จากสถานการณ์ในรอบเดือนมกราคม 2561 เกิดปรากฏการณ์การใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนในนามกลุ่ม People Go Network ที่ออกมาเดินเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆจากรัฐบาล ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีนัยยะสำคัญที่ควรจะพูดถึงเพื่อสะท้อนอะไรบางอย่างให้สังคมได้รับรู้…
ตามที่เครือข่ายประชาชนในนาม People Go Network ได้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561–17 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ[1] เครือข่าย People Go ยังมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ข้ามประเด็นปัญหา คือไม่ได้เป็นการรวมตัวในกลุ่ม/องค์กรที่ทำงานหรือได้รับผลกระทบเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือประเด็นเดียวโดยเฉพาะ แต่เกิดจากการกลุ่ม/องค์กรที่มีพื้นฐานการทำงานในหลายประเด็น อาทิเช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ที่ดินป่าไม้ สวัสดิการของรัฐ หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นเหมืองแร่ เขื่อน โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น แต่ทั้งหมดรวมตัวกันภายใต้ความเห็นเรื่องการสนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมกัน[2]
โดยก่อนเริ่มกิจกรรมการเดิน เครือข่ายประชาชนในนาม People Go Network ได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อไม่ให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปได้โดยง่าย การปะทะกันของภาคประชาชนกับรัฐบาลเกิดขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) เมื่อรัฐบาลพยายามปิดกั้นและไม่อนุญาตให้ทีมเดินมิตรภาพที่ชุมนุมกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) จัดกิจกรรมเดินจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดขอนแก่น[3]
โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งการชุมนุมได้มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนในนาม People Go Network ระบุว่าการดำเนินกิจกรรมที่มีการจำหน่ายเสื้อ และการให้ประชาชนเข้าชื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อน จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ากิจกรรมการชุมนุมสาธารณะตามที่แจ้งไม่ใช่การชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่อยู่ในอำนาจของผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงจะดำเนินการต่อไปได้แต่มีลักษณะเป็นการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก่อน โดยให้ผู้ชุมนุมดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น จึงเป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพแสดงความคิดเห็น ทำให้ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการดำเนินการใดของ คสช. ได้เพราะเจ้าหน้าที่จะตีความถือว่ามีความผิดทางอาญาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไปเสียทั้งหมดอันเป็นการตีความบังคับใช้กฎหมายขัดต่อหลักนิติธรรมและเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควรแก่เหตุขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 มาตรา 26[4] ประกอบมาตรา 34[5] และ 44[6]
อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายไม่เห็นด้วย และเดินหน้าทำกิจกรรม เมื่อเจ้าหน้าที่สกัดไม่ให้มวลชนเดินผ่านออกไป ทางเครือข่ายจึงใช้วิธีแบ่งผู้ที่จะ “เดินมิตรภาพ” ออกเป็นกลุ่มๆละ 4 คน และเดินหลบออกไป และใช้วิธีเดินชุดละ 4 คน เพื่อไม่ให้ผิดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 โดยแต่ละชุดจะเดินประมาณ 5 กิโลเมตร และชุดต่อไปก็จะมาเดินต่อ โดยมีการจัดทีมเดินไว้ 6-7 ชุด สลับกันไป[7] แม้ขบวน “We Walk…เดินมิตรภาพ” จะออกไปเดินตามเจตนารมณ์ได้ แต่ก็ถูกคุกคามทั้งทางตรงอยู่ตลอดการเดินทาง เช่น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่เข้าไปเรียกหาแกนนำตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง ตอนเช้ามีการตั้งด่านตรวจบัตรประชาชนผู้ร่วมเดินและตรวจค้นรถสวัสดิการ มีการนำตัวบุคคลที่อยู่ประจำรถ 4 คนไปควบคุมตัวไว้ที่ อบต. ลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการสอบปากคำทั้ง 4 คนโดยไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วม มีการให้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ตลอดเส้นทางการเดินก็มีคนแปลกหน้าไม่บอกชื่อและที่มา ขับรถหลายคันติดตามขบวนเดินและมีการถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอขบวนเดินมิตรภาพอยู่ตลอด นอกจากนี้ ยังมีการกดดันวัดที่ขบวนเดินมิตรภาพจะเข้าไปพัก จนหลายวัดขอให้ขบวนเดินไม่เข้าไปพัก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความลำบากและเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ[8]
นอกจากนั้นรัฐบาลตอบโต้ปฏิบัติการของภาคประชาชนด้วยการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มเดินมิตรภาพจำนวน 8 คน นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐพยายามสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบอำนาจนิยมด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยครั้งนี้เป็นการใช้สถาบันทางกฎหมายที่เป็นทางการคือการใช้คดีอาญาเป็นเครื่องมือ น่าเชื่อได้ว่าการดำเนินคดีอาญาของรัฐบาลในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาชนยิ่งกว่าต้องการให้แกนนำทั้ง 8 ต้องรับโทษตามกฎหมาย การฟ้องคดีลักษณะนี้มีชื่อเฉพาะในทางวิชาการว่า “การฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของประชาชน” (Strategic Litigation Against Public Participation/SLAPP) เป้าหมายของการฟ้องคดีประเภทนี้ไม่ได้อยู่ที่การแพ้ชนะในชั้นศาลเท่ากับมุ่งขัดขวางการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของภาคประชาชนในเรื่องสาธารณะ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อขัดขวางกิจกรรมเดินมิตรภาพและเป็นการขู่ทางอ้อมว่าพวกที่เหลือก็อาจถูกดำเนินคดีเช่นนี้ได้[9]
