มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ชาวบ้านชุมชนตำบลหนองแหน ฉะเชิงเทรา ยื่นฟ้องกรมโรงงานฯและกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง เหตุละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ในการจัดการแก้ไขฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมลงสู่น้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พร้อมเรียกค่าเสียหายต่อการละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ชาวบ้านชุมชนตำบลหนองแหน ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW เดินทางไปศาลปกครองระยอง เพื่อยื่นฟ้อง 2 หน่วยงานรัฐคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ทั้งในการควบคุมการขนส่งและการประกอบกิจการรับจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม และในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในแหล่งน้ำใต้ดินและสิ่งแวดล้อมตำบลหนองแหนที่เกิดการปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอุตสาหกรรมตามบ่อดินลูกรัง และการรั่วไหลจากพื้นที่ตั้งโรงงานรับจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะสารฟีนอล ซึ่งเป็นสารอันตรายจากอุตสาหกรรมที่มีฤทธิ์ทำลายตับ ไต ระบบสืบพันธุ์ จนเป็นเหตุให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายไม่สามารถอุปโภคบริโภคใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดหลักของทุกครัวเรือนในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยตามปกติต่อเนื่องมาตลอดสองปีที่ผ่านมา รวมถึงยังได้รับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั้งกลิ่นเหม็น
ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย พืชผลการเกษตรและฟาร์มเลี้ยงสุกรเสียหาย โดยผลการตรวจวัดการปนเปื้อนสารฟีนอลในตัวอย่างน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงปี 2556-2557 ยังคงบ่งชี้ชัดเจนถึงการปนเปื้อนสารฟีนอลสูงเกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำและมีการแพร่กระจายไปในหลายหมู่บ้านในตำบลหนองแหน
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 39 คนในฐานะตัวแทนชุมชนหนองแหนจึงยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองระยอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษา (1) ให้หน่วยงานทั้งสองร่วมกันปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่เข้าดำเนินการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากกากของเสียอุตสาหกรรมลงสู่สิ่งแวดล้อมแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน และระบบนิเวศในพื้นที่ตำบลหนองแหนและพื้นที่ตำบลใกล้เคียงให้กลับคืนสู่สภาพที่ปลอดภัยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงการสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนชุมชนตำบลหนองแหน และขอให้เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อขจัดการปนเปื้อนมลพิษดังกล่าวคืนจากเอกชนผู้ก่อมลพิษด้วย และ (2) ให้หน่วยงานทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อการละเมิดสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิที่จะดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิต แก่ผู้ฟ้องคดีรายละ 70,000 บาท รวม 39 คนคิดเป็นค่าเสียหายมูลค่า 2,730,000 บาท
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างบรรทัดฐานที่ดีในสังคมไทยเกี่ยวกับการรับรองคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของประชาชน รวมถึงระบบกลไกการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมและการกำกับควบคุมอุตสาหกรรมรับจัดการกากของเสียอันตรายด้วย
อนึ่ง ในเบื้องต้นศาลปกครองระยองได้ลงรับคำฟ้องนี้ไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.8/2558 โดยจะนำเสนอต่อตุลาการเพื่อมีคำสั่งในเรื่องการรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป