บทนำ
สิทธิเสรีภาพด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิมนุษยชนอีกแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญและได้รับการยอมรับในทางสากลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เอง สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to Live in Healthy Environment) ในฐานะส่วนขยายของสิทธิในชีวิตและร่างกายจึงได้รับการบัญญัติรับรองไว้ทั้งในข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญของหลายประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าไม่เพียงแต่การคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายมิให้รัฐหรือบุคคลใดมาล่วงละเมิดทำลายหรือพรากเอาไปได้เท่านั้น แต่รัฐพึงต้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชนให้ดำรงอยู่ได้โดยปกติสุขด้วย และเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิดังกล่าวสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง รัฐมีหน้าที่ต้องรับรองคุ้มครองให้ประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมเคลื่อนไหว และมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้สิทธิร้องเรียนติดตามตรวจสอบหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างปลอดภัยโดยปราศจากการถูกข่มขู่คุกคามด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2540 เป็นต้นมาได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จะตัดบทบัญญัติเรื่องสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีออกไป แต่ก็ยังคงบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพที่สำคัญไว้หลายประการ เช่น สิทธิการมีส่วนร่วมจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวรวมกลุ่ม และการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำการรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านสิ่งแวดล้อมได้ถูกจำกัดปิดกั้นลงอย่างมาก โดยในปี 2560 นี้มีเหตุการณ์คุกคามการใช้สิทธิอย่างน้อย 5 กรณีที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้การปกครองโดยรัฐบาล คสช. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
- เรียกรายงานตัวชาวบ้านเดินทางยื่นหนังสือคัดค้านเขื่อนท่าแซะ–คุมตัวคนขับรถเข้าค่ายทหาร
ที่มาภาพ: Facebook ‘สมัชชาคนจน’
วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2560 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะจังหวัดชุมพร 15 คนถูกทหารเรียกไปรายงานตัวที่ค่ายอุดมศักดิ์ มณฑลทหารบกที่ 44 อ้างอำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ มาตรา 44 เพื่อห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านการสร้างเขื่อนท่าแซะที่ทำเนียบรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ตามแผนที่วางไว้
ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ขณะที่ชาวบ้านจำนวน 3 คันรถบัสเตรียมออกเดินทาง ทหารจำนวน 10 นายพร้อมอาวุธอ้างอำนาจมาตรา 44 เข้าควบคุมตัวคนขับรถบัส 3 คนไปที่ค่ายอุดมศักดิ์เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านสามารถเดินทางไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพฯ ได้ ทำให้ชาวบ้านประมาณ 30 คนต้องนัดหมายและแยะย้ายกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหลบเลี่ยงการขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ จนสามารถเดินทางไปเข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลและ กสม. ได้ในช่วงสายของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:
- ชาวท่าแซะชุมพร ร้องกรรมการสิทธิฯ ถูกทหารคุกคาม หลังค้านสร้างเขื่อน
- สำนักข่าวประชาไท : https://prachatai.com/journal/2017/02/70209
- ชาวท่าแซะโวยถูกทหารเชิญตัวหลังเตรียมเดินทางเข้ากทม.ร้องทำเนียบ-กสม.ค้านเขื่อน
- สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=16154
- ทหารกักตัวชาวบ้านไม่ให้เข้าร้องเรียนค้านสร้าง “เขื่อนท่าแซะ”
- ผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9600000017808
—————————————-
- ควบคุมตัวแกนนำชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เข้าค่ายทหาร ไม่รอศาลไต่สวนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
จากกรณีภาคประชาชนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินประมาณ 200 คน รวมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลแสดงจุดยืนคัดค้านการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยเริ่มการชุมนุมบริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงสายวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ตามที่ได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะไว้แล้วโดยชอบตามกฎหมาย จนกระทั่งช่วงบ่ายภายหลังรับทราบมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่ามีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงปรับการชุมนุมข้ามถนนมายังฝั่งทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนและพิจารณาทบทวนยกเลิกโครงการ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเริ่มเข้าควบคุมพื้นที่และกดดันผู้ชุมนุม โดยการนำรถสุขาออกจากพื้นที่ ไม่ให้ประชาชนเข้าออกพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าถึงอาหาร และในขณะเดียวกันตำรวจได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม โดยอ้างว่ามีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ในขณะที่การชุมนุมดำเนินต่อไปในจนเข้าสู่ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้อ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เข้าควบคุมตัวแกนนำ 5 คนจากบริเวณที่ชุมนุมพาตัวไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 และควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมอีก 11 คนไปที่กองกำกับการสายตรวจ 191 ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในช่วงรอการไต่สวนของศาลตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นอกจากนี้ในช่วงแรกของการควบคุมตัวไป เจ้าหน้าที่มิได้แจ้งสถานที่ที่จะพาตัวไปและปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวด้วย ส่วนในพื้นที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ก็มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่เฝ้ากดดันหน้าบ้านของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อไม่ไหวมีการเคลื่อนไหวหรือเดินทางมาร่วมชุมนุมที่กรุงเทพเพิ่มเติมภายหลังแกนนำโดนควบคุมตัว
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:
- กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ลั่นชุมนุมจนกว่าจะเลิกสร้าง ซัดรัฐเมินชาวบ้านเอื้อแต่นายทุน
- ผู้จัดการออนไลน์ : https://mgronline.com/politics/detail/9600000016767
- ตร.คุมตัว 3 แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสอบ มทบ.11 ม็อบปักหลักแน่น
- กลุ่มค้านโรงไฟฟ้ากระบี่ปักหลักชุมนุมต่อ-แกนนำ 5 คน ยังถูกคุมตัวที่ มทบ.11
- ไทยพีบีเอส : https://news.thaipbs.or.th/content/260310
- แถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=3508
- แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันฯ โวยทหารคุกคามเฝ้าหน้าบ้านกดดันไม่ให้เคลื่อนไหว
- ผู้จัดการออนไลน์ : http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9600000017266
—————————————-
- ทหารเรียกพบชาวบ้านเขาหินซ้อนเตรียมเข้ากรุงยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน บังคับส่งตัวแทนแค่ 5 คน ลงพื้นที่กดดันห้ามคนอื่นตามไปด้วย
เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา นัดรวมตัวกันประมาณ 100 คน เพื่อเดินทางไปให้ข้อมูลความไม่เหมาะสมของโครงการโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน และติดตามรับฟังผลการพิจารณารายงาน EHIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรุงเทพฯ ในวันที่ 23 มีนาคม 2560
วันที่ 22 มีนาคม 2560 ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ 1 วัน ตำรวจในพื้นที่ฉะเชิงเทราติดต่อให้ตัวแทนชุมชนไปพบทหาร ณ ที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม เวลา 14.30 น. โดยในการประชุมมีทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่เข้าร่วม ผลการประชุมสรุปว่า ทาง รอง.ผบ.พล.ร.11 ยินยอมให้ฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินทางเข้ากรุงเทพไปยื่นหนังสือที่ สผ. ได้เพียงฝ่ายละ 5 คน โดยให้มีการระบุชื่อตัวแทนไว้ในที่ประชุม ชาวบ้านคนอื่นนอกจากผู้ที่มีรายชื่อ ห้ามเดินทางเข้าไปที่กรุงเทพเพื่อร่วมยื่นหนังสือเป็นอันขาด
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 มีนาคม 2560 มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้ลงพื้นที่ไปกดดันห้ามปรามชาวบ้านที่จะร่วมกลุ่มเดินทางเข้ากรุงเทพด้วย ทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องใช้วิธีแยกกันเดินทางเพื่อหลบเลี่ยงการสกัดขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:
- กลุ่มค้าน รฟฟ.เขาหินซ้อนเตรียมบุก สผ.
