เรียกเสียงเฮจากกองเชียร์กันอีกรอบที่เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และพวก รวม 7 คน ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงิน 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง ให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 ราย ฐานจำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิม
แม้ก่อนหน้านี้ จำเลยจะพยายามอุทธรณ์ว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ เนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสิน ไหมทดแทน แต่ศาลได้พิพากษาตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 ซึ่งไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำที่จงใจ หรือประมาทเลินเล่อ เจ้าของหรือผู้ครอบครองมลพิษนั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่า เสียหายเพื่อการนั้น โดยในกรณีนี้มีรายงานผลการตรวจระดับตะกั่วในเลือดของชาวบ้านที่มีปริมาณสูง อันถือได้ว่าได้รับอันตรายแก่สุขภาพร่างกายแล้ว
อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ก่อมลพิษดำเนิน การขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป และหากไม่ยอมดำเนินการ ก็ให้ผู้เสียหายมีอำนาจดำเนินการเองโดยผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ผู้เสียหายมีอำนาจขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟูลำห้วย แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษ…นั่นหมายถึงเป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่ จะบังคับให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจร้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษทำได้
ต่อข้อถามว่าแล้วเมื่อไรลำห้วยคลิตี้จึงจะได้รับการฟื้นฟู นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีคดีปกครองที่ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษเพื่อเร่งให้แก้ไขปัญหา ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิพากษาไปแล้วว่ากรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เกินสมควร และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คาดว่าน่าจะรู้ผลภายในปีนี้ เพราะศาลได้สั่งสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์มองว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยแต่อย่างใด ทำให้ในการฟ้องคดีแพ่ง ชาวบ้านจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพียงแต่ฟ้องเรียกค่าหาย แต่ขอให้ศาลบังคับผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยด้วย
อนึ่ง นอกจากคดีแพ่งที่ชาวบ้าน 151 รายฟ้องผู้ก่อมลพิษ และคดีปกครองที่ชาวบ้าน 22 รายฟ้องกรมควบคุมมลพิษแล้ว ยังมีคดีแพ่งอีกคดีที่ชาวบ้าน 8 รายฟ้องผู้ก่อมลพิษ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินรวมกันประมาณ 29.5 ล้านบาทแก่โจทก์ โดยปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา
เรียกว่างวดเข้าไปทุกทีที่จะรู้ผลทั้งในคดีแพ่งและคดีปกครอง แต่ก็ใช่ว่าความยุติธรรมจะอยู่ใกล้มือชาวบ้านที่แม้พยายามต่อสู้มายาวนาน เกินกว่า 10 ปีแล้ว เพราะต่อให้ชาวบ้านชนะคดีความทางแพ่งทั้งสองคดีและได้รับการชดเชย แต่ถ้าหากจำเลยไม่ชดใช้ ก็จะต้องมีการฟ้องบังคับคดียืดเยื้อออกไปอีก ซึ่งปัจจุบันบริษัทตะกั่วฯ ได้ปิดกิจการไปนานแล้ว และคาดว่าทรัพย์สินในส่วนของบริษัทก็แทบไม่เหลืออะไรแล้วเช่นกัน
ส่วนคดีปกครองนั้น สมมติหากศาลปกครองสูงสุดเห็นสอดคล้องกับคำพิพากษาตามศาลปกครองกลางที่ว่ากรม ควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า และให้กรมควบคุมมลพิษเร่งแก้ไขฟื้นฟูลำห้วย ก็ไม่รู้ว่าแผนการฟื้นฟูลำห้วยของกรมควบคุมมลพิษจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษก็ยืนยันเสียงแข็งว่า ปัจจุบันได้ฟื้นฟูลำห้วยด้วยการปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดตนเอง เช่นนี้แล้วศาลจะมีมาตรการในการกำกับการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยของกรมควบคุมมลพิษเช่นไร