ถอนมายาคติการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยวิชาการแบบ Peer Review

โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
(เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559)

บทความวิจัยเกี่ยวกับการใช้ธรรมชาติบำบัดในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เรื่อง “Ten-Year Monitored Natural Recovery of Lead-Contaminated Mine Tailing in Klity Creek, Kanchanaburi Province, Thailand” ซึ่งมีผม เป็นผู้เขียนหลัก และเป็น Corresponding author โดยมี น้องพราว Ashijya Otwong(อ.ประจำ คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร) โบ๊ท Aphichart Chantharit (นิสิต ป.โท สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) และ Prof Gregory V. Lowry อาจารย์ที่ปรึกษาผมจาก Carnegie Mellon University เป็นผู้เขียนร่วมได้ตีพิมพ์ online ในแบบ advanced publication แล้วในวารสาร Environmental Health Perspectives ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ผมยุ่งใช้ได้เลยช่วงนี้ เลยเพิ่งจะมีโอกาสได้เขียน Note นี้ (ตอนตกเครื่องนี่แหละ) สำหรับผู้สนใจที่มาที่ไปของบทความนี้ และ ข้อสรุปที่สำคัญบางประการ ขอแบ่งเป็นหัวข้อสั้นๆดังต่อไปนี้ครับ

ถุงเก็บตะกอนริมลำห้วย และการดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)


ทำอย่างไรจะข้ามจากวิชาการวาทะกรรม…..สู่วิชาการที่รับผิดชอบ แรงบันดาลในการทำงานวิจัยนี้ก็เพื่อผลักดันให้ประเทศเราใช้งานวิชาการในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ อย่างเป็นมืออาชีพและมีความรับผิดชอบมากขึ้น หลายต่อหลายครั้งครับในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อมที่กระทบสุขภาพชุมชนที่ ผม และ นักวิชาการท่านอื่นๆ ต้องถกเถียงกับนักวิชาการบางท่าน ที่มีความเชื่ออีกแบบ เช่น ธรรมชาติบำบัดสามารถใช้ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ได้ หรือ ลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนอยู่แล้วตามธรรมชาติไม่สามารถฟื้นฟูได้ ทำการฟื้นฟูไปก็เสียงบประมาณเปล่าๆ อพยพคนออกดีกว่า ซึ่ง ผมรู้ดีกว่าสิ่งที่ท่านนักวิชาการเหล่านั้นเชื่อไม่น่าจะถูกต้องทางวิชาการ และเป็นการกล่าวอ้างแบบลอยๆ ก็เถียงกันไปกันมา แต่ท้ายที่สุด เราทั้งคู่ก็เถียงกันบนหลักความเชื่อของตนเอง แม้เราจะเป็นนักวิชาการ แต่สิ่งเที่เราเถียงกันและใช้ในการตัดสินชีวิตชุมชนคือ ความเชื่อ ไม่ใช่วิชาการ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าต้องเริ่มจากตนเองก่อนคือ ทำงานวิชการของเราให้เป็นมืออาชีพและมีความรับผิดชอบก่อน แล้วนักวิชาการท่านที่เห็นแย้งกับเราก็ต้องแย้งแบบมืออาชีพและมีความรับผิดชอบในระดับเดียวกันกับเรา เลิกการถกเถียงแบบวาทะกรรม แล้วมาถกเถียงบทพื้นฐานวิชาการจริงๆดีกว่าว่างั้น
กระบวนการ Peer Review คืออะไร วิชาการจริงๆสำหรับผมที่เรียกได้ว่าโตมากรับการวิจัยแบบอเมริกัน คือการคัดกรองคุณภาพผลงานวิจัยผ่านกระบวนการ Peer Review กระบวนการ Peer review คือกระบวนการประเมินคุณภาพบทความทางวิชาการ โดยผู้ประเมินคุณภาพบทความที่วารสารวิจัยเลือกแล้วว่ามีความรู้จริงให้มาประเมินบทความวิจัยของเรา แบบไม่เกรงใจ โดยที่เราไม่รู้ว่าเค้าเป็นใคร (แต่จริงๆก็พอเดาได้) เราจะไม่มีทางตีพิมพ์อะไรที่หลักลอย ไม่มีหลักฐาน ไม่ทำวิจัยให้ประจักษ์ หรือ สรุปไม่ตรงกับผลวิจัย ได้เลย เพราะกระบวนการ peer-review ของวารสารวิชาการจะ “ทุบ” (Hammer) ผู้ที่คิดจะใช้วิชาการอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซะยับ และบทความวิจัยหากมีลักษณะไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นก็จะถูก Reject คือถูกปฏิเสธไม่ให้ตีพิมพ์ หรือถูกทิ้งลงถังนั้นเอง แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการต่างๆ….ใครอยากจะพูดอะไรก็ได้ เพราะไม่ได้มีกระบวนการ Peer Review นี่เอง เราถึงเห็นมติการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แปลกๆ และค้านตรรกะแบบน่าประหลาดในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีการปนเปื้อนสารอันตราย ไม่ใช่แค่กรณีคลิตี้น่ะครับ สารพัดเหมือง ที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะวิชาการแบบวาทะกรรมทำมาทั้งสิ้น
ไม่ใช่แค่ชุมชนที่เป็นเหยื่อของวิชาการที่ไม่รับผิดชอบ….บางครั้งหน่วยงานรัฐก็ไม่รอด ตัวอย่างชัดๆ ก็คือที่มาของบทความวิจัยนี้แหละครับ การใช้ธรรมชาติบำบัดในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งหลายคนตำหนิกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แม้ คพ.ถูกภาคประชาสังคมฟ้อง แต่จริงๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากนักวิชาการที่ให้ความเห็นว่าควรใช้ธรรมชาติบำบัดในการฟื้นฟูตะกั่วที่ปนเปื้อนกับหางแรงในระดับที่สูงถึงหลัก 100,000 mg/kg ซึ่งหากเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หรือ การฟื้นฟุพื้นที่ปนเปื้อนมาก็จะรู้ว่าโอกาสเป็นไปได้แทบไม่มีเลย และธรรมชาติบำบัดจะเหมาะสมกับกรณีที่ความเสี่ยงต่ำและระยะเวลาในการฟื้นฟูไม่ยาวนานเกินไป และต้องมีการประเมินและทำแบบจำลองก่อนการตัดสินใจเลือกใช้ ซึ่งไม่พบหลักฐานว่านักวิชาการที่เสนอแนะให้ คพ ใช้ ธรรมชาติยบำบัดนั้นทำการประเมินตามหลักวิขาการสากลดังกล่าว ก่อนการเสนอให้ คพ ตัดสินใจใช้ธรรมชาติบำบัดฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ แม้ผ่านไปหลายสิบปีวาทะกรรมคลิตี้ปนเปื้อนตามธรรมชาติและธรรมชาติบำบัดสามารถฟื้นฟูคลิตี้ได้ก็ยังคงอยู่ ยังจะเห็นจากแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งแบ่งลำห้วยคลิตี้เป็น 7 ช่วยและจะใช้ธรรมชาติบำบัด 5 ช่วง และขุดลอก 2 ช่วง ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ผมยังนั่งเถียงกับนักวิขาการ 3 ท่าน อาจารย์ 2 ท่าน และ ข้าราชการ 1 ท่านว่าลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนตามธรรมชาติหรือเกิดจากเหมือง และ ควรหรือไม่ควรฟื้นฟูด้วยกาขุดลอก ผลก็คือ 3 (คลิตี้ปนเปื้อนตามธรรมชาติ ฟื้นฟูไม่ได้) ต่อ 1 (ก็ผมนี่แหละ) ทำให้ คพ บอกว่าไม่รู้จะเชื่อใครดี เพราะหากอิงตามหลักเสียงส่วนใหญ่ก็แปลว่าไม่ต้องฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (การตัดสินใจซ้ำ 10 ปีที่แล้ว!) แต่ คพ เองก็รู้ว่าคำตอบเสียงส่วนใหญ่นั้นไม่ถูกเพราะเคยเลือกคำตอบนั้นจนศาลต้องสั่งใฟ้ฟื้นฟูมาแล้ว แม้นผ่านไปเป็น 10 ปี วาทะกรรมนี้ก็ยังคงอยู่…ซึ่งทำผมรำคาญระดับหนึ่งเลยทีเดียว หากใครอยู่ในที่ประชุมวันนั้น คงจำได้ว่า เถียงวิชาการกันจนเริ่มขึ้นเสียงกันแล้ว 555
เริ่มที่ตัวเองก่อน เพื่อทำให้การถกเถียงทางวิชาการกรณีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนแบบเป็นมืออาชีพ และ มีความรับผิดชอบ มากขึ้น ผมจึงเลือกที่จะเริ่มที่ตัวเองก่อน โดยส่งบทความวิชาการลงตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives โดยเชื่อว่าเป็นวารสารที่ดีที่สุดในโลกด้าน สุขภาพจากสิ่งแวดล้อม (Environmental Health) ด้วย Impact Factor = 7.98 สูงที่สุดเท่าที่ผมทราบในบรรดาวารสารวิชาการในสายนี้ (อย่างไรก็ดี EHP บอกว่าเค้าเป็นวารสารวิชาการอันดับ 2 ของโลกด้านพิษวิทยา, อันดับ 3 ของโลกด้านสาธารณะสุข สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม และ การประกอบอาชีพ, อันดับ 4 ของโลกด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ก็ตามนั้นครับ) ผมไม่เคยส่ง EHP มากก่อน ส่วนมากจะตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology (ES&T) (IF = 5.33) ซึ่งก็ขึ้นเชื่อว่ายากและหลายคนว่าเป็นวารสารอันดับหนึ่งของโลกด้านวิทยาการสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ES&T ยังตีพิมพ์ง่ายกว่า EHP เยอะ เพราะจากสถิติในงาน 100 ชิ้นที่ส่งเพื่อขอตีพิมพ์ใน EHP ผลงาน 87 ผลงานจะถูกปฏิเสธ และ แค่ 13 บทความจะได้รับการตีพิมพ์ ถามว่าผมมั่นใจไหมว่าจะได้รับตีพิมพ์ใน EHP คำตอบก็คือไม่เลย แต่ต้องส่งวารสารที่ดีที่สุดก่อน เพื่อให้ได้การประเมินคุณภาพที่เข้มที่สุด เพื่อให้งานวิชาการที่ใช้เพื่อฟื้นฟูลำหัวยคลิตี้เข้มที่สุดดีที่สุดที่ผมจะมีความสามารถทำได้
ขอผู้ประเมินบทความที่เก่งที่สุดมา….. เพื่อให้ผลงานถูกต้องมากที่สุด ผมจึงเสนอให้วารสารเลือกผู้ประเมินคุณภาพบทความของผม 3 ท่าน โดยท่านหนึ่ง เคยมาเมืองไทยมาทำเรื่องคลิตี้ ประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพและสิทธิชุมชน ซึ่งผมได้เจอโดยบังเอิญ 1 ครั้ง ส่วนอีก 2 ท่านนั้นผมไม่เคยรู้จักมาก่อนแต่เคยอ่านบทความวิชาการของท่านทั้ง 2 และ ท่านทั้ง 2 นี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นมือ 1 ของโลกด้านธรรมชาติบำบัดของตะกอนที่ปนเปื้อนโลหะหนัก และ ด้านธรรมชาติบำบัดของตะกอนที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์อันตราย ซึ่งจากการอ่านผลการประเมินและคำถามที่ท่านทั้ง 2 ให้มา ทำให้ผมมั่นใจว่าผมได้ท่านทั้ง 2 มาเป็นคนอ่านและประเมินบทความแน่นอน คำถามของ 2 ท่านที่ที่ผมต้องตอบเพี่อให้มั่นใจว่าบทความถูกต้องนั้นตอบได้ยากมาก และเป็นคำถามเชิงเทคนิคที่ลำลึกมาก ผมใช้เวลาตอบคำถามที่ท่านผู้ประเมินทั้ง 2 ท่านนี้ถามถึง 4 เดือนเต็มๆ (ปกติไม่เคยใช้เวลาเกิน 0.5 เดือนในการตอบคำถามผู้ประเมินบทความ) สืบเนื่องจากคำถามและข้อเสนอแนะของผู้ประเมินบทความทำให้ผมต้องทำแบบจำลองเพิ่มขึ้นหลายอย่างเรียกได้ว่าบทความวิจัยนี้บทความเดียวจริงๆแบ่งเขียนได้ 2 บทความเลยทีเดียว ด้วยต้องทำการประเมินเพิ่มไม่งั้นจะไม่สามารถตอบคำถามของผู้ประเมินได้ บทความนี้จึงเป็นบทความที่โหดที่สุดในกระบวนการ Peer Review ที่เคยผ่านมา หลังจากตีพิมพ์บทความวิจัยนานาชาติไปแล้ว 30 บทความ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นผมมั่นใจว่าผมทำอย่างดีที่สุดแล้วใจการทำงานวิจัยกรณีคลิตี้และธรรมชาติบำบัดให้มีความรับผิดชอบและเป็นมืออาชีพที่สุดที่ผมจะทำได้

ผลการเฝ้าระวังการปนเปื้อนมีเยอะแต่ไม่มีการแปลผล งานวิจจัยนี้ผมใช้ข่อมูลหลายพันข้อมูลมาทำแบบจำลองและการประเมินทางสถิติและเคมีธรณีเพื่อทำการตอบคำถามว่าธรรมชาติบำบัดใช้ในการฟื้นฟูได้หรือไม่ โดยเป็นบทความวิจัยที่ผมใช้งบประมาณทำน้อยสุดเลย ต่อลงทุนทำวิจัยเพื่อเติมเต็มแค่ 2 ชุดข้อมูล ที่เหลือหลายพันชุดข้อมูลมาจากการติดตามการปนเปื้อนของตะกอนท้องน้ำและน้ำในลำหัวยคลิตี้ที่มีแต่การเก็บผล แต่ไม่เคยมีใครแปลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เลย จริงๆแล้ว ผู้บริหาร คพ เคยเรียกผมเข้าไปหาและขอให้ช่วยทำการศึกษาการฟื้นฟูลำหัวยคลิตี้ (รอบปี 2557) ในฐานะที่ปรึกษา(งานจ้างที่ปรึกษา) แต่ด้วยเหตุผลหลายประการทำให้ผมต้องปฏิเสธการเป็นที่ปรึกษาให้ คพ ในการศึกษาวิธีฟื้นฟู แล้วมาทำงานในฐานะกรรมการวิชาการฝ่ายประชาชนแทน (ซึ่งไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆเลย) ซึ่งผู้ทำงานภาคประชาชนหลายคนกังวลที่ผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง ผลจะเชื่อถือได้หรือไม่ ผมก็แจ้งว่า ผลการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ผมเชื่อว่าที่ปรึกษาไม่ว่าบริษัทไหน หน่วยงานใดก็ทำได้ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ การแปลผลต่างหากที่สำคัญ การแปลผลเป็นองค์ความรู้ และเป็นสิ่งที่ประกอบการตัดสินใจ ผลการเก็บตัวอย่างไม่ใช่หัวใจ การเอาผลที่ถูกต้องมาแปลผลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่างหากคือหัวใจหลัก ผมจึงนำผลทั้งหมดนับ 10 ปีที่ คพ ติดตามการปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งผลปี 2557 มาทำแบบจำลองซึ่งกลายเป็นบทความวิจัยนี้ ลงทุนน้อยสุดในประสบการณ์วิจัยที่ผ่านมา 10 ปี ซึ่งผลทั้งหมดเป็นผลที่ตีพิมพ์สู่สาธารณะแล้วใครก็สามารถนำมาต่อยอดทำวิจัยได้ โดยจากการวิจัยมีประเด็นทางวิชาการที่น่าสนใจดังนี้ครับ
ลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนตามธรรมชาติแค่นิดเดียว ความเสี่ยงจริงๆมาจากการทิ้งกากแร่ลงลำห้วย มีวาทะกรรมที่ว่าลำห้วยคลิตี้อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่ คนไม่ควรเข้าไปอยู่เพราะปนเปื้อนตะกั่วตามธรรมชาติเยอะอยู่แล้วจนคนอยู่อาศัยไม่ได้จะเจ็บป่วย (เป็นตรรกะที่ได้ยินสำหรับหลายๆเหมืองไม่ใช่แค่คลิตี้) นักวิชาการบางคณะบอกว่าคลิตี้ปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนสูงถึง 40,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมตามธรรมชาติ ในขณะที่ค่าที่ยอมรับได้คือ 140 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ตอกย้ำว่าลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสูงตามธรรมชาติ การปล่อยหากแร่ตะกั่วลงมานั้นไม่ได้ทำให้ห้วยปนเปื้อนมาขึ้นเลยว่างั้น ในขณะที่ชุมชนก็ว่าอยู่กันมาเป็นร้อยปีไม่เคยป่วย มาป่วยตอนมีโรงแต่งแร่ตะกั่วนี่แหละ งานวิจัยของเราทบทวนผลการวิเคราะห์ความเข้มข้นตะกั่วในตะกอนของลำห้วยสาขา ต้นน้ำลำห้วยคลิตี้ก่อนถึงโรงแต่งแร่ และท้ายน้ำที่ไกลหากจาการปนเปื้อนมากๆ โดยใช้ผลการเก็บตัวอย่าง 5 ครั้งจากปี 1998 ถึง 2014 รวม 27 ตัวอย่างพบว่าตะกั่วปนเปื้อนในตะกอนตามธรรมชาติของลำห้วยคลิตี้ มีค่าเฉลี่ยของตะกั่ว = 212 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมตามธรรมชาติ และค่าการปนเปื้อนสูงสุด 95% แรก (95% Upper Confidential Level) = 563 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ไม่ใช่ 40,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ตามที่มีการอ้างถึงในการประชุมคณะกรรมการแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีตะกอนลำห้วยคลิตี้ตามธรรมชาติปนเปื้อนตะกั่วสูงกว่าพื้นที่อื่นๆจริงเพราะจากการสำรวจตะกอนในประเทศไทยพบว่าปนเปื้อนตะกั่วเฉลี่ย = 17.5 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม และ ค่าการปนเปื้อนสูงสุด 95% แรก = 55 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม แปลว่าพื้นที่คลิตี้เป็นพื้นที่ปนเปื้อนตามธรรมชาติด้วยเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่จริง แต่การปนเปื้อนสูงสุดแค่ประมาณ 563 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม เท่านั้นโดยเป็นตะกอนตะกั่วคาร์บอเนต ในลำหน้ำที่มีความเป็นคาร์บอเนตสูงตะกั่วรั่วไหลอยาก และหากเรานำผลการปนเปื้อนตะกอนมาหาความสัมพันธ์การปนเปื้อนตะกั่วในน้ำและในปลา แล้วนำมาเข้าแบบจำลองประเมินตะกั่วที่จะเข้าสู่ร่างกายของชาวคลิตี้ โดยคำนึงถึงเด็กเป็นหลัก (เพราะเด็กอ่อนแอสุดและได้รับผลกระทบจากตะกั่วรุนแรงกว่าผู้ใหญ่มาก) จะพบว่าการปนเปื้อนตะกั่วตามธรรมชาติประมาณ 563 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ทำให้มีเด็ก 7 คน จาก เด็ก 100 คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับลำหัวยมีค่าตะกั่วในเลือดเกินค่าที่ยอมรับได้คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งค่าที่ยอมรับได้คือสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่อาศัยไม่ควรมีเด็กเกิน 5 คนจาก เด็ก 100 มีค่าตะกั่วในเลือดเกินค่าที่ยอมรับได้คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ก็จะเห็นได้ว่าลำห้วยคลิตี้แม้นจะปนเปื้อนตามธรรมชาติจริงแต่ก็ทำให้ความเสี่ยงของเด็กเพิ่มขึ้นมาแค่ 2% เท่านั้น ไม่ใช่สภาวะสิ่งแวดล้อมที่อยู่ไม่ได้เลย ในขณะที่การปนเปื้อนจากการทิ้งหางแร่ปนเปื้อนตะกั่วลงลำหัวยทำให้ตะกอนปนเปื้อนตะกั่วสูงสุดถึง 160,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ซึ่งหากไม่ฟื้นฟูเด็ก 100 ละ 100 จะเสี่ยงต่อการมีตะกั่วในเลือดเกินค่าที่ยอมรับได้ หรือหากฟื้นฟูให้ตะกอนปนเปื้อนตะกั่วเหลือ 40,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม (ตามที่นักวิชาการท่านหนึ่งเสนอ) ก็ยังพบว่าเด็กกว่า 99% เสี่ยงต่อการมีตะกั่วในเลือดเกินค่าที่ยอมรับได้ แล้วจะฟื้นฟูไปทำไม? การฟื้นฟูไม่ใช่แค่การตักตะกอนออก แต่ต้องทำให้มั่นใจว่าตะกั่วในตะกอนจะเหลือคงค้างไม่เกิน 563 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม การฟื้นฟูถึงจะสัมฤทธิผลและช่วยชุมชนได้คุ้มค่างบประมาณจากเงินภาษี (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “Background Pb Concentration
in Uncontaminated Sediment of Klity Creek” และ “Appropriate and Achievable Remedial Action Goal and Clean-up Level”)
การทิ้งหางแร่ลงลำห้วยทำให้ตะกั่วละลายรั่วไหล ผมเคยเสนอทฤษฎีว่าการทิ้งหางแร่จากการแต่งแร่ลงลำห้วยนั้นทำให้ตะกั่วรั่วไหลจากหางแร่ได้ง่ายและอันตรายมาก ซึ่งต่างจากตะกั่วตามธรรมชาติ ด้วยตะกั่วตามธรรมชาติในบริเวณคลิตี้ หรือ จากเหมืองบ่องามเป็นตะกั่วคาร์บอเนต หากไหลลงไปในลำห้วยคลิตี้ซึ่งมีคาร์บอเนตสูงอยู่แล้วก็จะไม่ค่อยละลายน้ำเพราะคาร์บอเนตเยอะทำให้แร่คาร์บอเนตอิ่มตัวไม่ละลาย อย่างไรก็ดีการลอยแร่ตะกั่วนั้นใส่สารเคมีเพื่อเปลี่ยนตะกั่วคาร์บอเนตให้เป็นตะกั่วซัลไฟด์ ซึ่งเมื่อทิ้งแร่ซัลไฟด์ลงลำห้วยที่มีออกซิเจน จะเกิดการละลายของแร่เรียกว่ากระบวนการ Oxidative Dissolution ซึ่งทำให้ตะกั่วรั่วไหล ละลายน้ำเป็นอันตรายมากขึ้น ผมเคยนำเสนอทฤษฎีนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ ตอนจัดประชุมฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่ ม.นเรศวร ตอนนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งเป็น รศ ด้วยธรณีวิทยา ก็ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่าทฤษฎีที่ผมเสนอเป็นไปไม่ได้ ใช้เวลาเป็นล้านปีกว่าจะเกิด ซึ่งผมก็แย้งกลับว่ามีงานวิจัยหลายสิบงานที่ตีพิมพ์และสอดคล้องกับทฤษฎีที่ผมเสนอ เราก็เถียงกันอยู่พักหนึ่ง ก็มีข้าราชการท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นแทรกโดย บอกว่าตนเคยเรียนธรณีวิทยามาและคิดว่า รศ ด้านธรณีท่านนั้นถูก ส่วนผมผิด ผมก็ว่ามีบทความวิชาการเป็นสิบที่ตีพิมพ์ผ่านกระบวนการ Peer Review และสอดคล้องกับทฤษฎีผม ท่านทั้งสองก็ไม่เชื่อ ผมเลยโดนน๊อก กลางเวธีเสวนา โดยเสียงข้างมาก! ในบทความวิชาการนี้เราตีพิมพ์ทฤษฎีนั้นเพื่อยืนยันความถูกต้องของทฤษฎี และอย่างที่ได้แจ้งให้ทราบก่อนหน้าว่าผู้ประเมินคุณภาพบทความของเราเป็นอาจารย์นักธรณี และเป็นเบอร์หนึ่งด้านธรรมชาติบำบัดโลหะหนักในลำห้วย และเราลงตีพิมพ์ในวาสารอันดับตันๆของโลก หวังว่าจะทำให้ท่านทั้งสอง และท่านอื่นๆที่อาจจะมีความเชื่อแบบที่เคยเรียนมาพิจารณาความเป็นไปได้นี้ ว่าหางแร่ ไม่เหมือนแร่ ทิ้งผิดที่ จัดการไม่เหมาะสมไม่ได้ ประชาชนจะเดือนร้อน (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “Evidence of LCMT Transformations in Klity Creek over 16 Years”)
ธรรมชาติบำบัดไม่มีทางใช้ได้ที่ลำห้วยคลิตี้ เรานำผลการติดตามการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ทั้งในน้ำ และ ในตะกอนในรอบ 10 ปีมาทำการประเมินด้วยแบบจำลอง พบว่าธรรมชาติบำบัดไม่มีทางฟื้นฟูการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนตั้งแต่ช่วง KC2 ถึง KC 7 ได้ (ประมาณ 18 กิโลเมตรแรกของลำห้วย) สาเหตุหลักที่ธรรมชาติบำบัดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะยังมีแหล่งที่ฝังหางแร่ไว้อย่างไม่เหมาะสมหลายแหล่งต้นน้ำของลำห้วยและตลอดลำห้วยทำให้ตะกั่วรั่วไหลลงมาปนเปื้อนลำห้วยได้เรื่อยๆ ทั้งดินตรงตลิ่งน้ำท่วมถึงก็ปนเปื้อนตะกั่วสูงเมื่อฝนตก น้ำท่วมตะกอนปนเปื้อนก็ไหลไปทำดินบนตลิ่งปนเปื้อน หากฝนตกใหม่ๆน้ำไหลก็จะชะตะกั่วปนเปื้อนในดินตรงตลิ่งลงมาปนเปื้อนตะกอนทิ้งน้ำเป็นวัฎจักรแห่งการปนเปื้อนที่ไม่จบง่ายๆ ธรรมชาติบำบัดมีแนวโน้มจะบำบัดการปนเปื้อนตะกั่วในตะกอนที่จุด KC8 เป็นต้นไปได้ (ตั้งแต่ประมาณกิโลเมตรที่ 19 เป็นต้นไป) เพราะหากจากบริเวณที่มีการฝังกากแร่อย่างไม่เหมาะสม และดินบริเวณตลิ่งไม่ปนเปื้อนมากนัก อย่างไรก็ดีแบบจำลองประเมินว่าต้องใช้เวลาถึง 377±76 ในการฟื้นฟูตามธรรมชาติ (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “Analysis of MNR of Pb in Sediment”)

การดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)

แผนขุดลอกลำห้วยคลิตี้ 2 ช่วง จาก 7 ช่วง และการวางแผนใช้ธรรมชาติบำบัดกับอีก 5 ช่วงที่เหลือ เหมาะสมทางวิชาการจริงหรือ? จากผลการวิจัยของเราจะเห็นได้ว่าแผนการฟื้นฟูที่จะแบ่งลำห้วยเป็น 7 ช่วงและขุดลอก 2 ช่วง คือช่วงที่ 2 และ 6 ส่วนช่วงที่ 3 4 5 ไม่ทำการขุดลอกนั้น แต่ใช้ธรรมชาติบำบัดนั้น ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง เพราะตะกอนจากช่วงที่ 3 4 5 อาจจะไหลลงมาปนเปื้อน ช่วงที่ 6 ที่ขุดลอกไปแล้ว ทำให้เข้าใจผิดได้ว่าปนเปื้อนตามธรรมชาติ ฟื้นฟูไม่ได้ แต่จริงๆเป็นเพราะวางแผนไม่เหมาะสม ในทำนองเดียวกัน แผนการขุดลอกนั้นจะไม่ทำการขุดลอกดินตรงตลิ่งที่น้ำท่วมถึง แต่จะขุดแค่ตะกอนท้องน้ำเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ หลังจากขุดลอกตะกอนท้องน้ำแล้ว ดินจากตลิ่งจะไหลลงไปทำให้ตะกั่วปนเปื้อนอีก เพราะดินบริเวณตลิ่งนั้นปนเปื้อนสูงอยู่แล้ว ทำให้เข้าใจผิดได้ว่าธรรมชาติทำปนเปื้อน ไม่สามารถฟื้นฟูได้ อันตราย การวางแผนต้องรัดกุมรอบครอบ เพราะหากฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ไม่ได้จะเป็นข้ออ้างในการไม่ฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนอื่นๆได้ และวาทะกรรมที่ว่าเป็นการปนเปื้อนตามธรรมชาติมิอาจฟื้นฟูได้ ต้องอพยพคนออก หรือเปลี่ยนอาชีพ ก็จะกลายเป็นวาทะกรรมที่มีน้ำหนักขึ้นแม้ว่าการแปลผลดังกล่าวจะไม่มีท่างผ่านกระบวนการ Peer Review เลยก็ตาม (อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “Conclusion and Future Perspectives”)
 
ที่มา: Facebook – Tanapon Phenrat
ดาวน์โหลดบทความวิชาการ “Ten-Year Monitored Natural Recovery of Lead-Contaminated Mine Tailing in Klity Creek, Kanchanaburi Province, Thailand” ได้ที่: https://ehp.niehs.nih.gov/doi/10.1289/ehp215

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด