลโดยเร็ว/ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
สิทธิของ บุคคล ชุมชน ดังกล่าว รวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/รัฐ ในการดำเนินการด้วย
หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 57 (2) รัฐต้องอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ ให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ยั่งยืน โดยให้ ประชาชน ชุมชนในท้องถิ่น มีส่วนร่วม และได้ประโยชน์จากการดำเนินการ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐ การอนุญาตอาจมีผลกระทบ ทรัพยากรฯ คุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพ คุณภาพชีวิต ส่วนได้เสียสำคัญ ของประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐ ต้องศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพและรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคล ชุมชน มีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานรัฐก่อนดำเนินการหรืออนุญาต
ในการดำเนินการหรืออนุญาต ต้องระวังให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรมโดยไม่ชักช้า
สิทธิ เสรีภาพที่รับรองการขับเคลื่อนของ ประชาชนเพื่อคุ้มครองสุขภาพ สิ่งแวดล้อม
มาตรา 41 (1) บุคคล/ชุมชน มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สาธารณะในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 44 สิทธิของ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
ในกรณีโครงการโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ใน ต.น้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ ที่ต้องการพื้นที่ส่งเสริมอ้อยขนาด 200,000 ไร่ คำถามคือการที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปปลูกอ้อยขนาด 200,000 ไร่ เป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนหรือไม่ และชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งพี่น้องสะท้อนไปแล้วว่าการมีส่วนร่วมของพี่น้องไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย การที่พี่น้องไม่ได้มีส่วนร่วมใน ค.1 – ค.2 และการตรวจสอบโดยคณะกรรมการจังหวัดยโสธร ระบุ 92 % ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแต่อย่างใด
สถานการณ์อ้อยและน้ำตาลที่มองภาพรวมมากกว่าที่อำนาจเจริญ ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 รวม 4 จังหวัดภาคอีสานที่สามารถเปลี่ยนแปลงการย้ายสถานที่ตั้งหรือการขอนำกำลังการผลิตไปตั้งที่ใหม่และขยายกำลังการผลิต รวมทั้งสิ้นใช้อ้อย 65,000 ตันอ้อย/วัน ได้แก่ อ.วังสะพุง จ.เลย, อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ, อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ, อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร นอกจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้อนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลทราย 6 แห่ง ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้แก่ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ชัยภูมิ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด ซึ่งโรงงานน้ำตาลที่เกิดขึ้นมักจะไม่ได้มาแค่เรื่องน้ำตาลแต่จะมีมีเรื่องไฟฟ้าพ่วงเข้ามาด้วย
ในด้านนโยบาย ได้ผ่าน ครม.เรียบร้อยแล้วสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพในการดันไทยเป็น ไบโอฮับ ในอาเซียน อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ถูกนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง (ขอนแก่น) มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท
ในด้านกฎหมายคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นใดที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และกรมโรงงานได้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ฝั่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ นี่เป็นสถานการณ์เบื้องต้นที่จะเกิดขึ้นในภาคอีสาน
ปัญหาการใช้สิทธิและมีส่วนร่วมของประชาชน
1. การไม่มีส่วนร่วมในระดับตัดสินใจตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่สามารถใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนได้
2. ปัญหากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนใน EIA เป็นเพียงการทำให้ครบตามกฎหมายแต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น การจัดเวทีให้ครบ 3 ชั่วโมง
3. การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีกฎหมายให้สิทธิแต่การเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก ต้องนึกว่าถ้าเราไม่มีข้อมูลที่ตรงกัน เราจะโต้เถียงกันบนฐานข้อมูลเดียวกันอย่างไร กระบวนการรัฐที่ไม่ชี้แจงว่าการใช้สิทธิในเรื่องนี้มีขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นการที่พี่น้องไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เป็นการสะท้อนความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น
4. การไม่เข้าใจในกลไกการใช้สิทธิของประชาชนในกระบวนการขั้นตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการในการให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการใช้สิทธิแก่ประชาชนก่อนที่จะมีการพัฒนากิจกรรมหรือโครงการในพื้นที่
5. การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 การใช้สิทธิชุมนุมที่มีการบล็อก ทั้งที่เรื่องที่ต้องการสื่อสารเป็นเรื่องของชุมชนไม่ใช่เรื่องของตัวแทนแต่อย่างไร
การลงพื้นที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในวันที่ 15 มกราคม 2562 นี้ อาจถือได้ว่าเป็นการลงพื้นที่อย่างเป็นทางการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นครั้งแรก อันเนื่องมากจากการปฏิบัติการของคนในพื้นที่ที่เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการและให้ กกพ. ได้ลงมาตรวจสอบพื้นที่ก่อนที่จะมีมติใดๆ ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ก็คาดหวังว่า กกพ. จะได้เห็นสภาพพื้นที่จริง และเสียงของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลกระทบเชิงพื้นที่ว่ามีปัญหา ตั้งแต่โครงการโรงงานน้ำตาลที่ไม่มีการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศ เพราะการตั้งโรงงานไม่ใช่แค่เรื่องอาคารหรือเครื่องจักรแต่เป็นการใช้พื้นที่ร่วม การใช้ทรัพยากรร่วม โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้ทรัพยากรร่วมของชุมชนมาก เช่น 1.เรื่องที่ดิน 2.เรื่องน้ำ และ 3. โรงงานนี้ไม่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ต้องมีวัตถุดิบที่เข้ามาหล่อเลี้ยงคืออ้อย และอ้อยในรายงานระบุว่าต้องส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อย 200,000 ไร่ เพื่อให้พอต่อการเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องการจำนวน 660,000 ตันอ้อย/ปี ซึ่งพื้นที่ส่งเสริมไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ตรงไหน และพื้นที่ปลูกอ้อยเดิมที่มีอยู่ ไม่มีพื้นที่น้ำปลีกหรือเชียงเพ็งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยแต่อย่างใด คำถามไม่ได้หยุดอยู่แค่ 200,000 ไร่อยู่ไหน แต่ 200,000 ไร่ จะเปลี่ยนระบบนิเวศอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเรื่องการใช้น้ำ การใช้สารเคมี ซึ่งตรงนี้ที่พี่น้องสู้ในพื้นที่ถือว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และขอฝากให้พี่น้องเฝ้าระวังสถานการณ์โดยรวมของภาคอีสานซึ่งต่อไปเป็นเรื่องที่จะเข้ามากระทบกับชีวิตประจำวันของพี่น้องแน่นอน