ข้อสังเกตต่อกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงงานน้ำตาลบ้านไผ่
โดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
บริบทการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายพ่วงด้วยโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในอำเภอบ้านไผ่ ปัจจุบันหลายจังหวัดในภาคอีสานมีโรงงานน้ำตาลทรายเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ละแห่งจะมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลโดยการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นโครงการภาคสนับสนุน รวมถึงการนำไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และต้องมีการตั้งโรงงานกระจายกันในแต่ละพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมโดยต้องหาเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญากับแต่ละบริษัทเป็นเงื่อนไขทางกฎหมาย ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการดังกล่าวจึงประกอบด้วยเกษตรกรซึ่งเดิมทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก
ตัวอย่างโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคอีสานอีกระลอกเป็นของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกระบวนการที่สำคัญก่อนการตั้งโครงการนั้น ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อประกอบคำขอรับใบอนุญาตโรงงานตามกฎหมาย ดังนั้นบริษัทเจ้าของโครงการจึงเตรียมจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นขึ้นครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2562 โดยจัดเวทีใน 3 อำเภอ ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งโครงการ แบ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงงานน้ำตาลทรายช่วงเช้าและรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในช่วงบ่าย เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกต่อโครงการ โดยต้องพิจารณาข้อมูลหลายด้านประกอบกัน เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ประสบผลสำเร็จมากนัก ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความน่าเชื่อถือของรายงาน EIA ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้รับจ้างจากเจ้าของโครงการ จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหารายงานที่มีเนื้อหาเป็นเท็จ โดยการเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ รวมถึงในส่วนกระบวนการของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีการจำกัดผู้มีส่วนได้เสียและกีดกันไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
จากปัญหาเหล่านี้จึงทำให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ตั้งโครงการซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบนั้นออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิและชุมชน โดยชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ก็เป็นหนึ่งในหลายชุมชนที่รวมตัวกันออกมาต่อสู้คัดค้านโครงการ
จึงเป็นที่น่าติดตามว่าการจัดทำรายงาน EIA โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เคยเป็นมาหรือไม่ ประการสำคัญคือเจ้าของโครงการควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ของพื้นที่ที่จะตั้งโครงการไปจนถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและไม่ควรจำกัดเวลาในการจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นการลดโอกาสการหามาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบของโครงการ รวมถึงการหาทางออกร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ควรปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียรับรู้ข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจของชุมชน