บทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทาง EnLAW #1: จริงจัง นะแส

     ตลอดช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาในการดำเนินงานของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มีโอกาสได้ต้อนรับ ร่วมงาน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับสมาชิกหลายคนที่มีความตั้งใจและอุดมการณ์เดียวกัน คือเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในสังคมโดยใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือ
       และเพื่อเป็นการทบทวนเรียนรู้และก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยกัน EnLAW จึงขอชวนอ่านบทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทางที่ได้ร่วมงานกับ EnLAW ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร นักศึกษาฝึกงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งต่อองค์กร EnLAW การทำงานทางสังคม และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย 

————————————————————–


บทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทาง EnLAW #1: จริงจัง นะแส
      จริงจังได้มารู้จักกับ EnLAW จากเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับเธอ “ตอนเรียนป.ตรีอยู่สงขลา คือพ่อเป็น NGO อยู่ที่ภาคใต้ ทีนี้พ่อโดนคดีสลายการชุมนุมท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย ซึ่งพ่อคือหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ โดนตำรวจสลาย จากเหตุการณ์นั้น จะมีทนายจากสภาทนายลงไปช่วยทำคดีนี้ให้กับชาวบ้านทุกคนที่ถูกจับ” เวลาไปที่ศาล จริงจังจะได้พุดคุยกับทนายที่มาช่วย และหัวข้อการสนทนาก็มาถึงเรื่องของการฝึกงาน  ทนายได้แนะนำให้จริงจังมาฝึกงานที่ EnLAW แม้จริงจังจะไม่ได้มาฝึกงานที่ EnLAW ในช่วงระหว่างที่เป็นนักศึกษา แต่ได้เข้าฝึกงานที่ EnLAW เมื่อจบการศึกษา
       เมื่อเข้ามาทำงานที่ EnLAW จริงจังได้เรียนรู้การทำงานในองค์กร  “ด้วยความที่ EnLAW เป็นองค์กรเล็ก ๆ ทำให้สัมพันธภาพของเพื่อนร่วมงานมันจะไม่ใช่รูปแบบของผู้บังคับบัญชากับใต้บังคับบัญชาแบบที่โหดร้าย ในแง่ที่ว่าผมสั่งคุณต้องทำ อะไรแบบนี้นึกออกไหม ไม่ใช่บริษัทที่ว่าให้งานไปแล้ว วันที่เท่านี้ ๆ คุณต้องมาส่งผม แต่ว่าการทำงาน EnLAW ใช้การมีส่วนร่วม คือทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ เป็นน้องเข้ามาใหม่ก็พูดได้ น้องคิดอะไร น้องเห็นไม่เหมือนพี่ น้องก็พูดได้ คือมันทำให้รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วม แล้วมันก็จะอินกับประเด็นที่เราทำได้ง่าย ไม่ใช่ว่าพี่เลือกงานนี้แล้วโยนมาให้เราทำ คือเราจะรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้มันดีเหมือนกัน งานก็เป็นความคิดเห็นของเราเหมือนกัน คือน้องสามารถแสดงออกได้เต็มที่ คือเป็นข้อดีของความที่มันเล็ก”

   สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เพื่อผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว เราทำเพราะเรารู้สึกว่ามันต้องทำ

 
       นอกจากการให้โอกาสทางความคิดแล้ว EnLAW ยังให้โอกาสในการลองทำสิ่งต่าง ๆ กับคนที่เข้ามาทำงานอีกด้วย  “EnLAW เป็นพื้นที่ที่ ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ๆ หมายถึงว่าคุณไม่ต้องมีประสบการณ์ ขอแค่ว่าคุณสนใจ และมีใจอยากจะลอง อยากจะทำงานพวกนี้ เขาก็เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาส ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่ามีเรื่องให้เราเรียนรู้เยอะมาก ถ้าสนใจประเด็นไหน ก็บอก”  ในระหว่างอยู่ที่ EnLAW จากคนที่พูดน้อย จริงจังมีโอกาสได้ขึ้นไปพูดต่อหน้าชาวบ้านในการอบรม และถึงขนาดช่วยติดต่อให้จริงจังได้ไปลองช่วยในคดีอาญาที่จริงจังสนใจ แม้จะไม่ใช่ประเภทของคดีที่ EnLAW ทำ ซึ่งการเปิดโอกาสให้ลองทำสิ่งต่าง ๆ ของ EnLAW นี้ได้ผลักดันจริงจังให้เติบโต “มันทำให้เราได้พัฒนาตัวเองและทำในสิ่งที่เราคิดว่า เราไม่น่าจะได้ทำ” ซึ่งจากการทำงาน จริงจังยังพบอีกว่า แม้ EnLAW จะเป็นองค์กรที่มีขนาดเล็ก แต่ EnLAW ก็มีการประสานงานกับเครือข่ายและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้  “EnLAW ทำคดีสิ่งแวดล้อม คดีสิ่งแวดล้อมมันไม่มีทางใช้กฎหมายอย่างเดียวอยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องมาช่วย นักเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคระบาด ก็ต้องมาช่วย คือมันเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างนี้ใน EnLAW จะมีทีมทำงานอยู่แค่ไม่กี่คน แต่ว่าเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของ EnLAW มีเยอะ ก็เลยคิดว่า ตรงนี้ทำให้ EnLAW สามารถที่จะผลักประเด็น หรือว่าสื่อสารประเด็นต่อสาธารณะ ทำคดีที่ส่งผลต่อสังคมวงกว้าง”
 
        สำหรับปัญหาในการทำงานที่จริงจังพบเจอ เธอแบ่งมันออกเป็นสองส่วน คือปัญหาในตัวเนื้องานกับปัญหาในด้านตัวเอง สำหรับปัญหาในตัวเนื้องานนั้น ไม่ได้หนักหนาเกินไป “ถ้าเกิดว่าเป็นปัญหาในเนื้องานคือพี่ว่ามันแก้ไม่ยาก เพราะว่ามีทีม คือ EnLAW จะรู้สึกว่าเป็นทีมแล้ว ถ้าเราคิดไม่ออกเราก็คุยกับพี่ดูสิ” แต่กับอีกอัน ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากกว่า คือปัญหาภายในหรือปัญหาทางความรู้สึกนั่นเอง เพราะในหลาย ๆ สถานการณ์ที่ต้องเจอในการทำงานนั้น ก็ยากที่จะไม่รู้สึกท้อแท้และหดหู่  ซึ่งจริงจังก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง “เราทำเรื่องร้องเรียนไปที่หน่วยงานราชการแล้วหน่วยงานราชการต้องแก้สิ นึกออกไหม หมายถึงคิดแบบปกติ เช่นมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีคนทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน สัตว์ล้มตาย เราก็ทำหนังสือไปถึงหน่วยงาน เดี๋ยวหน่วยงานเค้าก็ลงมาตรวจสอบ เดี๋ยวหน่วยงานเค้าก็ลงมาแก้ไขจัดการกับคนที่ปล่อยไป ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นไง” แทนที่จริงจังจะรู้สึกแย่กับปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข เธอหันมาคิดหาวิธีอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหานั้น “คนทำงานอย่างนี้ต้องเยียวยาตัวเองด้วย หมายถึงว่าก็ต้องคิดว่า มันไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้โดยเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งแค่อันเดียว คือไม่ใช่ว่ายื่นหนังสือหนึ่งครั้งแล้วเขาไม่จัดการอะไรให้คุณ แล้วคุณก็ท้อแท้ คือมันไม่สามารถอยู่แบบนั้นได้ มันต้องคิดว่าอันนี้ไม่ได้แล้วเราทำอะไรได้อีกบ้าง คือรู้สึกว่าคนทำงานต้องมีความคิดสร้างสรรค์นะ ไม่ใช่ว่าเจอปัญหาแล้วก็จะหดหู่ คือต้องคิดสร้างสรรค์หาทางออกใหม่ ๆ อยู่ตลอด เพื่อให้สิ่งที่เราพยายามจะแก้มันเป็นจริง”

 
        ถึงแม้ว่าคดีหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ EnLAW ทำนั้นจะไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ภายใต้สิ่งที่ดูเป็นความล้มเหลว เช่น การแพ้คดีนั้น แท้จริงแล้วกลับได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม “พี่ ๆ เขาก็จะพยายามบอกว่า บางคดี แม้เราจะรู้ว่ามันไม่ชนะหรอก แต่เราก็ต้องฟ้อง ฟ้องไปเพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหา ฟ้องเพื่อให้ศาลเห็นหรือเพื่อให้สังคมเห็นว่าเรื่องนี้มันไม่มีทางออก ฟ้องเพื่อเผยแพร่ประเด็นนี้ออกไปเพื่อให้สาธารณะเห็น ว่านี่มันเป็นปัญหา” ถึงจะแพ้คดี แต่การทำงานร่วมกับชาวบ้านก็ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ในสิทธิของตัวเอง “ชุมชนที่เจอปัญหาอาจจะไม่เคยรู้เลยก็ได้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง เวลาที่เจอปัญหาเข้ามาละเมิดสิทธิตัวเอง อาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่า ตัวเองฟ้องได้นะ ตัวเองจัดการกับหน่วยงานรัฐที่ไม่ยอมทำหน้าที่ได้นะ เช่น ชาวบ้านบางคนไปศาลก็รู้สึกว่าต้องถอดรองเท้าไว้ข้างหน้า นึกออกไหม มันเป็นภาพของความเกรงกลัวอำนาจรัฐ ที่แบบตัวเองต้องเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวเองต้องฟังตามนั้น เขาบอกไม่ได้ก็คือไม่ได้ หรืออะไรแบบนี้” โดยการทำงานร่วมกับชาวบ้าน เช่น การอบรมนั้น อย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวบ้านรู้สิทธิของตัวเองมากขึ้น “เช่น ถ้าเราขอเอกสารมาฉบับหนึ่ง หน่วยงานรัฐบอกไม่มี ชาวบ้านก็จะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอุทธรณ์  คำตอบไม่มีของคุณถ้าเราไม่เชื่อเรามีสิทธิอุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คืออย่างน้อยเขาได้รู้สิทธิ” และที่สำคัญ “สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เพื่อผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินอย่างเดียว เราทำเพราะเรารู้สึกว่ามันต้องทำ”

      ซึ่งประสบการณ์การทำงานร่วมกับ EnLAW ได้ส่งผลให้จริงจังตัดสินใจศึกษาต่อในปริญญาโท  “EnLAW ทำให้คิดว่าการเรียนกฎหมายปกครองหรือว่ากฎหมายมหาชน มันสนุกกว่าเรียนกฎหมายอาญาหรือแพ่ง ทั้ง ๆ ที่ตอนป.ตรีพี่เบื่อมาก พี่ก็เลยคิดว่ามันสนุกกว่าที่เราจะไปอยู่ในกรอบของแพ่งหรืออาญา”
 

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด