บันทึกงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ #3

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2561 ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)     ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัดจึงได้จัดทำบันทึกการเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากวิทยากรแต่ละท่าน

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์  (สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ) #3

        ท้าวความเมื่อสมัยปี 2530 กระแสสิ่งแวดล้อมของไทยเริ่มบูมขึ้น ตอนนั้นพูดว่าจะทำยังไงถึงมีหน่วยงานมาดูแลด้านสิ่งแวดล้อม มีเครื่องมือใหม่ๆในการที่จะมาช่วยประเมินวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เวลาที่จะมีโครงการต่างๆขึ้นมา ก็มีคนพูดถึงประสบการณ์ในต่างประเทศเรื่อง EIA ขึ้นมา ก็เลยกลายมาเป็นเรื่องวิธีการขับเคลื่อนร่วมกันและประมวลขึ้นมาเป็น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุดท้ายก็มีการผลักดันจนเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ปี 2535  ที่น่าแปลกใจคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุครัฐบาลเผด็จการ ตอนนั้นคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ณ ขณะนั้นถือว่าก้าวหน้ามาก เพราะว่าเป็น พระราชบัญญัติแรกๆที่พูดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน พูดเรื่องสิทธิ หน้าที่ พูดเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และก็พูดถึงกองทุนสิ่งแวดล้อมที่จะมาสนับสนุนกิจกรรมของภาคประชาชน รวมทั้งกิจกรรมเชิงนวัตกรรมที่เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราก็เรียกร้องการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้มแทบจะทุกโครงการ มีบางโครงการที่ไม่เข้าเงื่อนไข เราก็เรียกร้องให้ทำ โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคประชาชนเรียกร้องว่าให้ทำ คล้ายๆว่ามีความหวังมากกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม พอมาถึงปี 2540 เริ่มเบาลง ก็มาคิดกันใหม่อีกว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็เป็น EHIA พอ EIA ทำท่าจะล้มเหลว ปรากฎว่าตอนนี้ล้มเหลวทั้งสองอัน กลายเป็นไม่ใช่ล้มเหลวธรรมดา แต่เป็นการล้มละลายทางความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง ไม่มีใครตั้งหลักจะฟันว่าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการอย่างไร มีข้อมูลอะไร เพราะเริ่มต้นก็ชั่วทันที เพราะมันได้สะสมความล้มเหลวจนอยู่ตัว
          บริษัทที่ปรึกษาไม่มีบริษัทไหนเลยที่ภาคประชาชนให้ความเชื่อถือ ไม่มีเลย  แต่ว่าพูดได้เลยว่าบริษัทที่ปรึกษาที่ขึ้นทะเบียน พอรับงาน ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือทันที ก็เลยเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้  ย้ำอีกครั้งว่าเวลาที่พูดเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ดี เราพูดถึงเหตุและผล พูดถึงการคิดไว้ล่วงหน้า หลักการป้องกันไว้ก่อน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มันเป็นเรื่องเหตุและผล  สาระสำคัญคือเรื่องเหตุและผล แล้วก็ความจริง    เป็นไปได้ยังไงว่าการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในปีที่ไปศึกษา บังเอิญฝนตกมาก แล้วน้ำจืดไหลลงทะเลเยอะ แล้วน้ำจืดหนักน้ำทะเลเบา น้ำจืดก็เลยท่วมไปในน้ำทะเลเยอะ ด้วยเหตุนี้ทำให้เราพบปลาช่อนและปลากระดี่อยู่ในน้ำจืดบริเวณปากคลองที่เทพา มันเป็นไปได้ยังไง แต่มันปรากฎในรายงานที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเป็นคำอธิบายของบริษัทที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นเรากำลังอธิบายว่าเรากำลังพูดถึงเหตุและผล ไม่ได้พูดถึงคนจำนวน 3,000 คนมายกมือในห้องประชุม แต่เราพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วม การคิดไว้ก่อน และสุดท้ายเราพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน
         เพราะฉะนั้น ตอนนี้กระบวนการเรื่อง EIA / EHIA ไม่ใกล้ความจริงเรื่องพวกนี้เลย แต่มันกลายเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อ การชักชวน และจะจบด้วยว่าใครเห็นด้วย ยกมือขึ้น ซึ่งผมก็ไปสังเกตการมาหลายเวทีมักจะลงท้ายแบบนี้ นี่ประเด็นที่หนึ่ง ซึ่งคิดว่าต้องปฏิรูป 2 อย่าง 1.คือปฏิรูป พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งฉบับ 2.ปฏิรูประบบที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งต้องปฏิรูปทั้งระบบทั้งสองอัน
 

