ชมรมกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก เข้ายื่นข้อคัดค้านต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และร่วมจัดเวทีสาธารณะ “EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

ชมรมกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก เข้ายื่นข้อคัดค้านต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ยุติการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) ไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 150 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

 

 
          เมื่อวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ช่วงเช้าเวลาประมาณ 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและชมรมกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก ประมาณ 50 คน เข้ายื่นข้อคัดค้านต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (อาคารจัตุรัสจามจุรี) เพื่อขอให้ยุติการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 150 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากในรายงานฯ มีข้อบกพร่องของข้อมูลซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก และไม่เป็นไปตามหลักวิชาการหลายประเด็น  โดยมีนายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือข้อคัดค้านและรับว่าจะนำข้อห่วงกังวลไปพิจารณาตามขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่อไป 
      

โดยมีข้อห่วงกังวลและข้อสังเกตต่อความบกพร่องต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (EHIA) ดังนี้
          ข้อ 1 การกําหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่แท้จริง
          ข้อ 2 การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อันนํามาสู่การล่มสลายและการสูญเสียอาชีพของประชาชนในพื้นที่
          ข้อ 3 EHIA ไม่มีการศึกษาถึงการรับสัมผัสต่อมลพิษและสิ่งคุกคามสุขภาพ เช่นการ หายใจ การรับประทาน
การสัมผัสทางผิวหนัง ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนงาน หรือผู้ปฏิบัติการ ในโครงการและประชาชนรอบโครงการ
          ข้อ 4 EHIA ไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่เฉพาะเจาะจงหรือมีความรุนแรงเป็นพิเศษต่อประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีความเปราะบางเช่น เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ
          ข้อ 5 EHIA ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประชาชนและชุมชน
          ข้อ 6 ข้อมูลใน EHIA ที่นำมาอ้างเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นจริงได้ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่อาจเชื่อถือบริษัทฯได้แม้แต่น้อย

————————

เวทีเสวนาสาธารณะ“EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” 

 

         
          ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 13.00 – 17.00 น. ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ“EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” ซึ่งจัดโดยชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง, กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เนื่องจากอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการโรงเผาขยะผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ โดยเชื่อมเข้ากับสายส่งและขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการทั้งสองก่อให้เกิดการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่เพื่อปกป้องมวกเหล็กให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน แหล่งน้ำนมดิบสำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศ และเพื่อการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของทุกชีวิตในจังหวัดสระบุรี”
 



 
          ในเวทีกล่าวถึงภาพรวมการพัฒนามวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และเสียงสะท้อนจากตัวแทนเครือข่ายโคนม เกษตรกร กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายสุขภาพ ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ ตลอดจนการนำเสนอเรื่องการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยนักวิชาการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักวิชาการได้ย้ำชัดถึงความไม่ชอบธรรมของรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กที่ล้มเหลวในการระบุต้นทุนมหาศาลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ :

-เอกสารสรุปประเด็นกรณีกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและชมรมกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำมวกเหล็ก เข้ายื่นข้อคัดค้านต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 

-นักวิชาการย้ำความไม่ชอบธรรมของ EHIA ถ่านหินมวกเหล็กที่ล้มเหลวในการระบุต้นทุนมหาศาลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
 
เอกสารประกอบเวทีสาธารณะ :
-การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนอกวงกลม (อ.อชิชญา อ๊อตวงษ์)
-ความเห็นทางกฎหมายต่อคณะกรรมการกำกับกิจการกพลังงาน กรณีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนาด 150 เมกะวัตต์ (สุภาภรณ์ มาลัยลอย)
-แนวทางการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน (รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์)
**ขอขอบคุณภาพจาก กรีนพีชเอชียตะวันออกเฉียงใต้**

บทความที่เกี่ยวข้อง