บทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทาง EnLAW #2: มนทนา ดวงประภา

        ตลอดช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาในการดำเนินงานของมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มีโอกาสได้ต้อนรับ ร่วมงาน และเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับสมาชิกหลายคนที่มีความตั้งใจและอุดมการณ์เดียวกัน คือเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมในสังคมโดยใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือ
       และเพื่อเป็นการทบทวนเรียนรู้และก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยกัน EnLAW จึงขอชวนอ่านบทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทางที่ได้ร่วมงานกับ EnLAW ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร นักศึกษาฝึกงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งต่อองค์กร EnLAW การทำงานทางสังคม และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย 

————————————————————–

บทสัมภาษณ์เพื่อนร่วมทาง EnLAW #2: มนทนา ดวงประภา
     “ส่วนหนึ่งในการทำงานของ EnLAW ที่องค์กรอื่นจะไม่มี ก็คือเราจะถามต่อว่าชุมชนจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ยังไง” ปูบอก “เราจะพยายามตั้งคำถาม กับตัวกฎหมายที่เราจะไปสื่อสารกับชุมชน ว่าชาวบ้านหรือว่าชุมชน จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ได้ยังไง อันนี้ถือเป็นหัวใจของการทำงานใน  EnLAW เช่น หากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้อย่างไรเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้านั้นสามารถที่จะทำให้เกิดผลกระทบได้ทุกมิติ”
     ในทางหนึ่งสิ่งที่ EnLAW พยายามที่จะทำนั้นก็คือการทำให้คนได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีผ่านทางกฎหมาย “คือเราพยายามจะส่งเสริมให้ให้ชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี” และนั่นนำไปสู่คำถามที่ว่า “สุดท้าย ธรรมชาติกับคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร”
     ซึ่ง ในการที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้น สิ่งที่ต้องมีก็คือ การสื่อสารที่ดี “ในส่วนของตัวกระบวนการการทำงานของ EnLAW ที่ปูชอบและประทับใจก็คือ “เราพยายามสื่อสารกันสองฝ่าย ถ้าเราไปทำงานกับชุมชน เราต้องพยายามสื่อสารกับชุมชนว่าเรากำลังพยายามทำอะไรอยู่” ส่วนในตัวของปูนั้น “การทำงานของ EnLAW คือ การทำงานเป็นกลุ่ม เพราะประเด็นนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ไม่ยั่งยืน เราควรมีทายาทต่อไปเรื่อย ๆ เป็นการส่งต่อความคิดและถักทอสายไย”
     หลังจากการทำงานร่วมกับชุมชน การให้ความช่วยเหลือและความรู้ ก็จะมีจุดที่การตัดสินใจต้องตกอยู่ในมือของชุมชน “สุดท้ายแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ก็คือชุมชนนั่นแหละ คนที่จะแก้ปัญหา หรือคนที่จะตัดสินใจ ก็คือคนในชุมชน เรามีหน้าที่เพียงแค่ไปบอก ว่าขั้นตอนเป็นแบบนี้นะ คุณมีส่วนร่วมได้มากน้อยขนาดนี้นะ สุดท้ายแล้วเขาจะเป็นคนตัดสินใจเอง ว่าเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมชีวิตของเขาเองหรือเปล่า ซึ่งถ้าเกิดว่าเขาไม่ทำ เราก็ไปผลักดันอะไรไม่ได้ เราให้เครื่องมือ ส่วนเขาจะเป็นคนตัดสินใจเอง”
 

 
      การทำงานทำให้ปูมีการพัฒนาและเติบโตจากเดิม เนื่องจากว่าแนวคิดบางส่วนใน EnLAW นั้นเป็นแนวคิดที่ปูมีอยู่ในตัวอยู่ก่อน “ฐานความคิดของปูก่อนที่จะมาทำงานกับ EnLAW กับฐานความคิดของ EnLAW มันเป็นความคิดชุดเดียวกัน ตรงที่ว่า ‘การพัฒนา’ มันกดทับ แล้วก็ไม่ได้ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ได้เติบโต ซึ่งพอมาทำงานกับ EnLAW ความคิดเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยน แต่มันเป็นการยืนยันว่าข้อเท็จจริงตรงนี้ มันยังคงมีอยู่ในสังคมของเรา คุณทำงานมา 7-8 ปี ก็ยังเห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถที่จะส่งเสียงออกมาให้กับคนข้างนอกรู้ได้” ซึ่งสาเหตุที่ปูคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น ย้อนกลับไปสู่รากฐานของการพัฒนา “คำว่าการพัฒนา หรือที่เขาใช้กันอยู่ในบ้านเรา คือการพัฒนาในเชิงของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ถ้าคุณสามารถก่อให้เกิดการเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจได้ คุณทำไป” จากสิ่งที่ปูได้เห็นทำให้เธอเกิดความสงสัย “การพัฒนาตรงนี้ มันเชื่อมโยงทุกคนเข้ามาในส่วนของการพัฒนานั้นหรือเปล่า ? หรือมันตัดขาดคนออกไปจากการพัฒนานั้น ของเราตอนนี้พัฒนาเศรษฐกิจเป็นใหญ่ ตัดขาดคนออกไปจากการพัฒนาก็ได้ ขอแค่ให้เศรษฐกิจมันเดินไป”
      เมื่อต้องเจอปัญหาในการทำงาน ปูพยายามที่จะหาข้อมูลด้วยตัวเองก่อนที่จะไปขอคำปรึกษาจากพี่ ๆ ที่ EnLAW “มันเหมือนกับว่าคุณท้าทายตัวเองก่อนได้ไหม อย่างน้อยก็อ่านมาเพื่อที่เราจะได้เข้าใจ Concept ของมัน “คือพี่ก็จะเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน อ่านด้วยตัวเองก่อน แล้วสุดท้ายถึงจะมาแลกเปลี่ยนกับพี่ๆ”
      เมื่อได้ทำงานใกล้ชิดเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม  ทำให้ปูมีความรักในสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น แต่ความรักสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ใช่ทั้งหมด “คือเรียนรู้ที่จะรักสิ่งแวดล้อมได้นะคะ แต่ว่าสุดท้ายแล้วคุณเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันหรือเปล่า หมายความว่าเรารู้ว่าพลาสติก ขวดพลาสติก ถุงพลาสติกน่ะ มันไม่ดี สุดท้ายแล้ว เราจะนำมันไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราหรือเปล่า เรามีถุงผ้าอยู่ตลอดเวลาไหมเวลาเราไปตลาด หรือว่าเรามีขวด กระบอกน้ำอยู่ตลอดเวลาไหมเวลาเราออกนอกบ้าน ซึ่งอันนี้มันต่างกันนะระหว่าง การรู้ว่าสิ่งนี้แหละมันจะทำให้เกิดมลพิษ กับการใช้ชีวิตกับวิถีที่ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับมลพิษ” ซึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น “เริ่มจากตัวเราเอง เพราะสุดท้ายเราต้องไปบอกคน ธรรมชาติเป็นแบบนี้นะ การจะอยู่กับธรรมชาติ ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่ดีมีความเชื่อมโยงกัน แล้วสุดท้ายแล้ว ในชีวิตประจำวันของคุณปรับใช้ได้แค่ไหน”
      ซึ่งประสบการณ์การทำงานกับ EnLAW นั้นยังนำมาซึ่งโอกาสในชีวิตของปูได้เดินทางไปทำงานในค่ายที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นปูยังได้ทุนไปเรียนต่อในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา  ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ เป็นผลชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งของ EnLAW

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด