เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐
ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดให้มีการแถลงข่าวการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่ หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมดีบุก ชั้น ๒ อาคาร กพร. ในเช้าวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ นั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่มีข้อคิดเห็น ดังนี้
๑. ย่อหน้าแรกในเอกสารแจกของ กพร. ประกอบการแถลงข่าวในครั้งนี้ อธิบายเนื้อหาเกี่ยวกับใบอนุญาตที่มีอยู่ก่อนแล้วไม่ครบถ้วน ความว่า “บรรดาบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว ให้ถือเป็นการได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน” นั้น
ตามมาตรา ๑๘๙ วรรคแรกของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุเนื้อหาที่ครบถ้วนเอาไว้ดังนี้ “บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามมาตรา ๓๒ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทําเหมือง การวางหลักประกัน และการจัดทําประกันภัยตามมาตรา ๖๘ (๘) และ (๙) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการออกประทานบัตร”
ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่าบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า หรือพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่และให้ยังคงใช้ได้จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน โดยต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ด้วย ไม่ใช่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับเก่าทั้งหมดแต่อย่างใด ยกเว้นเพียงแค่การจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมืองและการจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทําเหมือง การวางหลักประกัน และการจัดทําประกันภัยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในการออกประทานบัตรที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแร่ฉบับเก่าเท่านั้น
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่จะต้องถูกนำมาบังคับใช้กับบรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าด้วย อาทิเช่น หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบทกำหนดโทษบรรดามีในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่กำหนดโทษหนักขึ้นต่อผู้ประกอบการที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชน และละเลยต่อความรับผิดชอบและธรรมาภิบาลของการประกอบกิจการ ไม่ว่าจะเป็นบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำเหมืองในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม เป็นต้น รวมทั้งบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำเหมืองในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการออกประทานบัตร การลักลอบการทำเหมือง การเก็บแร่ การขนแร่ การแต่งแร่ หรือการประกอบโลหกรรม การลักลอบนำแร่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ฯลฯ
ดังนั้น การระบุเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับบรรดาใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าที่สามารถนำมาใช้ต่อไปได้ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ ถ้าไม่ใช่ความผิดพลาดหรือไม่ตั้งใจ ก็ถือเป็นการจงใจที่ส่อให้เห็นทัศนคติบิดเบือนกฎหมายของ กพร. ด้วยเจตนาปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของผู้ประกอบการเป็นหลัก ตั้งแต่จุดเริ่มต้นศักราชของการประกาศใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่
๒. เนื้อหาส่วนอื่น ๆ ของการแถลงข่าว นอกจากบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ผ่านการรับรู้ของสังคมมาพอสมควรตลอดสองสามปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ยังเป็นร่างกฎหมายอยู่นั้น ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก เป็นเพียงแค่งานพิธีกรรมเพื่อประกาศก้าวแรกในการนำกฎหมายหรือนโยบายสู่การปฎิบัติ ซึ่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่จะเริ่มมีผลใช้บังคับในเร็ววันนี้ คือวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ แต่ที่น่าสนใจมากกว่ากลับเป็นการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวกับการเตรียมการรื้อฟื้น ‘นโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ’ เพื่อรองรับการกลับมาเปิดเหมืองทองคำใหม่อีกครั้งหนึ่ง
นับตั้งแต่ความพยายามผลักดันนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำของ กพร. ในช่วงเดือนกันยายน ๒๕๕๘ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอย่างน้อย ๑๒ บริษัทยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ พื้นที่รวมประมาณ ๑,๕๓๙,๖๔๔ ไร่ เกิดความล้มเหลวจากการเคลื่อนไหวของภาคปะชาชนที่รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อเกือบ ๒ หมื่นรายชื่อให้แก่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๘
ต่อมาคณะรัฐมนตรียังได้มีมติเป็นไปในทางยับยั้งนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำอีก ๒ ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๙ รวมถึงมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙ เพื่อปิดและฟื้นฟูเหมืองทองคำที่มีอยู่ทั้งสองแห่งในประเทศอีกด้วย แต่มีข้อแม้เกี่ยวกับการปิดและฟื้นฟูเหมืองทองคำว่า “จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติจะมีมติเป็นอย่างอื่น” โดยที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติเป็นโครงสร้างใหม่ที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ฉบับใหม่
เวลาผ่านมาได้ประมาณ ๘ เดือน นับตั้งแต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว จึงเห็นแต่การหยุดกิจกรรมทำเหมือง แต่ไม่เห็นว่าเหมืองทองทั้งสองแห่งดำเนินการฟื้นฟูเหมืองให้เกิดความคืบหน้าแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าการฟื้นฟูเหมืองจะเป็นอุปสรรคให้กลับมาเปิดเหมืองใหม่ไม่ได้ ผู้ประกอบการเหมืองทองทั้งสองแห่งจึงรอให้กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับใช้ เพื่อโน้มน้าวให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติมีมติให้เหมืองทองกลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเวลาประมาณ ๘ เดือนที่ผ่านมามีความพยายามอย่างหนักผ่านสภาการเหมืองแร่เพื่อเดินสายพูดคุยกับรัฐบาลด้วยความประสงค์ที่จะขอให้เหมืองทองคำทั้งสองแห่งกลับมาเปิดได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง สัญญาณเริ่มแรกก็คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ
ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐ รับทราบกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙
ต่อมาการประชุม คนร. ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ช่วงเช้าของวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ชั้น ๓ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำภายใต้กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ที่อยู่ภายใต้กลไกของ คนร. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙ ซึ่งมีคำสั่งให้ผู้มีอำนาจดำเนินการไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่ทองคำของประเทศภายใต้กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯดังกล่าวที่จะมีการประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ พร้อมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่ทองคำในเขตรอยต่อ ๓ จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลกของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่มีเรื่องฟ้องร้องตามเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียอยู่ในขณะนี้
ต่อจากนี้ คาดว่า กพร. และ คนร. ก็จะเร่งรีบจัดทำนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำตาม ‘กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ’ ที่ คนร. และ ครม. เห็นชอบแล้ว เพื่อประกาศใช้หลังกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ ก็จะส่งผลให้เหมืองทองคำทั้งสองแห่งที่ถูกปิดตัวลงจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๖๐ กลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นสำคัญของการแถลงข่าวครั้งนี้จึงอยู่ที่ว่าจะสามารถใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่สร้างความชอบธรรมในการเปิดเหมืองทองคำที่ถูกปิดไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙ ได้หรือไม่
(ภาพประกอบจาก http://www.innnews.co.th/show/802978/)
๓. อีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ กพร. กำลังเตรียมการใช้กฎหมายแร่ฉบับใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอนุญาตให้ประทานบัตรเหมืองโปแตชจังหวัดอุดรธานีแก่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้ได้ในเร็ว ๆ นี้
รวมถึงให้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการอีก ๓๔ ราย รวมพื้นที่ ๓ ล้านกว่าไร่ ที่กระจายอยู่เป็นบริเวณกว้างขวางกินอาณาเขตหลายอำเภอในแต่ละจังหวัดของกาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย ยโสธร ร้อยเอ็ด
เอกสารที่เกี่ยวข้อง