โดย อชิชญา อ๊อตวงษ์
อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, นักศึกษาปริญญาโทกฎหมายสิ่งแวดล้อม
University of Oregon และอดีตนักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
เผยแพร่ครั้งแรกทาง Facebook
Love Canal ถือเป็นเคสประวัติศาสตร์หนึ่งของอเมริกาที่นำมาสู่การออกแบบระบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ยืนยงมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ ประเทศนำไปศึกษา เนื่องจากเพิ่งแชร์สารคดีที่เกี่ยวกับเคสนี้และมีคนอยากให้เขียนเพิ่มเติม เลยถือโอกาสทบทวนสิ่งที่เคยเรียนเมื่อเทอมที่แล้วซะเลย
คลองที่ชื่อแสนจะโรแมนติกนี้ ตั้งอยู่แถบ Niagara ทางตอนเหนือของนิวยอร์ค โดยเกิดจากความพยายามในการขุดคลองเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำไนการ่า (Niagara River) มาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เกิดปัญหามากมายทำให้ William Love ที่เป็นคนริเริ่มไอเดีย ต้องหยุดโครงการลง ทั้งที่ขุดมาครึ่งไมล์แล้ว (นั่นเองคือที่มาของชื่อ Love Canal หาได้เป็นคลองฉลองวันวาเลนไทน์แต่อย่างใดไม่)
หลายสิบปีต่อมา คลองร้างว่างเปล่านั้นก็กลายเป็นที่ทิ้งของเสียเคมีวัตถุ (Chemical waste) หลายชนิดของ บริษัท Hooker Chemicals & Plastics Corporation (ซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Occidental Petroleum) และปริมาณของเสียก็ทวีขึ้นอย่างมากในช่วงที่บริษัทต้องผลิตสินค้าป้อนทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่มาภาพ: https://prezi.com/yfm8ru6fxpby/love-canal/
หลังถมคลองด้วยของเสียกว่า 2 หมื่นตัน (สารเคมี 82 ชนิด มี 11 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง) ในปี 1953 Hooker ก็จัดการถมที่ตรงนั้นด้วยชั้นดินเหนียว และขายต่อให้คณะกรรมการด้านการศึกษาของเมืองในราคา $1 ในสัญญาขายได้จำกัดความรับผิดของบริษัท โดยระบุว่า คณะกรรมการได้ทราบแล้วว่าที่ดินนี้มีขยะอุตสาหกรรมอยู่ และยอมรับความรับผิดทั้งหมดหากมีความเสียหายจากของเสียอันตรายนั้น
กาลเวลาผ่านไป ผืนดินปนเปื้อนนั้นก็กลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียน และมีชุมชนบ้านเรือนรายล้อม
กระทั่งช่วงกลางทศวรรษ 1970 ผลกระทบก็เริ่มแจ่มชัดขึ้น กลิ่นเหม็นลอยคลุ้ง เท้าของเด็กที่วิ่งเล่นเท้าเปล่าใกล้โรงเรียนก็เริ่มเป็นแผลระคายเคือง หินดินระเบิดติดไฟง่าย เพียงแค่โยนลงพื้น เด็กเริ่มมีอาการหอบหืด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ
ผลกระทบทั้งหลายมาเริ่มหนักขึ้นเป็นทวีคูน เมื่อเกิดฝนตกหนักติด ๆ กันหลายปีในพื้นที่ ถังบรรจุสารเคมีเก่าของบริษัทผุพังจนทำให้สารเคมีกระจายตามน้ำไปทั่วสนามหญ้าของโรงเรียน และขยายไปสู่ชุมชนโดยรอบ แอ่งน้ำขังตามจุดต่าง ๆ ตามบ้านเรือน ท้องถนน และในโรงเรียน เป็นสีดำ มีน้ำมันลอยบนผิวน้ำ
ชาวบ้านเริ่มออกมาประท้วง มีข่าวออกสื่ออย่างหนัก จนกระทั่งในต้นปี 1978 รัฐนิวยอร์คทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องตั้งทีมทำงานเฉพาะกิจขึ้น ชื่อ Interagency Task Force เพื่อจัดการปัญหามลพิษครั้งใหญ่นี้
ที่มาภาพ: https://prezi.com/yfm8ru6fxpby/love-canal/
สิงหาคม 1978 คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งรัฐนิวยอร์คได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Public Health Emergency) ในพื้นที่ Love Canal พร้อมสั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว สั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นหยุดการแพร่กระจายของสารเคมีอันตราย และแจ้งให้ผู้หญิงท้องและเด็กซึ่งอาศัยใกล้โรงเรียนอพยพออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด สุดท้ายบ้านเรือนรอบคลองนั้นต้องถูกทำลาย ผู้คนหลายร้อยครัวเรือนถูกอพยพและได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาลกลางและรัฐนิวยอร์ค
ที่มาภาพ: http://www.newsweek.com/2013/10/18/love-hurts-243690.html
เคส Love Canal สะท้อนปัญหาการทิ้งสารพิษอันตรายที่กระจายอยู่ทั่วอเมริกา และกฎหมายที่ไม่เพียงพอในการให้อำนาจรัฐบาลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเรียกค่าชดเชยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
ขณะนั้น กฎหมายระดับสหพันธรัฐที่มีอยู่อย่าง RCRA ซึ่งให้อำนาจ EPA ในการบรรเทาความเสียหาย (Injunctive relief) ด้วยการเข้าฟื้นฟูของเสียอันตรายในพื้นที่ ก็ไม่ได้ระบุเรื่องกองทุนที่รัฐจะใช้ฟื้นฟูพื้นที่ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบการปนเปื้อนนั้น หรือกระทั่ง กฎหมายเก่าแก่ที่ออกช่วงสิ่งแวดล้อมตื่นตัวในเมกา ยุค 70 อย่าง Clean Water Act ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนให้กับรัฐบาลในการฟื้นฟู พร้อมอำนาจในการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว ก็จำกัดเพียงกรณีน้ำมันและสารเคมีอันตรายรั่วไหลลงสู่ทางน้ำเท่านั้น
ช่องโหว่ที่เผยให้เห็นจากกรณี Love Canal นี้ทำให้ในปี 1979 รัฐบาลกลางได้เสนอกฎหมายฉบับใหม่ต่อสภาคองเกรส ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลกลางในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย โดยใช้เงินจากกองทุนที่ได้จากภาษีที่อุตสาหกรรมเคมีจ่าย และมาเรียกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนนั้นรับผิดชดใช้เงินคืน
หลังจากถูกดองอยู่พักใหญ่ เนื่องจากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสมาชิกสภาคองเกรสใหม่พอดี ในเดือนธันวาคม 1980 กฎหมายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมฉบับแรกของอเมริกาก็ออกมา ในนาม CERCLA หรือเรียกอีกอย่างว่า Superfund
ความมุ่งหมายของกฎหมายนี้ คือ ความพยายามในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เงินจากภาษีประชาชนให้น้อยที่สุด จึงมีการออกแบบกฎหมายที่ดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนให้มารับผิดให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของเมกาแล้ว CERCLA มีเนื้อหาที่ไม่ละเอียดมากนัก และเปิดให้ศาลพัฒนาหลักกฎหมายของตนเองขึ้นมาเพื่อเติมเต็มเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนนี้
ที่มาภาพ: http://www.nao.usace.army.mil/Missions/Environmental.aspx
แม้สุดท้ายแล้ว CERCLA จะผ่านออกมาอย่างรีบเร่ง และไม่ได้มีการถกเถียงในสภาสักเท่าไหร่ แต่กฎหมายนี้ก็แทบจะไม่มีการแก้ไขเนื้อหาใด ๆ เลยนับตั้งแต่ประกาศใช้ และยังคงยืนยงเป็นกฎหมายหลักในการฟื้นฟูสารพิษอันตรายของรัฐบาลกลาง ทั้งเป็นต้นแบบให้รัฐต่าง ๆ นำไปร่างเป็นกฎหมายภายในของรัฐตนเอง
————————
RCRA = The Resource Conservation and Recovery Act
EPA = Environmental Protection Agency
CERCLA = Comprehensive Environmental Response, Compensation, and Liability Act
————————
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือ Environmental Policy Law: Problems, Cases, and Readings โดย Holly Doramus, Albert C. Lin และ Ronald H. Rosenberg
บทความ The Love Canal Tragedy เว็บไซต์ US EPA (http://www.epa.gov/aboutepa/love-canal-tragedy)
https://en.wikipedia.org/wiki/Love_Canal
ข้อมูลที่น่าสนใจ:
https://www.health.ny.gov/environmental/investigations/love_canal/lctimbmb.htm