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.61 เครือข่าย People Go ผู้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” พร้อมกับทนายความ ได้เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2), ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่ดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน ให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ภายหลังความพยายามปิดกั้นกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดสามวันที่ผ่าน ตั้งแต่วันที่ 20-22 ม.ค.61 ทางตัวแทนเครือข่าย และทนายความได้จัดทำคำฟ้องคดี คำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ยื่นต่อศาลปกครองกลาง ก่อนที่เวลาประมาณ 18.00 น. ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยระบุเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 26 ม.ค.61 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ก่อนการพิพากษา ในส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะเริ่มการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2561 เจ้าหน้าที่ได้สั่งการให้กลุ่มผู้ถูกฟ้องคดีกับพวกรื้อค้นเสบียง เสื้อผ้า สัมภาระ มีการถ่ายภาพบัตรประจาตัวประชาชน และสอบสวนผู้ฟ้องคดีกับพวก จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และอาจ มีการปิดกั้น ขัดขวางเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุม และน่าเชื่อว่าจะมีการปิดกั้น ขัดขวาง ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมได้รับความเสียหายต่อไปได้ และการมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวของศาลก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของ ผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการใดๆ อันเป็น การขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมภายในขอบเขตตามกฎหมาย ให้ผู้ถูกฟ้องคดีอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมจนถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุม แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดในการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะพิจารณากาหนดเงื่อนไข หรือมีคำสั่ง หรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอานาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้[10] คำสั่งของศาลปกครอง(คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 154/2561 ศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 26 มกราคม 2561) ดังกล่าวนี้นับว่าเป็นชัยชนะของประชาชนก้าวแรกในการยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากคำสั่งดังกล่าวศาลปกครองเปิดช่องไว้ในบรรทัดสุดท้ายว่าการชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองไปตลอดจนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เท่าที่ไม่ขัดต่อพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายอื่น ซึ่งกฎหมายอื่นก็คือคำสั่งหัวหน้าคสช. ด้วย เพราะฉะนั้นยังเปิดช่องอยู่ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. เพื่อจะห้ามการชุมนุมก็ยังทำได้อยู่
จากกรณีการเดินเพื่อมิตรภาพ การพยายามสกัดกั้นและคุกคามการใช้เสรีภาพดังกล่าวรัฐบาลทหารกำลังพยายามสื่อสารต่อสังคมไทยว่า “กฎหมายมีเนื้อหาสาระอย่างไรไม่สำคัญ เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายมีความหมายอย่างไร” ซึ่งในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่อนุญาตให้ประชาชนจัดกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” ได้ ในแง่นี้กฎหมายถูกอ้างเป็นฐานในการปิดกั้นและกดขี่การใช้เสรีภาพของประชาชน[11]
เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้จำกัดประเภทของการชุมนุมไว้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงมีอำนาจในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว การปฏิเสธว่าการชุมนุมอยู่นอกเหนือจากอำนาจของตนนั้น อาจถือเป็นการปฏิเสธการทำ “หน้าที่” ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2557 นั้นเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด กลายเป็นปัจจัยทางกฎหมายที่จำกัดและละเมิดซึ่งสิทธิข้างต้นเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ดังนั้นคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ และขัดต่อหลักนิติรัฐซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบทุกอำนาจ อย่างชัดแจ้ง[12]
สรุปได้ว่าการตีความบังคับใช้กฎหมายและอำนาจพิเศษต่างๆ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบการออกคำสั่ง การแจ้งความดำเนินคดี การเรียกรายงานตัวหรือพาเข้าค่ายทหาร การลงพื้นที่กดดันหรือติดตามสังเกตการณ์ในการทำกิจกรรมของประชาชน เพื่อข่มขู่ขัดขวางและห้ามปรามการเคลื่อนไหวส่งเสียงของภาคประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเอาไว้ในหลายมาตรา
ซึ่งในส่วนของคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 นี้เองจะเป็นคำสั่งที่มีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลใหม่ จนกว่า คสช. จะมีคำสั่งยกเลิก หรือรัฐสภาออกกฎหมายมายกเลิก ทั้งนี้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน[13] การจัดกิจกรรมของเครือข่าย People Go Network เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ที่ได้รับถูกรับรองไว้ใน มาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR))[14] การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของสาธารณะ การสาธารณสุข ศีลธรรมอันดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้นคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นเรื่องของการตัดสิทธิทางการเมืองทุกประการ ตั้งแต่ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจับกุม ควบคุมตัวบุคคลไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ไม่ต้องมีข้อกล่าวหา สามารถพาบุคคลนั้นไปยังที่ไหนก็ได้เพื่อทำการสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการได้รับการคุ้มครองด้วย ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุด และขัดต่อปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย
สุดท้ายนี้การจัดกิจกรรมของเครือข่าย People Go Network “We walk…เดินมิตรภาพ” ยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าจะเดินไปถึงจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้เพื่อยืนยันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมว่าเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งที่ประชาชนสามารถพึงกระทำได้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไม่ว่าสถานะบ้านเมืองจะตกอยู่ในรัฐบาลระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยก็ตาม…
“…เสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญ เพราะมีที่มาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นการถกเถียงกันด้วยสติปัญญา เพื่อนำมาซึ่งวิธีการแก้ปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งของสังคมในระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ชัดเจนขึ้นด้วย…”[15]
อ้างอิง
[1]5 องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการดำเนินคดีกับ 8 ตัวแทนเครือข่าย People Go network,สืบค้นจากเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=3969},สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[2] รู้จักเครือข่าย People Go ให้มากขึ้น: จากคำประกาศทวงสิทธิความเป็นพลเมือง สู่เดินมิตรภาพ,สืบค้นจากเว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=6031,สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[3] คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองคดีเดินมิตรภาพ : ผลิตผลของวัฒนธรรมทางกฎหมายที่มาจากเบื้องล่าง ,สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่,สืบค้นจากเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=3996,สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561
[4] มาตรา 26 การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง
[5] มาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น
[6] มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
[7] คสช.เพิ่มเพื่อน ให้ “เดินมิตรภาพ” !!??,สืบค้นจากเว็บไซต์ข่าวคมชัดลึก : http://www.komchadluek.net/news/scoop/310470 ,สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[8] 5 องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการดำเนินคดีกับ 8 ตัวแทนเครือข่าย People Go network,สืบค้นจากเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=3969},สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[9] คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองคดีเดินมิตรภาพ : ผลิตผลของวัฒนธรรมทางกฎหมายที่มาจากเบื้องล่าง ,สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่,สืบค้นจากเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=3996,สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561
[10] สรุปคำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการจัดชุมนุมสาธารณะในกิจกรรม we walk เดินมิตรภาพ, สืบค้นจากเว็บไซต์ : http://www.admincourt.go.th/admincourt/site/08news_detail.php?ids=16547 ,สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[11] เดินมิตรภาพ: ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมทางกฎหมายจากเบื้องล่าง,สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่,สืบค้นจากเว็บไซต์มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม : https://enlawfoundation.org/newweb/?p=3961,สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[12] แถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการชุมนุม “We Walk…เดินมิตรภาพ”, สืบค้นจากเว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=5982 .สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2561
[13] มาตรา 279 บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา ๒๖๕ วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทําตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่ง
ที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี
[14] ข้อ 19
- บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดนไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
ข้อ 21 สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำ มิได้นอกจากจะกำหนดโดย
กฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
[15] วรรคตอนหนึ่งจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555 หน้า 44 กรณีตำรวจสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับเต็ม: https://goo.gl/1EJzRe)