- Facebook: Somnuck Jongmeewasin
- คชก.ชี้ชะตารายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา บ่ายนี้
- ไทยพีบีเอส : http://news.thaipbs.or.th/content/261092
—————————————-
- คุกคามกดดันห้ามชาวบ้านวานรนิวาสเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตช – ตั้งข้อหาชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า จากกิจกรรมเดินขบวนชวนคนร่วมงานบุญ
ที่มาภาพ: Facebook ‘กลุ่มรักษ์อำเภอวานรฯ’
ต้นเดือนเมษายน 2560 ประชาชน ‘กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส’ ที่รวมตัวรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตชในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ปลัดอำเภอ ลงพื้นที่กดดันให้ยุติการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชของเอกชนรายหนึ่ง โดยมีการไปตามหาสมาชิกของกลุ่มฯถึงที่บ้านบอกให้ยุติการเคลื่อนไหว และบางรายที่ไม่พบตัวที่บ้านก็ใช้การฝากบอกผ่านครอบครัวข่มขู่ว่าหากไม่หยุดการเคลื่อนไหวอาจโดนอุ้มได้
เดือนมีนาคม 2560 หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสถูกแจ้งข้อหาความผิดฐานเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่การชุมนุมล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และกีดขวางทางจราจร กรณีการจัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2560 ซึ่งชาวบ้านที่ถูกแจ้งความยืนยันว่าการเดินขบวนดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมบอกบุญประเพณี และจัดขึ้นตามมติของที่ประชุมหมู่บ้าน โดยเขาเป็นเพียงหนึ่งในผู้เข้าร่วมและไม่ได้มีการกีดขวางทางจราจรแต่อย่างใด นอกจากนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3 ก็ได้บัญญัติยกเว้นไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่นด้วย
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2558-2559 แกนนำกลุ่มคนอื่นๆ ก็เคยถูกนายอำเภอ ทหาร ตำรวจเรียกเข้าพบเพื่อห้ามการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมคัดค้านเหมืองแร่โปแตช โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 และถูกปลดป้ายคัดค้านที่ติดไว้ในหมู่บ้านลงด้วย
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:
- ทหาร-ตำรวจ เตือนชาวบ้านกลุ่มต้านเหมืองโปแตชสกลนคร ให้ยุติการเคลื่อนไหว
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=3945
- แจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ชาวบ้านกลุ่มต้านเหมืองโปแตชสกลนคร
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=3831
- ส่งอัยการภาค 4 สั่งคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กลุ่มต้านโปแตชสกลนคร
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน : http://www.tlhr2014.com/th/?p=4154
- แห่ให้กำลังใจ’แกนนำ’ต้านโปแตชวานรนิวาส
—————————————-
- สลายการชุมนุมชาวบ้านเทพาเดินขบวนยื่นหนังสือนายกฯ คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน – ผู้ชุมนุม 16 คนถูกตั้งข้อหาความผิดหลายกระทง
ที่มาภาพ: Facebook ‘หยุดถ่านหินสงขลา’
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณ 100 คน ออกเดินจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มุ่งหน้าอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ตั้งใจจะมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 เพื่อชี้แจงถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอให้พิจารณายกเลิกโครงการ ต่อมาภายหลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ ทางตัวแทนกลุ่มจึงได้ดำเนินการยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะในช่วงเย็นวันที่ 24 พฤศจิกายน และยื่นขออนุญาตผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมเพื่อให้กิจกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ตำรวจมีคำสั่งปฏิเสธการขออนุญาตผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมและประกาศให้ชาวบ้านเลิกการชุมนุมโดยอ้างเหตุว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมิได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งที่กิจกรรมการเดินขบวนที่เริ่มต้นมาจากอำเภอเทพาเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยมาโดยตลอดไว้ และมิได้มีลักษณะที่ขัดต่อเงื่อนไขข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แต่อย่างใด
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านยังคงยืนยันดำเนินการจัดกิจกรรมเดินเท้าเพื่อไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองคุ้มครองไว้ กับทั้งได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้าครบ 24 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนดแล้วตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นต้นมา แต่เมื่อขบวนชาวบ้านเดินทางมาถึงตัวเมืองสงขลาช่วงเที่ยงวันที่ 27 พฤศจิกายนกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังสกัดกั้นไม่ให้สามารถเดินทางต่อไปได้ และในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาขอให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมด้วย เมื่อชาวบ้านผู้ชุมนุมพยายามเดินหน้าต่อไปตามเป้าหมายจึงเกิดการปะทะผลักดันกันกับเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้แกนนำและผู้ชุมนุมรวม 16 คนถูกจับกุมและดำเนินคดีหลายข้อหา ทั้งการปิดกั้นกีดขวางทางจราจรบนทางหลวง ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายเจ้าพนักงาน และพกพาอาวุธ (ด้ามธง) ไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร โดยศาลกำหนดวงเงินประกันตัวในชั้นสอบสวนสูงถึงคนละ 90,000 บาท
ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมนั้น ปรากฏว่ามีการไต่สวนตำรวจผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว และแม้ศาลจังหวัดสงขลาจะมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมตามคำร้องแต่ก็เป็นการสั่งภายหลังจากที่ตำรวจได้ดำเนินการสลายการชุมนุมไปแล้วและไม่เคยมีการประกาศแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ชุมนุมทราบแต่อย่างใด โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้เลิกการชุมนุมดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อโต้แย้งยืนยันว่าการชุมนุมเดินขบวนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:
- สลายกลุ่มต้านถ่านหินเทพา รวบ16 แกนนำ หลังเดินเท้าขอยื่นหนังสือถึงนายกฯ ครม.สัญจร
- สำนักข่าวอิศรา : https://www.isranews.org/isranews-news/61522-news-61523.html
- ตำรวจปะทะกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เจ็บ 5 – รวบแกนนำ – คุมตัวชาวบ้าน 50 ชีวิต
- สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม : https://greennews.agency/?p=15917
- 7 วันหลังยกสิทธิมนุษยชนเป็น “วาระแห่งชาติ” รัฐสลายชุมนุม จับคนค้านโรงไฟฟ้าโยงกุญแจมือ
- บีบีซีไทย : http://www.bbc.com/thai/thailand-42152982
- เครือข่ายค้านโรงไฟฟ้าเทพายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลสงขลา ยันชุมนุมสงบ 114 นักวิชาการร่วมสู้กับชาวบ้าน
——————————————–
บทสรุป
นอกจาก 5 กรณีข้างต้นแล้ว ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.ยังมีเหตุการณ์การคุกคามจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และประเด็นสาธารณะอื่นๆ อีกจำนวนมากทั้งที่มีปรากฏเป็นข่าวและเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะการตีความบังคับใช้กฎหมายและอำนาจพิเศษต่างๆ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 อย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบการออกคำสั่ง การแจ้งความดำเนินคดี การเรียกรายงานตัวหรือพาเข้าค่ายทหาร การลงพื้นที่กดดันหรือติดตามสังเกตการณ์ในการทำกิจกรรมของประชาชน เพื่อข่มขู่ขัดขวางและห้ามปรามการเคลื่อนไหวส่งเสียงของภาคประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมเอาไว้ในหลายมาตรา ในขณะที่ฝั่งของผู้ประกอบการนักลงทุนหรือโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนนั้น รัฐบาลและ คสช. กลับพยายามเร่งรีบออกกฎหมาย นโยบาย ประกาศคำสั่ง หรือใช้ปฏิบัติการหลายๆ อย่างเพื่อดึงดูดการลงทุนหรือเอื้ออำนวยให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่สนใจต่อเสียงทักท้วงของประชาชน
หากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป การประกาศคืนความสุขให้ประชาชน และประกาศให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นวาระแห่งชาติ คงเป็นได้เพียงคำโฆษณาสร้างภาพที่ปราศจากความจริงใจของรัฐบาล คสช. เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในความรับรู้ของประชาชนนั้นย้อนแย้งแตกต่างจากคำโฆษณาโดยสิ้นเชิง