กินข้าวเปื้อนพิษ! ชีวิตชาวบ้านแม่ตาว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย 

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

ภาพ : กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาและ EnLAW

เมื่อลมหายใจยังคงมีอยู่ก็ยังต้องดำเนินชีวิตกันต่อไป ปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมใน ดิน น้ำ ข้าว คน ของชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว ในตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว และตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังไม่มีทางออกนับจากวันที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2547 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 7 ปีผ่านไปก็ยังคงปนเปื้อนไปด้วยสารแคดเมียมเช่นเดิม
เมื่อปี 2547 สถาบันการจัดการน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IWMI) หรือที่ชาวแม่ตาวพูดชื่อติดปากว่า “อีมี่” ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติของสหภาพยุโรป ที่มาศึกษาวิจัยด้านทรัพยากรน้ำและดินในประเทศกำลังพัฒนา ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้เผยแพร่งานศึกษาซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในดินอันเป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว รวมทั้งในเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นการปนเปื้อนเข้มข้นในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ทั้งนี้การวิจัยดังกล่าวระบุถึงเหตุผลที่ต้องเข้ามาศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวเพราะเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งแร่สังกะสี เหมืองแร่สังกะสี และโรงงานถลุงสังกะสี ของบริษัท ผาแดง อินดัสเตรียล จำกัด

เหตุผลนี้ทำให้เกิดข้อกังขาเสมอมาว่าก่อนที่จะมีการอนุมัติอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น รัฐบาลไทยได้มีการศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หรือมีการจัดทำฐานข้อมูลก่อนการดำเนินการเหมืองแร่เพื่อการติดตาม ควบคุม ตรวจสอบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงในการได้รับสารพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือไม่
เมื่ออีมี่แถลงข่าวกับสื่อมวลชนซึ่งเผยแพร่ไปทั่วประเทศ ก็เป็นเสมือนการกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากสารแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว จนทำให้หน่วยงานต่างๆ ระดมกำลังลงไปศึกษาปัญหาการปนเปื้อนทั้งในดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว ลำห้วยแม่ตาวซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านได้พัฒนาระบบชลประทานราษฎร์คือระบบเหมืองฝายเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ในไร่นาและทำการเพาะปลูกพืชอาหาร เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด พืช ผักต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งมีการศึกษาติดตามการปนเปื้อนแคดเมียมในเมล็ดข้าว พืชผัก ตลอดจนสัตว์น้ำในลำห้วยแม่ตาว และห้วยสาขาซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนท้องถิ่นเช่นเดียวกัน รวมถึงมีการตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งปรากฏว่าทั้งดิน น้ำ ข้าว และคน มีสารแคดเมียมปนเปื้อนในปริมาณสูง ระดับที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมนี้นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นหลายคณะทำงาน เพื่อศึกษาและหาแนวทางการแก้ไข โดยมีมาตรการเร่งด่วน คือ รัฐบาลมีมาตรการตัดวงจรข้าวผสมพิษแคดเมียมโดยการรับซื้อข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมเพื่อทำลาย ทั้งโดยการเผา การนำไปฝังกลบในหลุมเหมือง โดยตกลงจ่ายค่าชดเชยให้ชาวนาเป็นเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 – 2549) พร้อมกับวางแผนระยะยาวด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันไปปลูกอ้อย ซึ่งเป็นพืชพลังงานเพื่อนำไปผลิตเอทานอลในเวลาต่อมา เป็นการปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว นอกจากนี้ก็มีการส่งเสริมการเลี้ยงโค การปลูกยางพารา อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีการศึกษาถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และมิได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการตัดสินใจดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็น

เสมือนมาตรการบังคับ เพราะหากชาวบ้านที่ไม่เข้าโครงการนี้ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยการทำนาข้าวและไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากทางหน่วยงานรัฐต่อไปด้วย
 
“ถ้าพ่อไม่เกี่ยวข้าวเอาไปเผาตามคำสั่งของรัฐ พ่อจะผิดกฎหมายหรือไม่” ข้อสงสัยของ พะเก่โพ สะการะคีรี อายุ 76 ปี พ่อเฒ่าชาวปกากะญอ แห่งบ้านพะเด๊ะ ตำบลพระธาตุผาแดง ที่เล่าเหตุการณ์ที่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 7 ปีแต่คำบอกเล่าก็ยังสั่นเครือ แม้จะถูกบีบบังคับด้วยเงื่อนไขใดแต่เขาก็เป็น 1 ใน 8 ครอบครัวของชาวปกากะญอบ้านพะเด๊ะที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ให้นำข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปเผาทิ้ง รวมทั้งไม่ยอมรับค่าชดเชย และไม่ยอมเข้าโครงการส่งเสริมอาชีพใด ๆ เขายังคงทำนาปลูกข้าวกินและขายต่อไป
“ข้าวนั้นเป็นเหมือนแม่ เผาข้าวก็เหมือนเผาแม่ตัวเอง แม่ที่ยังมีลมหายใจอยู่แล้วเราเอาไปเผา”ผู้เฒ่าผู้นี้บอกเล่าความคิดของตัวเองขณะเก็บเกี่ยวข้าวที่กำลังสุกเหลืองเต็มนาในปีนี้ และอธิบายว่าไม่ว่าวันนี้หรือวันไหนตนก็จะไม่เลิกทำนา เพราะไม่เคยเลิกกินข้าว
เช่นกันกับชาวบ้านอีกจำนวนมากในลุ่มน้ำแม่ตาวที่ปัจจุบันหันกลับมาปลูกข้าวกินและขายเช่นเดิมแม้รู้ทั้งรู้ว่าในดินนั้นเปื้อนแคดเมียม
 
ก่อนหน้านี้หลายคนเคยลองปลูกอ้อย ปลูกยางพารามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้ผล เพราะพื้นนิเวศลุ่มน้ำแม่ตาวนั้นคือผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกข้าวมากที่สุด เห็นได้จากวิถีชีวิตของพวกเขาผูกพันกับการปลูกข้าวด้วยจิตวิญญาณมิใช่เป็นเพียงการประกอบอาชีพ ดังนั้นการใช้เพียงกฎหมาย คำสั่งไปบังคับไม่ให้ทำนานั้น มันได้ทำลายไปมากกว่าข้าวที่เกี่ยวมาเผา
หลังปี 2547 มีการตรวจพบสารแคดเมียมระดับที่เป็นอันตรายในร่างกายประชาชน โดยโรงพยาบาลแม่สอดได้ออก “บัตรผู้ป่วยแคดเมียม” ให้กับประชาชนที่มีสารแคดเมียมปริมาณสูงในร่างกาย เพื่อไปรับการรักษาพยาบาลในแผนกที่จัดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแคดเมียม
7 ปีผ่านไป คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมานั้นเงียบหายไป ไม่มีการนำข้อมูลกลับมาคืนชุมชนหรือเสนอแนวทางฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เป็นระบบ แต่จำนวนผู้ป่วยไตเสื่อม กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ โรคอื่นๆ ที่เป็นผลจากการรับสารแคดเมียมในร่างกายเพิ่มจำนวนขึ้น ในลุ่มน้ำแม่ตาว พบผู้ป่วยที่ต้องล้างช่องท้องเพราะเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ทยอยเสียชีวิตไปอย่างช้าๆ ซึ่งในหมู่บ้านหนึ่งๆ พบว่ามีผู้ที่ต้องล้างช่องท้องเพราะโรคไตหลายราย รวมทั้งผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนที่ต้องนัดไปรับยาจากหมอเป็นประจำทุกเดือนก็มีจำนวนมากเช่นกัน นั่นย่อมไม่ใช่เหตุการณ์ปกติและแสดงให้เห็นถึงปัญหาพิษแคดเมียมในดิน ในน้ำ ในข้าว และในคนว่ายังวนเวียนเป็นวัฏจักรความเจ็บป่วยเพราะมลพิษจากสิ่งแวดล้อม
การบังคับให้เปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองจากการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอันเป็นวิถีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เปลี่ยนไปปลูกอ้อย ปลูกยางพารา หรือไม้ดอกไม้ประดับ แต่เหมืองแร่ที่อยู่บนยอดเขาและเป็นที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุที่ไปขุดตักและทำให้แคดเมียมที่นอนนิ่งอยู่ใต้ดินกระจายสู่สิ่งแวดล้อมนั้นยังดำเนินการต่อไป และมีแนวโน้มจะขยายพื้นที่ประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่สถานการณ์ของชาวบ้าน กลับต้องแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นเมื่อลงทุนไปแล้วมิได้ผลผลิตกลับมา แถมยังไม่มีข้าวกิน ในแต่ละปีต้องหาเงินไปซื้อข้าวกิน
 
