ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี: ขอเพิกถอนใบอนุญาตและรายงาน EIA โรงงานน้ำตาลสกลนคร

         

           วันจันทร์ที่  23 เมษายน 2561 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูนมอบอำนาจให้ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)เป็นผู้ดำเนินคดีร่วมกับชาวบ้านในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานีขอเพิกถอนใบอนุญาตและรายงาน EIA โรงงานน้ำตาลสกลนคร  ณ ศาลปกครองอุดรธานี

ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานและรายงาน EIA เพื่อคุ้มครอง ปกป้องระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตชุมชน

         วันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2561 เวลาประมาณ 13.00 น. ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ประมาณ 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมทำนาบนผืนนาที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีวิถีการปลูกและบำรุงต้นข้าวด้วยวิธีธรรมชาติ โดยอาศัยน้ำฝนและน้ำจากห้วยหนองคลองธรรมชาติ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านท้องถิ่นกว่า 100 สายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวและจำหน่ายเป็นข้าวคุณภาพดี และมีที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ใกล้พื้นที่ตั้งโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขนาด 12,500 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 48 เมกะวัตต์ ในตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์  จังหวัดสกลนคร ของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด (สาขาสกลนคร) จะเดินทางไปยังศาลปกครองอุดรธานี เพื่อยื่นฟ้อง  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, รองอธิบดีกรมโรงงานฯ, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA (คชก.) ด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค ฯ 


เพื่อขอให้ศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาเพิกถอน

  1. ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด (สาขาสกลนคร)
  2. มติของ คชก. ครั้งที่ 37/2560  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทไทยรุ่งเรืองฯ
  3. ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ 2555 ข้อ 7 ที่ยกเว้นให้กรมโรงงานฯและอุตสาหกรรมจังหวัดไม่ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการพิจารณาอนุญาตโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว

เนื่องจากหากเกิดโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและชุมชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์
ในพื้นที่ เช่น การเปลี่ยนสภาพพื้นที่เกษตรธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจครอบครัว เป็นโรงงานและไร่อ้อย ความเสียหายพังทลายของลำน้ำสาธารณะฯ โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้และยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ขัดต่อยุทธศาสตร์จังหวัดต้นแบบเมืองสมุนไพร จังหวัดสกลนคร โดยชุมชนยืนยันจะดำเนินคดีนี้จนถึงที่สุดเพื่อยืนยันสิทธิชุมชนของคนสกลนคร และจะยื่นคำร้องขอให้
ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการก่อสร้างหรือดำเนินการใด ๆ ของโรงงานน้ำตาลของบริษัท
ไทยรุ่งเรืองฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา พร้อมกับการยื่นคำฟ้องด้วย โดยมีทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนในการใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองครั้งนี้
 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง