คำพิพากษาคดีคลิตี้: จุดเริ่มต้นการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ (ตอนที่ 1)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เรียบเรียง[1]

กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ แม้จะเริ่มเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนตั้งแต่ปี 2541 และหลายหน่วยงานต่างก็ลงพื้นที่แก้ไขปัญหา แต่เวลาผ่านไป การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังคงไม่เห็นเป็นรูปธรรม ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่างยังคงเจ็บป่วย สัตว์น้ำยังคงอันตรายไม่เหมาะแก่การบริโภค กรมควบคุมมลพิษซึ่งเคยประกาศแผนการฟื้นฟูกลับไม่ปฏิบัติตามแผนนั้น และเมื่อมีการทำหนังสือทวงถามให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วย กรมควบคุมมลพิษก็นิ่งเฉยไม่ชี้แจงแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ชุมชนคลิตี้ล่างและกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง[2]  

 
ฟื้นฟูลำห้วยและดูแลสุขภาพชุมชนสองสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน: มุมมองผ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
คดีสารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ชาวกะเหรี่ยงลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามรัฐธรรมนูญจากกรณีโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 743/2555 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่างทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อมคดีแรกในประเทศไทยที่มีคำพิพากษาศาลสูงวางบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในเรื่องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่จวบจนปัจจุบันเวลาผ่านมากว่า 3 ปี ลำห้วยคลิตี้ก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างดีพอแต่อย่างใด ชาวบ้านยังคงต้องแบกรับชะตากรรมและความทรมานสัมผัสกับสารตะกั่วต่อไป ทั้งในน้ำ ในดิน ในพืชผัก และในปลา โดยการปฏิบัติงานของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานสาธารณสุขที่ไม่ได้ป้องกันการสัมผัสกับสารตะกั่วของชาวบ้านในชุมชนชาวกะเหรี่ยงและไม่มีการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเองด้วยการระดมทุนจากภาคประชาสังคมในการจัดหากองทุนเพื่อจัดทำโครงการประปาภูเขาในการนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคแทนการใช้น้ำจากลำห้วยคลิตี้
ตะกั่วเป็นสารพิษอันตรายสูงซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบการทำงานของร่างกาย คือ ระบบประสาท ระบบชีววิทยา และระบบการรับรู้และทำความเข้าใจ  การได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายในระดับสูงสามารถทำลายการทำงานของอวัยวะ ต่างๆ คือ สมอง ตับไต ประสาท และกระเพาะอาหาร  รวมทั้งทำให้โลหิตจาง หมดสติ การหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง และแม้กระทั่งถึงขั้นเสียชีวิต สำหรับเด็กและสตรีที่ตั้งครรภ์นั้นจะได้รับความกระทบกระเทือนเป็นพิเศษ  การสัมผัสกับสารตะกั่วในระดับสูงจะทำให้เกิดความบกพร่องทางปัญญาและพัฒนาการตามวัย  รวมทั้งความไม่สมประกอบในการอ่านและการเรียนรู้ มีปัญหาทางพฤติกรรมการใช้สมาธิ หรือแม้กระทั่งสูญเสียการรับฟังและการชะงักงันของพัฒนาการด้านสายตา มีปัญหาในระบบหายใจ ชีพจร และความดันโลหิต
ในส่วนของเกณฑ์มาตรฐานระดับตะกั่วในเลือดตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนดนั้น ระบุว่าผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 40 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร และเด็กไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่ปริมาณสารตะกั่วในเลือดของคนไทยทั่วไปซึ่งกองอาชีวอนามัย กรมอนามัยสำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ. 2538 – 2539 เฉลี่ยมีค่า 4.92 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร[3]  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าค่าตะกั่วในเลือดเฉลี่ยของชาวบ้านคลิตี้ล่างสูงกว่าคนไทยทั่วไปหลายเท่า โดยเฉพาะผลการตรวจวัดในเด็กอายุ 0 – 6 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 พบว่ามีตะกั่วในเลือดสูงกว่า 20 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรถึงกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ และเด็กบางคนมีระดับตะกั่วในเลือดเกิน 70 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร[4]

ทั้งนี้ในช่วงระยะแรกที่กรมอนามัยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้น้ำและการกินอาหารกับระดับตะกั่วในเลือด ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ดื่มน้ำจากห้วยมีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มน้ำห้วย กลุ่มที่มีการใช้น้ำห้วยเพื่อการอุปโภคมีระดับตะกั่วในเลือดสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้น้ำห้วยเลย และกลุ่มที่กินปลาและสัตว์น้ำเป็นอาหารบ่อย ๆ มีระดับตะกั่วในเลือดเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่กินปลาและสัตว์น้ำไม่บ่อย ขณะที่ปลาที่ชาวบ้านนิยมจับมาประกอบอาหาร พบว่ามีตะกั่วปนเปื้อนเฉลี่ย 1.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ร่างกายมนุษย์สะสมสารตะกั่วได้ในเลือด ปัสสาวะ ผม เล็บ และกระดูก และกำจัดออกจากร่างกายทั้งทางปัสสาวะและเหงื่อ แต่ละคนกำจัดออกได้ไม่เท่ากัน แม้การวัดค่าปริมาณตะกั่วในเลือดของชาวบ้านคลิตี้ บางรายที่เป็นผู้ใหญ่ไม่สูงเกินมาตรฐานของกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แต่จากผลการตรวจปี 2542 และปี 2543 ค่าสารตะกั่วในเลือดของเด็กอายุ 0-15 ปี ของชุมชนมีค่าสูงเป็นจำนวนมาก[5]
 

ตารางแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับตะกั่วในเลือดกับอันตรายที่พบ
ระดับตะกั่วในเลือด (ไมโครกรัม/เดซิลิตร) อันตรายที่พบ
ไม่เกิน 5 ในระยะยาวเด็กจะเกิดผิดปกติเกี่ยวกับการรับฟัง การเจริญเติบโตทางร่างกายอาจไม่สูงเท่าที่ควรเป็น
5-10 ในระยะยาวจะกระทบต่อระบบประสาทที่สมองส่วนกลางอย่างชัดเจน เด็กไม่ฉลาดเท่าที่ควร ค่าการตรวจไอคิวจะลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่มีระดับสารตะกั่วใกล้ศูนย์
10-15 กระทรวงสาธารณสุขอเมริกาได้เสนอแนะว่าทั้งเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรมีตะกั่วเกิน 10ไมโครกรัม/เดซิลิตร หากเกินกว่านี้ถือว่าเป็นเขตอันตราย มีปัญหาการได้ยิน การพูด ไอคิวจะไม่สูงเท่าที่ควร เด็กในครรภ์มักคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และถ้าเด็กในช่วง 2 ขวบ มีไอคิวลดลงเพียง 4 คะแนน จะทำให้เมื่อโตขึ้น มีแนวโน้มการเป็นปัญญาอ่อนมากขึ้น 4 เท่า
20 อันตรายต่อสุขภาพกายและใจ และยอมรับไม่ได้สำหรับวงการแพทย์อเมริกา เพราะได้มีการรวบรวมข้อมูลหาอันตรายของเด็กทั่วอเมริกา ตั้งแต่ปี 2517-2523 พบว่าค่าเฉลี่ยของสารตะกั่วในเลือดเพียง 13.0ไมโครกรัม/เดซิลิตร ก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทอย่างรุนแรง
25 อยู่ในภาวะอันตรายสุดขีด ต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาลเพื่อถอนพิษสารตะกั่วในเลือดทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: สำนักงานควบคุมเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของสหรัฐอเมริกา

 
อย่างไรก็ตาม สำนักงานควบคุมเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของสหรัฐอเมริการะบุว่า ไม่มีค่าสารตะกั่วในเลือดใดที่เป็นมาตรฐานหรือเรียกว่าปลอดภัย เพราะแค่ระดับตะกั่วในเลือดใกล้ศูนย์ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของเด็กเล็กได้อย่างชัดเจนในระยะยาว[6]  และหากระดับตะกั่วมีตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ในแต่ละ 1 เดซิลิตรที่เพิ่มขึ้นจะมีผลทำให้เด็กมีระดับสติปัญญา (ไอคิว) ลดลง 0.25[7] จุด  ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการยอมรับสารตะกั่วในเลือดของวงการสาธารณสุขไทยกับสากลที่แตกต่างกันอย่างลิบลับ นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกายังได้กำหนดด้วยว่า เด็กเล็กในสหรัฐอเมริกาทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือน – 6 ปี ควรได้รับการตรวจกรองเพื่อวัดระดับตะกั่วในเลือดเป็นประจำทุกปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าอาศัยอยู่ที่ใด และไม่แนะนำให้คอยจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคพิษตะกั่ว เพราะจะสายเกินไป
โดยประเทศไทยได้ให้สัตยบรรณอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาหลายฉบับด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพันธกรณีที่รัฐบาลต้องมุ่งยึดถือเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม น้ำดื่มที่ปลอดภัย และสุขภาพของประชาชนพลเมือง โดยต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ สำหรับเด็กและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งสตรี ผู้พิการ และชนกลุ่มน้อย  ยิ่งกว่านั้น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติของไทยยังได้กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสุขภาพ  ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับมาตรฐานสูงสุดด้านสุขภาพและน้ำเพื่อการบริโภค รวมทั้งสิทธิที่พึงได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว[8]
ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนบริเวณลำห้วยคลิตี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างแยกกันไม่ได้ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และมุมมองที่พิจารณาปัญหาอย่างเป็นองค์รวม ตลอดจนดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพควบคู่กันไป ซึ่งนั่นหมายถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและลำห้วยคลิตี้ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลชาวบ้านด้วย
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานรัฐไทยเข้ามาจัดการการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนอย่างเป็นระบบและรวมถึงปัญหาสุขภาพที่ได้เกิดขึ้นแล้ว  
 

“การขุดลอกและทำความสะอาดลำห้วยคลิตี้อย่างครอบคลุม จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการทำความสะอาดที่อื่นอีกมากมายที่มลภาวะจากแหล่งอุตสาหกรรมหลักกำลังเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์”
— น้ำเป็นพิษ ระบบยุติธรรมที่แปดเปื้อน, Human Rights Watch[9]

 
ตอนต่อไปร่วมติดตามการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษหลังมีคำพิพากษา…  
 
 
—————————————————-
[1] อานันท์ รัตนเจียเจริญ และมนทนา ดวงประภา
[2] ถอดสรุปประสบการณ์คดีคลิตี้: กว่าจะมีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม,  https://enlawfoundation.org/newweb/?p=792
[3] คณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลหะหนักเน้นพิษตะกั่ว กระทรวงสาธารณสุข, พิษตะกั่ว, 2535 กรุงเทพฯ อ้างใน ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนบริเวณลำห้วยคลิตี้ ชุดที่ 1 : การแก้ปัญหาที่ล้มเหลว
[4] ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนบริเวณลำห้วยคลิตี้ ชุดที่ 1 : การแก้ปัญหาที่ล้มเหลว
[5] คดีแพ่ง : ค่าสินไหมทดแทน กรณีผู้ประกอบการเหมืองแร่ก่อให้เกิดมลพิษในลำห้วยคลิตี้คดีหมายเลขแดงที่ 1565/2549 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี หน้า 33
[6] การประชุมเนนส์ โดยสำนักงานควบคุมเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของสหรัฐอเมริกา อ้างใน จุลสารศูนย์ข้อมูลคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน (คปอส.): น. 54-55 อ้างในปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนบริเวณลำห้วยคลิตี้ ชุดที่ 1 : การแก้ปัญหาที่ล้มเหลว
[7] คณะทำงานโครงการเสวนาวิชาการเพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้. 2547 (ก). ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี.อ้างในปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนบริเวณลำห้วยคลิตี้ ชุดที่ 1 : การแก้ปัญหาที่ล้มเหลว
[8] “น้ำเป็นพิษ ระบบยุติธรรมแปดเปื้อน”, Human Rights Watch  สืบค้นจากเว็บไซต์ https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2413
[9] “น้ำเป็นพิษ ระบบยุติธรรมแปดเปื้อน”, Human Rights Watch  สืบค้นจากเว็บไซต์ https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2413

บทความที่เกี่ยวข้อง