“แต่ก่อนปลูกข้าวยังมีข้าวกินแม้จะไม่มีเงินก็ตาม แต่ตอนนี้เมื่อปลูกพืชอื่นขายไม่ได้ ไม่มีเงิน แล้วยังไม่มีข้าวกินอีก”
 

ประภัย พรมเสน อายุ 47 ปี ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวพรมเสน ชาวบ้านแม่ตาวใหม่ กล่าวออกมาด้วยความเจ็บปวด และเล่าว่าในปัจจุบัน (ปี 2554) ชาวบ้านได้หันกลับมาปลูกข้าวทำนาดังเดิม แม้จะรู้ว่า
 
ชีวิตจะต้องพบกับความเสี่ยงอีกรอบเนื่องจากพื้นที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา ยังคงมีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
“กินข้าวเปื้อนแคดเมียมก็ยังดีกว่าอดตายเพราะไม่มีข้าวกิน เห็นไหมน้ำท่วมกรุงเทพฯไม่กี่วันเขาไม่มีข้าวกินยังทุกข์ทรมาน แล้วเราชาวนาไม่มีข้าวจะกินมาหลายปีมันจะทุกข์แค่ไหน”
ประภัยกล่าวย้ำเปรียบความอดอยากที่ตนและชาวนาแห่งลุ่มน้ำแม่ตาวเผชิญหน้ามายาวนาน และยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะความเจ็บป่วย ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตตลอดเวลาหลังจากรับรู้ถึงพิษภัยของแคดเมียมที่เกิดขึ้น
“มีดินก็ทำกินไม่ได้ และยังยกดินนี้เป็นมรดกพิษให้ลูกหลาน ฉันเป็นคนแม่ตาวแท้ ๆ ถ้าให้เลือกตอนนี้ฉันอยากจะหนีไปให้ไกล” ฟองรัตน์ คำใจ อายุ 49 ปี ชาวบ้านแม่ตาวใหม่ ผู้ซึ่งต้องดูแลล้างไตให้พ่อมูล คำใจ วันละ 4 ครั้งมาแล้วเป็นเวลา 2 ปีเต็ม และในครอบครัวนี้ยังต้องดูแลแม่ที่เป็นผู้ป่วยจากการมีแคดเมียมในร่างกายสูงและต้องไปรับยาเป็นประจำทุกเดือน เล่าถึงความกดดันภายในครอบครัวของตนเองด้วยน้ำตานองหน้า
“การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายนั้นไม่มีใครจ่ายได้ตลอดไป แต่การหยุดต้นเหตุของปัญหาหยุดขุดทำลายหน้าดิน หยุดทำเหมือง คือการหยุดต้นเหตุของพิษภัย แล้วฟื้นฟูดินให้เราพึ่งพาได้ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน”
ฟองรัตน์ กล่าวกับผู้เขียนอีกว่า “เราไม่ได้อยากได้ค่าชดเชย แต่เราอยากเป็นคนมีสุขภาพดี มีนาข้าว มีที่ดินที่ปลอดภัยเป็นมรดกให้ลูกหลาน”
 
จากพิษภัยและความเจ็บป่วยที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ ทำให้มีการยื่นฟ้องร้องต่อรัฐและเหมืองแร่ ซึ่งเป็นความพยายามอีกครั้งของกลุ่มผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากพิษแคดเมียม โดยมีชาวบ้านได้รวมตัวกันทั้ง 3 หมู่บ้านมอบอำนาจให้สภาทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลยุติธรรม ฟ้องบริษัททำเหมืองแร่สังกะสี 2 บริษัทบนลุ่มน้ำแม่ตาว ให้ชดใช้ค่าเสียหายประมาณ 3,000กว่าล้านบาท จากการทำเหมืองแร่สังกะสีและส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนสารแคดเมียมจนไม่สามารถกินข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ปลูกได้ และค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่ได้รับจากสารพิษแคดเมียมสะสมในร่างกาย และฟ้องหน่วยงานรัฐ 6 หน่วยงานต่อศาลปกครอง ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฟื้นฟู เยียวยาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ป่วยจากการได้รับสารพิษแคดเมียมสะสมในร่างกาย และให้หยุดการประกอบกิจการเหมืองแร่สังกะสีของทั้ง 2 บริษัท

ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีรายหนึ่งบอกว่า “แม้คนอื่นอาจมองว่าเราฟ้องเพื่อต้องการค่าชดเชย ต้องการเงิน แต่เราอยากบอกว่า ค่าชดเชยนั้นก็เป็นค่าเสียหายที่ผู้ที่กระทำผิดควรที่จะต้องจ่ายเพื่อสิ่งที่สูญเสีย เสียหายไปแล้ว เช่น ขอถามว่าค่าชดเชยนั้นจะสามารถทำให้พ่อที่ป่วยต้องนอนล้างช่องท้องอันเนื่องจากโรคไต อยู่ที่บ้านวันละ 4 เวลา กลับมาเป็นคนแข็งแรงดังเดิมได้หรือไม่ ค่าชดเชยนั้นก็เป็นเพียงเงินที่จะมารักษาพ่อต่อไปเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญกว่าที่เราต้องการคือต้นเหตุของปัญหาต้องได้รับการแก้ไข หรือหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนควรเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและทำให้ปัญหาหมดไป เราอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด มีสุขภาพที่แข็งแรง มิใช่ใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม แล้วลูกหลานเราต่อไปเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”
การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐ ก็เสมือนกับการมิได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย เนื่องจากชีวิตของประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถรอคอยการแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับต้องพบกับความเจ็บป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และการใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ อันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปัจจุบันมีตัวเลขของประชาชนเป็นผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนสารพิษแคดเมียมในร่างกายสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมากถึง 844 ราย โดย 40 ราย มีอาการไตวายและไตเสื่อม อีก 219 รายอยู่ในภาวะไตเริ่มเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และภาวะกระดูกพรุน ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมาก
บทเรียนนี้ทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนถึงมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกับการพัฒนาต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และการนำผู้ก่อมลพิษมาลงโทษ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศ มิใช่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อม ผืนดิน แหล่งน้ำ และอากาศ ของไทยปนเปื้อนไปด้วยมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารแคดเมียมที่ลุ่มน้ำแม่ตาว สารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ (จากเหมืองแร่ตะกั่ว) สารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ (จากเหมืองแร่ดีบุก) สารไซยาไนด์ ปรอท และตะกั่ว (จากเหมืองแร่ทองคำ) ที่บ้านนาหนองบง จังหวัดเลย รวมทั้งปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ฯลฯ ชีวิตคนไทยต้องเปื้อนพิษ และชีวิตแม่ตาวเปื้อนแคดเมียมไปอีกนานแค่ไหนกัน

 ตีพิมพ์ครั้งแรก : เว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554

บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเราในช่องทาง Social
บทความล่าสุด