          กลับมาที่ ร่างฯที่รัฐบาลเสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …ทั้งฉบับที่รัฐบาลเสนอ เข้าไปอยู่ในกฤษฎีกาซึ่งกำลังพิจารณาอยู่  ทั้งตัวร่างฯไม่มีอะไรที่นำไปสู่การปฏิรูป เมื่อกฤษฎีกาบอกรัฐบาลว่าไม่ทัน 240 วัน ตามมาตร 278 รัฐธรรมนูญฯ 2560 ให้ดึงเฉพาะเรื่อง EIA มาก่อน เพื่อปกป้องไม่ให้ปลัดฯกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกปลดออก  เมื่อดึงมา ก็ไปแก้ พูดได้เลยว่าร่างฯที่กฤษฎีกาเสนอเข้า สนช. ก็ไม่มีนัยยะอะไรเลย มันแค่เพิ่มเข้าไปว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐดำเนินการ” มันเพิ่มคำตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้บอกว่าทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนที่เหลือก็เหมือนเดิม    ที่บอกว่าเหมือนเดิม ไม่ปฏิรูปเลยมีอะไรบ้าง
 
1.บริษัทที่ปรึกษาเหมือนเดิม ไม่มีการกำหนดจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ ไม่มีการพูดว่าถ้ามีปรากฎการณ์น้ำทะเลท่วมน้ำจืดคุณจะรับผิดชอบยังไง เจอปลากระดี่ที่เทพาคุณจะรับผิดชอบยังไง เพราะฉะนั้นอันนี้มันต้องปฏิรูป บริษัทที่ปรึกษาให้มีความรับผิดชอบจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบทางวิชาการและต้องตรวจสอบได้ รวมทั้งระบบใบอนุญาตด้วย
2.ต้องพูดเรื่องความสัมพันธ์ คือการตัดวงจรความสัมพันธ์เรื่องนายจ้าง-ลูกจ้าง ถ้ายังเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างต่อไป ลูกจ้างก็ต้องปฏิบัติตามที่จ้าง ทำยังไงระบบจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาจะโปร่งใสและปราศจากอิทธิพลของผู้จ้าง
           ปฏิรูปอันที่สองคือ ปฏิรูป คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในร่างฯนั้นก็ไม่ได้เขียน ความรับผิดชอบของ คชก.   คชก.คุณให้ความเห็นชอบ ที่ผ่านมา คชก.ก็พูดไม่ชัดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือตัวเองเป็นผู้ตรวจเอกสาร บ่อยครั้งจะได้ยินบางคนพูดว่าหน้าที่ของ คชก. คือ ดูว่าเอกสารและการศึกษาครอบคลุมหรือครบถ้วนหรือยัง ถ้าครบถ้วนแล้วถือว่าใช่  แล้วผมก็ถามว่าโดยปกติคุณให้ความเห็นชอบหรือเปล่า เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เขามีหน้าที่ดูความครบถ้วนของประเด็นและเอกสาร ประเด็นคือ คชก.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบหรือผู้ตรวจเอกสาร   ในร่างฯฉบับใหม่ที่ สนช.กำลังพิจารณา พูดว่าให้ความเห็นชอบ แต่ที่พูดนั่นคือที่ผ่านมา ประเด็นการให้ความเห็นชอบต่อไปนี้ต้องชัดเจนขึ้นว่าจะเป็นการให้ความเห็นชอบแล้วความเห็นชอบเป็นประเด็นทางปกครองหรือเปล่า ที่ผ่านมา ฟ้อง คชก.ไม่ได้ เพราะ ความเห็น คชก.ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง เนื่องจากผู้อนุมัติไม่ใช่คชก. ผู้อนุมัติคือหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ ส่วน คชก.เป็นผู้ตรวจเอกสารเท่านั้น ก็เลยฟ้องเพิกถอนคำสั่งของ คชก.ไม่ได้ แต่ต่อไปน่าจะได้ถ้าเขียนว่า คชก.ให้ความเห็นชอบในโครงการของรัฐ ขั้นตอนอนุมัติไม่ใช่ขั้นตอน คชก. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แต่ขั้นตอนอนุมัติอยู่ที่ ครม.  ทีนี้หน้าตา คชก.ที่มาเป็นอย่างไร มาตรฐานทางวิชาการเป็นอย่างไร การพิจารณา ความโปร่งใสเป็นอย่างไร ถ้ามีข้อทักท้วงทางวิชาการ มีช่องทางที่จะเปิดรับฟังข้อทักท้วงไหม เพื่อให้ความเห็นทางวิชาการแบบต่อหน้าต่อตา ไม่ใช่คุณทำจดหมายส่งมาเท่าไหร่ก็ได้ จะรับไว้ ตรงนี้ไม่มี ฉะนั้นระบบนี้ต้องปฏิรูปการทำงานของคชก.
