สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2561 ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัดจึงได้จัดทำบันทึกการเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากวิทยากรแต่ละท่าน
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (มูลินิธิโลกสีเขียว) #1
ทบทวนเรื่องมิติมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เหตุผลในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อ รับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงมากยิ่งขึ้น และให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่สถานการณ์ระดับโลกซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมารวบรวมและย่อยออกมา เพื่อใช้เป็นการสรุปฉบับย่อให้กับผู้บริหารในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในโลก ส่วนที่นับไม่ได้ก็จะมีเครื่องหมายคำถามไว้ มีหมวดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เราจะเห็นว่าโลกอยู่ตรงกลาง พยายามดูว่าโลกของเรา มีศักยภาพในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะให้อยู่ในสมดุลเพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของได้อยู่ในจุดไหน ถ้าอยู่ในกรอบสีฟ้า โลกจะมีกลไกที่ดูแลได้อยู่ แต่ถ้ามีการสะสมเลยไปอยู่ในสีเหลือง แปลว่าโซนนี้เริ่มไม่ปลอดภัยเริ่มผันผวนเริ่มควบคุมไม่ค่อยได้ ถ้าเลยมาสู่สีแดงจะคาดการณ์ไม่ได้เลย เกินความเข้าใจ ความรู้ ความสามารถของเราแล้ว ปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์
ปัญหาอันดับ 1 คือ เรื่องการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ถ้าย้อนไป 50 ปี เราเหลือ 1 ใน 3 ของประชากรของสัตว์ที่เคยมีใน 50 ปีก่อน สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อกำกับควบคุมเพื่อให้กลไกต่างๆ ในระบบนิเวศน์มีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้อันนี้รุนแรงที่สุด
อันดับสอง คือ เป็นเรื่องที่เราไม่พูดกันเลยในประเทศนี้ คือ ปัญหามลภาวะที่เกิดจากปุ๋ย วงจรไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เหล่านี้ล้วนมาจากการใช้ปุ๋ย มันชะล้างลงมามากมายทั้งแผ่นดิน และทะเล และทำให้เกิดโซนตาย มลภาวะทางทะเลมากมาย เป็นปัญหาใหญ่มาก ในต่างประเทศ ในยุโรปจึงมีกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลเรื่องนี้ และยังมีการบอกว่าไม่พอ
อันดับสาม เรื่องการทำลายถิ่นอาศัยทางธรรมชาติ ทำลายโครงสร้างระบบนิเวศน์ของพืช สัตว์ ถิ่นอาศัยทางธรรมชาติต่างๆ อันดับสี่ เรื่องโลกร้อน อันดับห้า คือ ทะเลจะเป็นกรด และอื่นๆ ที่เรายังไม่มีข้อมูล
อยากฉายให้ดูภาพรวมที่ใหญ่มากๆ เราคิดว่านี่คือสถานการณ์ของโลกซึ่งสอดคล้องกับประเทศเราด้วย แต่เราไม่ค่อยมีการเก็บข้อมูล วิกฤตขนาดไหน เราต้องเตือนว่านี่คือวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเจอ ความหลากหลายทางชีวิต ถิ่นที่อยู่อาศัย มลภาวะที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทางออกที่คนพูดถึงทั่วโลก ไม่ใช่เปลี่ยนเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนการออกแบบ เปลี่ยนมุมมอง และการออกแบบการพัฒนาต่างๆ ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เราต้องฟื้นฟูธรรมชาติให้มากที่สุด และต้องหยุดทำลาย ในเมืองก็แบบหนึ่ง ป่าเขา พื้นที่อนุรักษ์ก็อีกแบบหนึ่ง ชนบทอีกแบบ แต่ทั้งหลายคือการฟื้นฟูวิถีความหลากหลายทางธรรมชาติ ให้สอดรับกับนิเวศน์ท้องถิ่น เพื่อให้ธรรมชาติเกื้อหนุนเราได้ เราก็จะเรียกว่า ใช้ธรรมชาติให้มาช่วยเรา หาทางออกบนฐานธรรมชาติ
พอเรามาดู พ.ร.บ.ฉบับนี้ จุดประสงค์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ ถามว่าตอบโจทย์ไหม หาไม่เจอเลย พบว่า ปัญหาใหญ่อันหนึ่งคือ วิธีมองปัญหาสิ่งแวดล้อมของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คับแคบมาก และจำกัดมุมมองปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระบวนการแก้ไข เป็นแบบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแบบไม่มีชีวิต น้ำ อากาศ ดิน เป็นพิษไหม จึงเน้นเรื่องปัญหามันมีแต่เรื่องการปล่อยมลพิษเฉพาะจุด เพราะฉะนั้น ถ้ามองปัญหาแบบนี้ ก็เกิดความมั่นใจว่าแก้ไขได้ เพียงแค่มีเทคโนโลยีมาจำกัดไม่ให้มีการปล่อยออกไปข้างนอกถ้าคิดว่าปัญหาอยู่แค่นั้น มุมมองวนอยู่แค่นั้น มีการมองคุ้มครองบางพื้นที่ แต่จะมองไปที่ความหลากหลายทางชีวภาพ มองเป็นจุดๆ เป็นพื้นที่คุ้มครองแบบต่างๆ นาๆ เรามองเป็นจุดๆ แต่ที่อื่นๆ ก็แค่ดูแลไม่ให้โรงงานมาปล่อยมลพิษออกมา ไม่นำหลักการทางนิเวศน์มาดูแลพื้นที่อื่นๆ เลย เสมือนว่านิเวศน์ในพื้นที่อื่นๆ ไม่สำคัญกับการอยู่อาศัยเลย ก็เลยไม่มีการให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวหรือโครงสร้างทางนิเวศในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น เราต้องให้ค่ากับเขามาก ง่ายสุด คือ มองแม่น้ำถ้ามองแม่น้ำแค่ที่ลำน้ำส่งน้ำมาใช้ไม่ใช่สถานที่มีพลังในการควบคุมพื้นที่ เราก็คิดเพียงน้ำท่วมก็สายน้ำไม่เคยไหลเป็นเส้นตรง อันนี้เป็นธรรมชาติของมัน ต่อต้านไปก็ใช่เหตุ น้ำ แก่ง มีแอ่ง คอยรองรับสารอินทรีย์ พื้นที่ชายฝั่งเป็นที่ที่ปลาวางไข่ ตลิ่งชายฝั่งคอยยึดตลิ่งดูดซับสิ่งต่างๆ ถ้าเกิดเราปล่อยให้มีการฟื้นฟูทางธรรมชาติก็จะมีความมั่นคงทางอาหาร ที่สำคัญสำหรับคนเมืองที่เป็นห่วงน้ำท่วมคุณก็ต้องฟื้นฟูแก้มลิงตามธรรมชาติ ทั่วโลกพบว่า นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เมืองน้ำท่วม ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จึงมีการฟื้นฟูแม่น้ำ โครงสร้างระบบนิเวศ ล่นแนวของเมือง นิเวศน์ของแม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เปิดพื้นที่ให้แม่น้ำกว้างขึ้นได้ เป็นวิธีที่เรียกว่าให้ธรรมชาติเกื้อหนุนชีวิตของเรา ความหลากหลายก็เพิ่มมากขึ้น
พอมาดู พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงและหาปัญหาทางออกเหล่านี้เลย และไม่คิดถึงมลพิษที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่คนร่างกฎหมาย เรื่องอื่นๆ เราระบุว่าที่ไม่ระบุไว้ จะนำเข้าไปอยู่ในแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ แต่อันนี้คือปัญหาใหญ่อันหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ โครงสร้างของกฎหมายเน้นกลไก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 24 คน ไม่มีช่องทางอะไรเลยกับเรา มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะคิดถึงประเด็นอะไรเหล่านี้ กฎหมายแม่ยังไม่คิดถึง แค่นี้ก็แย่พอแล้ว กรรมการก็มีอำนาจเยอะมาก ทำแผน เสนอกฎหมายใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศพื้นที่ที่เคยคุ้มครองเป็นแรมซาไซด์ พื้นที่คุ้มครอง ก็มาเขียนยกเว้นกิจกรรมบางอย่างได้ ก็เหมือนไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลระบบนิเวศน์ทั้งที่ควรดูเป็นอันดับแรกและสิ่งอื่นต้องสอดคล้อง มันมีวิธีการอื่นๆ ตอนนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เยอะ แต่มันต้องอยู่ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทำลายธรรมชาติ
จึงขอสรุปว่ากฎหมายนี้ไม่ตอบโจทย์มุมมองไม่สามารถรองรับวิกฤตสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ได้และมันเอื้อประโยชน์เอื้อต่อความสะดวกสบายของนายทุนที่จะลงทุนทำลายได้ง่ายขึ้น ทางออก ความพิกลพิการของกฎหมายฉบับนี้คือจากฐานที่มอง จึงควรต้องรื้อและมาดูปัญหาจริงๆ ว่าสถานการณ์จริงคืออะไรเกิดขึ้น แล้วมาเขียนใหม่ เราต้องหยุดทำลาย และฟื้นฟูปัญหา
ติดตามอ่าน
บันทึกงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ #2
บันทึกงานเสวนาวิชาการ กฎหมายสิ่งแวดล้อม “คุ้มครองหรือลดทอน” มาตรการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ #3