เป็นที่ทราบกันดีว่าศาลปกครองไทยเป็นศาลระบบใหม่ในประเทศไทยที่มีอายุการเปิดทำการเพียง 12 ปีเมื่อเปรียบเทียบกับศาลยุติธรรมที่ดำรงสืบเนื่องไม่ขาดสายมากว่า 130 ปี นั้นก็ยิ่งทำให้เห็นได้ถึงความใหม่และในอีกแง่หนึ่งย่อมหมายถึงประสบการณ์ที่น้อยกว่าศาลยุติธรรมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามแม้ศาลปกครองจะเพิ่งเปิดดำเนินการได้ไม่นานแต่ที่ผ่านมาศาลปกครองก็ได้ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านคำพิพากษาและคำสั่งจำนวนมาก แม้คำพิพากษาหรือคำสั่งจำนวนหนึ่งจะถูกตั้งคำถามจากทั้งนักวิชาการและสังคมถึงความชอบด้วยเหตุผลและหลักวิชาการแต่โดยภาพรวมแล้วต้องถือว่าศาลปกครองทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีพอสมควร ส่งผลให้ศาลปกครองเป็นที่รู้จักและยอมรับจากสังคมรวมทั้งเป็นที่พึ่งของประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ
ในฐานะที่เป็นศาลที่ตั้งขึ้นใหม่ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรคจำนวนมาก สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ศาลปกครองมีวิธีการแสวงหาความรู้เพื่อมาจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างไร จนทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคมดังเช่นที่เป็นอยู่ จากการพยายามแสวงหาคำตอบดังกล่าวทำให้ผู้เขียนได้พบว่าหนึ่งในวิธีการแสวงหาความรู้ของศาลปกครองไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือการเข้าร่วมประชุมและเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ (International Association of Supreme Administrative Jurisdictions)เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศาลปกครองในประเทศต่างๆ ทั้งที่ก่อตั้งมาก่อนและหลังศาลปกครองไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสมาคมดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อุดมไปด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ศาลปกครอง วิธีพิจารณาคดีปกครอง และคำพิพากษาศาลปกครองในระดับโลก
กล่าวถึงสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศนั้น เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1983 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและประสบการณ์ระหว่างศาลปกครอง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการพิจารณาคดี โดยมีสมาชิกรุ่นก่อตั้งจำนวน 25 ประเทศ (ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศรวมถึงองค์การระหว่างประเทศ)และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สภาแห่งรัฐในกรุงปารีส โดยทั่วไปแล้วสมาคมฯ จะจัดการประชุมทั่วไปทุก ๆ 3 ปี โดยยกเอาประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลปกครองขึ้นมาเป็นวาระในการประชุมเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว โดยก่อนประชุมจะมีการส่งแบบสอบถามเพื่อให้แต่ละประเทศทำรายงานในเรื่องที่เกี่ยวกับวาระการประชุมแล้วส่งไปยังผู้จัดเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดประชุม จากนั้นจึงนำรายงานของประเทศต่าง ๆ มาจัดทำเป็นรายงานทั่วไปเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ รายงานทั่วไปของการประชุมในแต่ละครั้งจึงเป็นเอกสารที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเอกสารที่เกิดจากการสังเคราะห์ประสบการณ์และแนวคิดของศาลปกครองทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของแนวความคิดทั้งที่เป็นกระแสหลักและกระแสรองในเรื่องดังกล่าวด้วย ตัวอย่างวาระการประชุมที่ผ่านมาของสมาคม ฯ เช่น การนำกฎหมายระหว่างประเทศมาปรับใช้ในการพิจารณาคดีปกครอง (การประชุมครั้งที่ 6 ค.ศ. 1998) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยศาลปกครอง (การประชุมครั้งที่ 7 ค.ศ.2001) การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครอง (การประชุมครั้งที่ 8 ค.ศ. 2004) เป็นต้น
กล่าวเฉพาะครั้งล่าสุดนี้มีวาระการประชุมเรื่อง “ผู้พิพากษาศาลปกครองกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นวาระที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาศาลปกครองไทยได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการปัญหาความขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อมผ่านการตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมที่สำคัญผู้เขียนตัดสินใจแปลงานชิ้นนี้ทั้งที่รู้ถึงข้อจำกัดด้านภาษาของตนดี ก็เพราะเห็นว่าการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้กับนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม นักสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปในประเทศไทยคงจะช่วยขยายพรมแดนความรู้ของเราให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ด้วยหวังว่าองค์ความรู้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมของเราไปถึงความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หากมีความผิดพลาดในการถ่ายทอดเนื้อหาประการใดผู้เขียนขอน้อมรับเพื่อนำไปปรับปรุงและต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
ทนายความประจำมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
งานแปลเรื่อง “ผู้พิพากษาศาลปกครองและกฎหมายสิ่งแวดล้อม” คลิกที่นี่
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่