นักวิชาการพาทีมศึกษา หารือชาวบ้านคลิตี้ล่าง ‘ตะกอนตะกั่วจะทิ้งที่ไหน’
รายงานโดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
26 มกราคม 2557
ภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านรายละ 177,199.50 บาท และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน พืช และสัตว์ พร้อมทั้งจัดทำแผนงาน วิธีการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้านการจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่างทั้ง 22 ราย กรมควบคุมมลพิษได้ลงพื้นที่มอบเงินให้กับชาวบ้านทุกคนแล้วเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2556
ส่วนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณลำห้วยคลิตี้ กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพ ดิน น้ำ พืช และสัตว์ทุกระยะ 3 เดือน และนำผลการตรวจปิดประกาศในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้รับทราบและเผยแพร่ผ่านเวปไซต์ http://www.pcd.go.th/Download/pollution_kity.cfm
ส่วนการจัดทำแผนงาน วิธีการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ภายหลังมีคำพิพากษา กรมควบคุมมลพิษจึงได้งบประมาณเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ในเดือนสิงหาคม ต่อมาในเดือนตุลาคม โครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1) จึงถือกำเนิดและเปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อ กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ร่วมกับ ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 56 เพื่อชี้แจงต่อชาวบ้านคลิตี้ล่าง และคลิตี้บน ถึงวัตถุประสงค์ วิธีการศึกษาของโครงการ
โดยโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1) มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา 2 ข้อคือ
- เพื่อสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนที่แสดงการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมตะกอนดินท้องน้ำ น้ำและสัตว์น้ำ
- เพื่อหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยเพื่อฝังกลบตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่ว
ลำห้วยคลิตี้จะได้ฟื้นฟูหรือไม่ จึงต้องติดตามตรวจสอบ การศึกษาตามโครงการนี้ต่อไป
ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตรายได้ลงพื้นที่เพื่อ เพื่อสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนที่แสดงการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมตะกอนดินท้องน้ำ น้ำและสัตว์น้ำ
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยเพื่อฝังกลบตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่ว
ล่าสุด วันที่ 26 ม.ค. 57 รศ.ดร ธเรศ ศรีสถิตย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำทีมศึกษาลงหมู่บ้านคลิตี้เพื่อหารือกับชาวบ้านถึงพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำหลุมฝังกลบตะกอนตะกั่วที่ปนเปื้อน
รศ.ดร ธเรศ ศรีสถิตย์ ชี้แจงถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมจัดหาพื้นที่เหมาะสม ในการจัดทำหลุมฝังกลบตะกอนตะกั่วที่ปนเปื้อน ว่า การศึกษาตามโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1) ทำให้คาดการว่ามีตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วที่ต้องขุดขึ้นมาเพื่อฝังกลบประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณจำนวนมาก ดังนั้นการหาพื้นที่ที่เหมาะสม ในการจัดทำหลุมฝังกลบตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วจึงต้องเพียงพอที่จะรองรับปริมาณตะกอนตะกั่วทั้งหมดด้วย
ด้านตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา เสนอว่าชาวบ้านอยากให้นำตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วที่ขุดขึ้นกลับไปฝังกลบที่เหมืองแร่บ่องาม เนื่องจากเป็นเหมืองร้างที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย และมีบ่อขนาดใหญ่ที่อาจรองรับปริมาณตะกอนตะกั่วที่ขุดขึ้นมาได้ และประการสำคัญคือชาวบ้านเห็นว่าตะกอนตะกั่วควรจะกลับไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นที่มาของแร่ตะกั่ว ไม่ควรปะปนกับพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
รศ.ดร ธเรศ ศรีสถิตย์ ย้ำว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการหาพื้นที่เหมาะสมเพื่อจัดทำหลุมฝังกลบตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วจะออกมาเป็นที่ใด แต่กระบวนการขั้นตอนเพื่อจัดทำหลุมฝังกลบก็จะทำอย่างดี เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยที่สุด ซึ่งความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความรัดกุมทั้งในขั้นตอนการก่อสร้างหลุมฝังกลบและการติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งการเฝ้าระวังเห็นว่าควรทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านควรเข้ามามีส่วนร่วมตรงจุดนี้ ซึ่งพื้นที่ที่ชาวบ้านเสนอมาคือบริเวณเหมืองร้างบ่องาม ทีมศึกษาเห็นว่าน่าสนใจและศึกษาหาความเป็นไปได้ต่อไป
คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สังคมยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง มาตรการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษน้อย หากทีมศึกษาจะนำข้อมูลเปิดเผยหรือเผยแพร่ต่อสังคมว่ามาตรการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนที่ถูกต้องเป็นอย่างไรก็จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งทีมศึกษาเสนอความเห็นว่าควรจะเป็นบทบาทของกรมควบคุมมลพิษมากกว่า
หลังจากจบการพูดคุย ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้นำทีมศึกษาลงตรวจพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่ว ซึ่งพบว่ามีบริเวณหลายจุด