มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เรียบเรียง[1]
เสียงสะท้อนจากชุมชน
ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีข้อห่วงกังวลในหลายๆ ประเด็นในทางวิชาการหรือทางเทคนิคเสียงสะท้อนจากชุมชนในหลายๆ ครั้งที่มีการนำแผนการฟื้นฟูไปจัดรับฟังความคิดเห็นมักจะเป็นการนำเสนอประเด็นทางเทคนิคซึ่งชุมชนไม่สามารถเข้าใจได้ ทำให้การมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ภาคประชาสังคม
จากอดีตจนถึงปัจจุบันสำหรับประเด็นการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมาทางภาคประชาสังคม
และเครือข่ายนักวิชาการ ได้รวมกลุ่มกันตั้ง “คณะทำงานติดตามและประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนคลิตี้ล่าง” ภายใต้สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อติดตามการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษอยู่ตลอดมา เพราะเรื่องวิธีการฟื้นฟูที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ต้องมีงานศึกษาหรืองานวิจัยเข้ามาให้น้ำหนัก โดยนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านสังคม สุขภาพ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย
หลังจากที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศึกษาแนวทางการฟื้นฟู ก็มีการลงพื้นที่ มีเวทีนำเสนอข้อมูลและรับฟังความเห็นชาวบ้านแต่เป็นข้อมูลทางเทคนิค ที่เน้นเรื่องการเก็บตัวอย่าง ความเสี่ยง ปริมาณตะกั่ว พอศึกษาเสร็จแล้ว ก็ได้มีประเด็นหลักในเรื่องการพูดคุยในเรื่องการแบ่งลำห้วยออกเป็น 7 ช่วง เรื่องสร้างฝายสองตัว เรื่องการปรับเสถียรตะกั่วก่อนการวางลงหลุมฝังกลบ การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในการฟื้นฟู ประเด็นดังกล่าวทำให้มีข้อสงสัยตามมามากมายเนื่องจากยังเป็นประเด็นข้อถกเถียงทางวิชาการ ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการที่ติดตามกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้มีข้อเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษให้จัดตั้งกลไกคณะทำงานกลางขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อยุติข้อทักท้วงในประเด็นทางวิชาการดังกล่าว
จวบจนกระทั่งเมื่อต้นปี 2558 ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ได้มีมติได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านวิชาการ[2] อันประกอบไปด้วยนักวิชาการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อเสนอแนะแนวทางและวิธีการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการโดยที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมคณะทำงานวิชาการเพื่อเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ไปทั้งหมด 3 ครั้ง แต่เนื้อหาของที่ประชุมบางประเด็นยังไม่ได้ถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ของกรมควบคุมมลพิษแต่อย่างใด (รายละเอียดที่สำคัญทางมูลนิธิฯ จะได้เรียบเรียงในลำดับต่อไป) อีกทั้งที่ผ่านมาการนำเสนอและจัดทำข้อมูลของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ยากต่อการที่ชาวบ้านจะเข้าใจได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรับฟังข้อมูลมาประกอบความเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความเรียงที่นำเสนอมาทั้งหมด 3 ตอน ทำให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเรียนรู้ได้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม
“… (จาก) เสียงพูดคุยของชาวบ้านที่หมู่บ้านว่า ทำอย่างไรเขาจึงจะกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม คือจับปูจับปลา ใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ได้ตามปรกติ เพราะทางสาธารณสุขได้ติดป้ายในหมู่บ้านว่า “ห้ามใช้น้ำ” และ “ห้ามจับสัตว์น้ำชั่วคราว” ตั้งแต่ปี 2542 สิ่งที่จะตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้คือควรต้องมีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ในความเป็นจริงจะเกิดขึ้นเมื่อใด… .” [3]
คำพิพากษาคดีคลิตี้: จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ (ตอนที่ 1)
คำพิพากษาคดีคลิตี้ : จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ (ตอนที่ 2)
[1] อานันท์ รัตนเจียเจริญ และมนทนา ดวงประภา
[2] คำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ ที่ 1/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2558
[3] จักรพันธุ์ กังวาฬ. เมื่อคดีคลิตี้เข้าสู่ศาลปกครอง. นิติธรรมชาติ ความเรียงและบทสัมภาษณ์ว่าด้วยคดีสิ่งแวดล้อม เล่ม 2. 2551 กรุงเทพฯ . น.132