          อันต่อไปคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  พูดได้เลยว่าหลายเรื่องที่เราจัดทำ ที่สะท้อนกันในช่วงเช้า (ช่วงตัวแทนชาวบ้าน) เป็นปัญหาของ สผ. หลายครั้งที่ได้ยินว่า เจ้าของโครงการประสงค์จะทำการศึกษาควบคู่กัน อันนี้ไม่รู้พูดจริงหรือเล่น เช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ เขาบอกอยากทำโรงไฟฟ้ากระบี่คู่กับสะพาน คู่กับท่าเทียบเรือ อยากทำร่วมกัน เพราะเป็นโครงการเดียวกัน แต่ว่าเขาไม่สามารถทำได้ เขาต้องแยกเป็น 2 อัน เนื่องจาก สผ.ไม่ยินยอม เพราะว่า คชก.เป็นคนละชุดเป็นต้น อันนี้ปัญหาที่ สผ. ก็ยึดติดกับโครงสร้างของตัวเอง และไม่ยอมให้มีการพิจาณาเป็นกลุ่มโครงการ แม้โครงการจะเกี่ยวพันกันก็ต้องแยก เพราะว่าระบุไว้อย่างนี้  ก็เลยเป็นปัญหาอยู่
          หลายครั้งที่คุยเรื่องการแก้ปัญหา ก็ติดที่ตรงนี้ และถ้าประชาชนมีความเห็นอย่างไรให้ทำจดหมายส่งมาตลอด คชก.พิจารณาตลอด พอขอให้มีเวทีวิชาการ ไม่เป็นไรให้ทำจดหมายส่งมา อย่างน้อยที่สุด สผ.ต้องปฏิรูปตัดเรื่องการศึกษา EIA ต้องออกมาเป็นอิสระ และมีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นและมีความรับรู้ทางวิชาการให้มากขึ้น  ความรับผิดชอบนี้ เช่น ถ้าเป็นคนที่นั่งฟังอยู่ แล้วถ้าน้ำจืดท่วมน้ำทะเล ผมจะไปเปิดเรื่องนี้กลับมาดูอีกรอบ และขอให้ คชก.ดูอีกรอบและจะถามว่าทำไมปีที่ศึกษาพบแพลงตอนน้อย บริษัทที่ปรึกษาบอกว่าบังเอิญเป็นวันที่มีวิกฤติทางระบบนิเวศ แต่หลังจากนั้นมีการศึกษาต่อเนื่องมีมาก กุ้งเคยไม่เข้า พอปีถัดมาเข้าเป็นฝูงเลย อันนี้ถ้าเราถนัดความเป็นวิชาการ ก็จะเรียกประชุม คชก.อีกรอบ  กำลังพูดถึงความรับผิดชอบแบบนี้ ความใส่ใจ
          คิดว่ามี 3-4 ประเด็นคือ บริษัทที่ปรึกษา คชก. สผ. อย่างน้อย 3 ส่วนงานนี้ต้องมีการปฏิรูป ซึ่งไม่ปรากฎอยู่ในร่าง พรบ.ทั้งฉบับเต็ม แล้วก็ร่างฯที่ สนช.กำลังพิจารณา
          อีกประเด็นหนึ่ง คือ มาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้เรามีประสบการณ์เยอะว่ามาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขียนแบบขอไปที อย่างเช่นที่ไปเจอ กรณีอ่างเก็บน้ำ ห้วยน้ำดี จ.อุตรดิตถ์ มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมบอกว่า ถ้าราษฎรคนไหนโดนน้ำท่วมทั้งที่ดินและบ้านให้ลดผลกระทบด้วยการไปอยู่ในนิคมลำน้ำน่าน คือจัดที่ให้ในนิคม  ในที่ประชุมก็ถามว่าที่ที่ถูกน้ำท่วมทำไมไปจัดให้อยู่ที่นิคมลำน้ำน่าน ทางนิคมก็สวนขึ้นมาว่าไม่มีที่ให้ พอถามว่าบริษัทที่ปรึกษาที่เขียนมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมนี้ได้ไปถามที่การนิคมไหม ว่ามีที่ให้หรือไม่ ตอน คชก.พิจารณา ได้ถามนิคมไหม เพราะว่าที่จริงไม่ได้มีที่มาแต่ต้นอยู่แล้ว นี่มาตรการง่ายๆเรื่องการจัดที่ดิน แต่ก็โบ้ยไป อันนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
          มีประเด็นเพิ่มเติมว่าช่วงที่พูดตอนเช้าไม่ใช่เรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่มีเรื่องการกำหนดทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่น อันนี้ต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อนที่จะคุยกันเรื่องโครงการ อันที่จริงเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัดมีการพูดกันอยู่แล้ว เช่น ทุกจังหวัดจะมีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ มีกลยุทธ์จังหวัด และในกลุ่มจังหวัดก็มีเช่นเดียวกัน แต่ยุทธศาสตร์จังหวัดที่ว่าเวลารัฐบาลจะทำอะไรรัฐบาลมักจะไม่คำนึงเรื่องยุทธศาสตร์จังหวัด อย่างกระบี่มียุทธศาสตร์การท่องเที่ยว แต่จะสร้างโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้คำนึงถึงยุทธศาสตร์จังหวัด อันนี้ต้องคำนึงถึงเป้าประสงค์ในการพัฒนาของพื้นที่ และกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาต่างๆก็ควรต้องอยู่ในนั้น ไม่งั้นเราก็จะขัดแย้งกันอย่างนี้    แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ใน EIA หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างเดียว แต่เราต้องมีองค์กรขับเคลื่อนของภาคประชาชนและจังหวัดที่จะสร้างดุลอำนาจที่จะต่อรองกับส่วนกลาง เพราะส่วนกลางเน้นเรื่องทุนเป็นหลัก
          สุดท้ายในเรื่อง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คิดว่ายังมีเรื่องกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ต้องพูดเรื่องการปฏิรูป ยังมีเรื่องบุคคล องค์กร ชุมชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐตามรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้ เรื่องกองทุนสิ่งแวดล้อมว่าทำยังไงรายจ่ายทางมลภาวะต่างๆจะถูกเก็บเข้ามาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยสนับสนุนรายงานเงา (ที่อ.สุทธิชัย พูดถึง) จริงๆแล้วภาคประชาชนจะต้องทำรายงานควบคู่ไปกับเจ้าของกิจการ เพราะเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ซับซ้อน ประชาชนก็ต้องการนักวิชาการ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย การควบคุมมลพิษโดยเฉพาะการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด แล้วก็กำหนดเขตควบคุมมลพิษต่างๆ รวมทั้งเมื่อเกิดการปล่อยมลพิษ ใครจะมีอำนาจสั่งปิด ทุกวันนี้ต้องรอกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้สั่งปิด ซึ่งกรมโรงงานฯมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนโรงงานเป็นหลัก อันนี้ดูตัวอย่างที่โรงงานยางที่ จ.อุดรธานี 2 โรง ที่ยังปิดๆเปิดๆ อยู่ ซึ่งทุกวันนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องอื่นๆที่อยู่ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องปฏิรูปควบคู่กันไป
          ตอนนี้คงทำอะไรไม่ได้แล้วกับร่างที่อยู่ใน สนช. เพราะเขากำหนดว่าจะเสร็จ 19 มกราคมนี้ ส่วนร่างฯพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งฉบับจะขับเคลื่อนยังไงต่อให้เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นประเด็นที่เราจะต้องปรึกษาหารือกันต่อไป
 
ติดตามอ่าน
บันทึกงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ #1
บันทึกงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ #2

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด