บันทึกสรุปงานแถลงข่าว "ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับ คสช. : วาระซ่อนเร้น ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ?"


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม จัดงานแถลงข่าว ร่าง พรบ.โรงงาน ฉบับ คสช : วาระซ่อนเร้น ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ? ณ ห้องประชุม ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่ออธิบายให้สาธารณะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า หาก ร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ปัญหามลพิษในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้นอย่างไร ความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศทั้งเชิงภาพรวมและระดับพื้นที่ ต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสุขภาพจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลมีเจตนาแฝงเร้นอะไรจึงต้องมีคำสั่งเร่งรัดให้ สนช. พิจารณาและผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ทันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่นาน

คุณธารา บัวคำศรี : กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กล่าวถึงประเด็น “แหล่งกำเนิด PM 2.5 จากอุตสาหกรรมการผลิต”

อย่างแรกลักษณะพิเศษของฝุ่น PM 2.5 มีลักษณะลอยตัว เล็กมาก บางเบามาก อย่างที่สอง ฝุ่น PM 2.5 จะมาพร้อมมลพิษ ขอเรียกว่า แก๊งค์ปีศาจฝุ่น 4 ชนิด ได้แก่ 1. อาร์เซนิก (Arsenic) หรือสารหนู 2. แคดเมียม 3. ปรอท 4. พีเอเอช หรือ โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน โดยสารเหล่านนี้มีอนุภาคที่เล็กและสามารถเล็ดรอดเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้โดยง่าย

คุณธาราได้ระบุถึงงานวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2555 จำนวนโรงงานในประเทศไทย 130,131 โรง แบ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ตามภูมิภาคๆ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก นี่คือแหล่งใหญ่ที่ ปล่อย PM 2.5 ซึ่งเวลาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นจะไม่เกิดเพียงตัวเดียว บรรดาแก๊งค์ปีศาจฝุ่น 4 ตัว (ที่กล่าวข้างต้น) จะเกิดขึ้นด้วย
นอกจากนั้นคุณธารา ยังตั้งโจทย์ว่าโรงไฟฟ้าขนาดต่างๆ ได้ปล่อยมลพิษชนิดใดออกมาบ้าง เช่น กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง มีการวัดฝุ่นละออง วัดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ วัดปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ เราจะเห็นว่าโรงไฟฟ้าปล่อยวันละเท่าไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในรายงาน EIA โรงไฟฟ้าแม่เมาะก็ไม่มีการตรวจวัด PM 2.5 วัดแค่ PM 10 นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าเวลากรมโรงงานอุตสาหกรรมไปตรวจแล้วไม่เจอ PM 2.5 เพราะเราไม่มีเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นขนาด PM 2.5 โดยตรง
มีหลายโรงงานที่ปล่อยมลพิษ เช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้าเก่า ที่บางปะกง พระนครเหนือ พระนครใต้ ที่ใช้ทั้งถ่านหิน และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแต่ก็ไม่ได้มีการวัด PM 2.5 ในปัจจุบันมาตรฐานคุณภาพอากาศ เราวัดได้แค่ PM 2.5 ปนเปื้อนอยู่ในอากาศที่ความเข้มข้นเท่าใด แต่เราไม่มีไม่มีค่ามาตรฐานในการตรวจวัดการปล่อยฝุ่น ขนาด PM 2.5 เพื่อที่จะสามารถรู้ได้ว่า PM 2.5 นี้มาจากที่ไหน ปล่อยมากน้อยแค่ไหนต่อวินาที เหล่านี้เราไม่สามารถรู้ได้เลย
ดังนั้นปัญหาจึงมีว่าเราไม่มีค่ามาตรฐานในการตรวจวัดการปล่อยฝุ่น ขนาด PM 2.5 และไม่มีมาตรการบังคับให้เอกชนมีการตรวจวัดฝุ่นขนาด PM 2.5 ที่ออกจากปลายปล่องโรงงาน ทำให้เราแก้ปัญหาโดยการอนุมานไปเอง

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ

กล่าวถึงประเด็น “วาระซ่อนเร้นในร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช.

ตั้งข้อห่วงกังวลว่า พรบ โรงงาน ฉบับ คสช. นี้ จะนำพาไปสู่วิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้รุนแรงมากขึ้น โดยลักษณะของ พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับ คสช. ได้รับคำสั่งเด็ดขาดจากรัฐบาลให้เร่งพิจารณาให้ผ่านกฎหมายให้ทันในรัฐบาลชุดนี้
คุณเพ็ญโฉมได้ตั้งข้อสังเกตจากการให้สัมภาษณ์ของ นายอุตตม สาวนายน รมต.กระทรวงอุตสาหกรรม “ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการครอบคลุมทั้งขนาดใหญ่และระดับเอสเอ็มอี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2562”  ฝั่งนายสุรพันธุ์ มงคลสุธี (ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ ระบุ “การไม่ต้องต่ออายุใบ รง.4 ทุก 5 ปี ถือเป็นของขวัญที่ภาคเอกชนรอคอยมานาน และถือเป็นมาตรการที่ดี ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน”
ภายใต้รัฐบาล คสช ได้ออกกฎหมายที่เอื้อกับการลงทุน อาทิ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 อนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลได้ทุกท้องที่, คำสั่ง คสช. 21/2560 อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ, พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 พ.ร.บ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ ยกเว้น EIA โรงไฟฟ้าขยะ 2558, คำสั่ง คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น
คุณเพ็ญโฉม ยังได้ตั้งข้อสังเกตไปยัง คณะกรรมการกฤษฎีกาที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับ คสช.นี้ว่าบางท่านมีส่วนเกี่ยวโยงกับอุตสาหกรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ อาทิ นายมนู เลียวไพโรจน์ ที่มีตำแหน่งนั่งเป็นประธานกรรมการอยู่หลายบริษัท, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีต รมต กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันนั่งเป็นประธานของบริษัทเอกชนหลายบริษัท
ตัวอย่างปัญหาที่พบในร่าง พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับนี้ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในประเทศอย่างมาก อาทิ
การตัดทิ้งข้อเสนอเรื่องประกันภัยเพื่อการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีกรรมการหลายคนมาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาและปรับแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องส่งเสริมการลงทุนและการเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการด้วยกัน โดยละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งที่ข้อเสนอเรื่องประกันภัยดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการภายใต้หลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ให้เกิดขึ้นจริง
การยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการฯ เป็นขั้นตอนหนึ่งสำหรับเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบสภาพโรงงานและเป็นมาตรการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการต้องทำการปรับปรุงแก้ไขโรงงานที่ประกอบกิจการมาระยะหนึ่งแล้วให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่จะต้องนำเอาเรื่องร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบความเดือดร้อนจากโรงงานมาพิจารณาประกอบการต่ออายุใบอนุญาตหรือการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้โรงงานต้องปฏิบัติตามด้วย การยกเลิกดังกล่าวคือการลดทอนมาตรการตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงในระยะยาว
การแก้ไขนิยาม “โรงงาน” ซึ่งจะทำให้โรงงานขนาดต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือกิจการที่มีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ถือเป็นโรงงานตามร่างกฎหมายฉบับใหม่ การแก้ไขคำนิยามนี้จะส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรน้อย คนงานจำนวนน้อย เช่น โรงงานคัดแยกและโรงงานรีไซเคิลของเสีย ตลอดจนกิจการอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 60,000 แห่ง จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายโรงงาน และการตั้งโรงงานเหล่านี้จะไปอยู่ภายใต้บังคับข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือ พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ.2535 แทน
การแก้ไขนิยามคำว่า “การตั้งโรงงาน” ของร่างกฎหมาย โดยลดความหมายของการตั้งโรงงานเหลือเพียงการนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งเท่านั้น เป็นการเปิดช่องว่างให้การก่อสร้างอาคารโรงงานสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ การแก้ไขนิยามคำว่า “การตั้งโรงงาน” จากเดิมที่หมายถึง ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างอาคารโรงงาน ให้เหลือเพียงความหมายว่า “การนำเครื่องจักรสำหรับการประกอบกิจการโรงงานเข้ามาติดตั้ง หรือการนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร” จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างอาคารโรงงานได้โดยไม่ต้องรอให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) บทบัญญัตินี้ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์และเงื่อนไขสำคัญในการออกอนุญาตตาม พ.ร.บ. โรงงาน ที่จะต้องมีการตรวจสอบและพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานก่อนการอนุญาต โดยเฉพาะสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายจะต้องมีการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ตลอดจนถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคารขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้หน่วยงานต้องใช้ประกอบเพื่อเป็นข้อมูลการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและนำเอามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทั้งในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินโครงการมากำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตด้วย
คุณเพ็ญโฉม ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 อาทิ บริษัท แว็กซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล จำกัด จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเป็นคดีแพ่งอยู่ในศาล ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกัน 200 กว่าคน ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพของประชาชน 500 กว่าล้านบาท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งมีปัญหาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2553 มีชาวบ้านรวมตัวยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายและให้ปิดโรงงาน แต่จนถึงปัจจุบันศาลยังไม่ตัดสิน ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐมักไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 ที่ให้อำนาจสั่งปิดกิจการชั่วคราว จึงเป็นปัญหาที่ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้เขียนรับรองการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ได้เขียนเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายไว้

คุณเพ็ญโฉมได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล และ สนช. โปรดถอนร่างกฎหมายนี้ ก่อนที่วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะรุนแรงไปมากกว่านี้ และขอให้เริ่มกระบวนการพิจารณาในการออกกฎหมายใหม่ด้วย

คุณสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

กล่าวถึงประเด็น สิ่งที่หายไป ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. … ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

โดยตั้งข้อสังเกตว่าร่างดังกล่าวถูกนำเสนออย่างเร่งรีบต่อ สนช. ซึ่งเหลือเวลาในการทำงานไม่นาน

คุณสุรชัย ได้นำเสนอ 3 ประเด็นหลัก ที่หายไปจากร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. …

1.การมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน
2.มาตรการ เยียวยา ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม และชุมชนที่ได้รับความเสียหาย และบทลงโทษที่ไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิดของโรงงานอุตสาหกรรม
3.ความไม่ชอบธรรมในการเสนอและพิจารณากฎหมายโรงงานของรัฐบาล คสช.

ประเด็นแรก การมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 ได้รับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนใน มาตรา 43 (2) “…บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน…”

ซึ่งนั่นหมายความว่า กิจกรรมใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น การอนุญาต การตรวจสอบระหว่างดำเนินการ มาตรการแก้ไขเยียวยาปัญหา ประชาชนต้องสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ แต่ขั้นตอนเหล่านี้หายไปจาก ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. … แม้ว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2560 รับรองไว้ก็ตาม และแม้ปัจจุบันจะมีระเบียบการรับฟังความคิดเห็น แต่ก็มีข้อยกเว้นการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวว่า หากกิจการใดที่ต้องจัดทำรายงาน EIA /EHIA ไม่ต้องมีการจัดรับฟังระเบียบดังกล่าวอีก โดยเห็นว่าการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยรัฐ หรือโดยเอกชนนั้นมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่ ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิฯ ก็ได้มีการฟ้องร้องระเบียบดังกล่าวต่อศาลปกครอง

ประเด็นที่สอง มาตรการเยียวยา ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม และชุมชนที่ได้รับความเสียหาย ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. … ได้มีการตัดการประกันภัย หลักประกัน หรือกองทุนเยียวยาความเสียหายออก

ซึ่งเมื่อเทียบกับกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 68 “ผู้ถือประทานบัตรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ…(8) ฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองตามแผนการฟื้นฟู การพัฒนา การใช้ประโยชน์ และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในระหว่างที่มีการทำเหมืองและหลังจากปิดเหมือง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแร่

(9) วางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองตามที่คณะกรรมการแร่กำหนด และในกรณีการทำเหมืองประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ต้องจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามวงเงินที่คณะกรรมการแร่กำหนดด้วย…” ซึ่งใน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. …ไม่ได้ระบุสิ่งเหล่านี้เอาไว้ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนทั้งสิ้น

กรณีต่อมาบทลงโทษที่ไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิด ของโรงงานอุตสาหกรรม ร่างแก้ไข มาตรา 57 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้แก้ไขของเจ้าหน้าที่กรณี โรงงานอาจก่อความเสียหาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน ปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

ในขณะที่ บทลงโทษเพื่อป้องปราม การกระทำผิด ของอุตสาหกรรมอื่น เช่น พรบ.สิ่งแวดล้อม ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561 “มาตรา 101/1 ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตผู้ใดก่อสร้างหรือดำเนินโครงการหรือ กิจการก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 จะได้รับความเห็นชอบหรือถือว่า ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการก่อสร้างหรือดำเนินการในโครงการหรือกิจการหรือ การดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ผู้กระทำต้องระวางโทษ หนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่าโทษตาม พ.ร.บ. โรงงาน กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันก็ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบไม่ใช้ความระมัดระวังในการประกอบกิจการของตนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงสุขภาพอนามัยของประชาชน
คุณสุรชัยมองว่า หากเกิดการเจ็บป่วยจากการก่อมลพิษของการประกอบกิจการโรงงาน เราอาจเรียกค่าเสียหายได้จากรัฐก็จริง แต่ผู้ก่อมลพิษอื่นๆ เราไม่มีมาตรการที่รับรองตาม พ.ร.บ. โรงงาน ไว้เลย ทำให้ประชาชนต้องไปฟ้องร้องต่อศาลเอง กลายเป็นภาระของประชาชน อย่างหลายๆ กรณีที่ผ่านมา

ประเด็นที่สาม ความไม่ชอบธรรม ในการเสนอและพิจารณากฎหมายโรงงานของรัฐบาล คสช.

คุณสุรชัยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสถานะรัฐบาลควรเป็นไปในสถานะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งหมายถึง เป็นรัฐบาลที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะงานประจำ ที่ไม่ใช่งานนโยบาย กฎหมายสำคัญที่จะมีผลผูกพันรัฐบาลต่อ หรือเพื่อหาเสียง หาประโยชน์ในการเลือกตั้ง

แต่รัฐบาล คสช. ชุดนี้ ปฏิเสธการเป็นรัฐบาลรักษาการ และยังคงใช้อำนาจเสนอกฎหมายซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างมาก การกระทำเช่นนี้ ประชาชนต้องเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องยุติการดำเนินใด ๆ ที่จะไปผูกพันรัฐบาล(ใหม่)โดยใช่เหตุ ดังนั้นรัฐบาล คสช ต้องอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ

คุณสุรชัยเสนอว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องถอนร่าง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. … ออกจากการพิจารณา และเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่อย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างแท้จริงต่อไป

—————
องค์กรร่วมจัด 
-มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
-มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW
-กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) Greenpeace Thailand
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ที่เอกสารประกอบงานแถลงข่าว ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน (วันที่ 31 มกราคม 2562)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด