คำพิพากษาคดีคลิตี้ : จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ (ตอนที่ 2)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เรียบเรียง[1]

การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ
         โดยที่กรมควบคุมมลพิษต้องรับผิดชอบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้น  ศาลได้ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้งจนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ชาวบ้านทราบโดยวิธีการเปิดเผยโดยต้องทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างเป็นเงินรายละ 177,199.55บาท[2] โดยการดำเนินการตามคำพิพากษานั้นกรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างทีมศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย  มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ในปี 2556 ซึ่งทางศูนย์วิจัยฯ ได้ลงพื้นที่ทำการเก็บตัวอย่างตะกอนดินท้องน้ำจากลำห้วยคลิตี้ ตรวจดินภายในหมู่บ้าน ตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยนำเอาผลการศึกษาที่ได้ศึกษาลงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ  
 

         จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย  มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการจัดหาพื้นที่เหมาะสม ในการจัดทำหลุมฝังกลบตะกอนตะกั่วที่ปนเปื้อน สร้างฝายดักตะกอนในบริเวณที่มีค่าตะกั่วสูงสองช่วง และขุดลอกตะกั่วออกในบางบริเวณที่มีการปนเปื้อนและมีค่าตะกั่วสูงเช่นบริเวณโรงแต่งแร่ และนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบตะกอน รวมถึงการนำดินใหม่ไปถมกลบบริเวณบ้านที่ตรวจพบว่ามีค่าตะกั่วสูงและบริเวณสนามเด็กเล่น (แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ทางกรมควบคุมมลพิษไม่ได้นำมาปรับเป็นแผนการฟื้นฟูทั้งหมด)   
       เมื่อช่วงต้นปี 2559 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี[3] เพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว และให้การดำเนินการเป็นไปโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้มีทั้งตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม 
ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีอำนาจหลักๆ ในการให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ประงานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการข้อมูลและการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในพื้นที่คลิตี้ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน
          อย่างไรก็ดี จากการประชุมของคณะกรรมการไตรภาคีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2559 มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านคลิตี้ทั้งคลิตี้บนและล่างในข้อห่วงกังวลบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไว้วางใจในการดำเนินงานของรัฐว่าบริษัทที่จะมารับเหมาจะทำตามรูปงานที่วางไว้ได้ตามจริงได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหลายๆ อย่างยังมีความไม่ชัดเจน การสื่อสารประชาสัมพันธ์เองก็ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้านเท่าที่ควร รวมถึงการสร้างความเข้าใจต่องานศึกษาและการวางแผนการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนักต่อชุมชนเนื่องจากเป็นการนำเสนอแนววิชาการและกฎหมาย ต่อไปหากต้องการสร้างความเข้าใจและไว้วางใจกันมากกว่านี้ นอกเหนือจากทำให้เข้าใจหลักวิชาการแล้วก็ควรให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนให้มากที่สุด ทั้งนี้จากการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ทางกรมควบคุมมลพิษแจ้งชาวบ้านว่าการประมูลงานฟื้นฟูลำห้วยให้บริษัทเอกชนผู้รับเหมายังไม่เรียบร้อย
การดำเนินการในพื้นที่จริงจึงยังไม่เกิดขึ้น      
 
ตอนต่อไปร่วมติดตามเสียงชุมชนต่อการทำงานของกรมควบคุมมลพิษหลังมีคำพิพากษา
 
คำพิพากษาคดีคลิตี้: จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ (ตอนที่ 1)
 
[1] อานันท์ รัตนเจียเจริญ และมนทนา ดวงประภา
[2] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 734/2555 ศาลปกครองสูงสุด, หน้าที่  84
[3] คำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ 39/2559 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี  เพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

บทความที่เกี่ยวข้อง