คำนำผู้แปล
สืบเนื่องจากช่วงประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้ประสบกับปัญหามลพิษที่รุนแรงหลายเหตุการณ์ เช่น การปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี การปนเปื้อนสารแคดเมียมในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง การลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมจนปนเปื้อนสู่น้ำใต้ดินในพื้นที่ อ.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา การรั่วไหลของน้ำมันดิบจนปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง หรือล่าสุดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่ จ. สมุทรปราการ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก
ในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาหลายปี ผมพบว่าปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้านเราไม่ได้รับการดูแล หรือเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น มาจากความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ ซึ่งปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจาก โครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่กระจัดกระจายของหน่วยงานรัฐ ความไม่มีเอกภาพในการจัดการปัญหา เมื่อเกิดปัญหาขึ้นเราจึงไม่อาจหาเจ้าภาพเข้ามาจัดการปัญหาได้ง่าย ๆ เพราะต่างฝ่ายก็จะชี้นิ้วไปยังหน่วยงานอื่น ปัญหาดังกล่าวบวกกับวัฒนธรรมที่ไม่กล้าก้าวล่วงอำนาจของหน่วยงานอื่นในกรณีที่อำนาจหน้าที่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและเป็นระบบก็เลยไม่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมกับชุมชนก็ต้องเป็นรับภาระของความล่าช้านี้ไป เราเป็นอย่างนี้มาตราบนานเท่านานผู้แปลพยายามหาคำตอบว่าโครงสร้างหน่วยงานรัฐแบบใดที่จะเอื้อให้การทำงานในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพ ในการพยายามค้นหาคำตอบนี้เอง ผู้เขียนก็พบว่ารูปแบบองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา หรือ EPA เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมาก ที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงพยายามแปลบทความเกี่ยวกับ EPA มาลงในเว็บไซต์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อ่าน โดยเริ่มต้นจากเรื่องการก่อกำเนิดขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
——————————————————————————————————————————————————————–
การก่อกำเนิดขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา
*ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ภาพประกอบและการอ้างอิงโปรดดู: The Guardian: Origins of the EPA
การเริ่มต้น
แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมของชาวอเมริกันเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวที่โด่งดังในช่วงบ่ายของฤดูใบไม้ผลิในปี ๑๙๗๐ ในวันพุธที่ ๒๒ เมษายน เป็นวันที่ท้องฟ้าสีครามสดใส ลมอ่อน ๆ อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ ๖๐ องศาฟาเรนไฮต์ (๑๕.๕ องศาเซลเซียส – ผู้แปล) เป็นสภาพอากาศที่ครอบคลุมเมืองนิวยอร์กและวอชิงตัน ดีซี และเมืองอื่น ๆ ส่วนมากก็ได้สัมผัสกับสภาพอากาศอย่างเดียวกัน ในวันนั้นอิทธิพลของธรรมชาติมีความหมายเป็นพิเศษ ประเทศได้ร่วมกันเฉลิมฉลองอากาศ ผืนดินและน้ำที่บริสุทธิ์ โดยการกระตุ้นของช่วงหยุดพักผ่อนฤดูหนาวประชาชนหลายล้านคนได้จึงได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองในครั้งนี้
วันโลก (Earth Day) ครั้งแรก อาจทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไม่นาน คือ การลงเหยียบบนพื้นดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เมื่อนักบินอวกาศจับกล้องกลับมายังโลกและจับภาพของดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่สวยงาม โลกได้เห็นตัวเองด้วยมุมมองใหม่ อย่างไรก็ตามบริบทของวันโลกในปี ๑๙๗๐ ยังห่างไกลจากภาพที่มองมาจากเบื้องบน แต่ได้สะท้อนยุคสมัยแห่งความวุ่นวาย เนื่องจากกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นต้นมา ถนนกลายมาเป็นสถานที่สาธารณะเพื่อการแสดงออกของผู้ที่ไม่พอใจกับสังคมและการเมือง ไม่เพียงเท่านั้นวันโลกยังทำให้ยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเฉพาะของมันเอง อาจมีควันกัญชาลอยอบอวนอยู่บริเวณงานฉลองในบางวัน แต่ไม่ปรากฏว่ามีเหตุความรุนแรงและการเผชิญหน้าอยู่เลย
ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาผู้ว่าการ จอห์น วี ลินดเซย์ ตัดสินใจที่จะให้เกียรติกับวันนี้อย่างมีรสนิยม ด้วยการปิดการจราจรเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง บนถนนหลักที่ ๕ จาก ถนนย่อย ๑๔ ไปจนถึงสวนสาธารณะกลาง ตามทางเดินที่กว้างขวางนี้เอง คนจำนวนมากได้ออกมายังถนนและทางเดิน ความสนใจของผู้คนจำนวนมากมุ่งไปที่จัตุรัสยูเนี่ยน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของการลุกขึ้นประท้วงทางการเมืองในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ในวันนี้ผู้คนมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ได้มาชมการถกเถียง การบรรยาย และการเล่นเกมโยนจานบินอย่างไม่หยุดหย่อน ณ จุดตัดของถนนที่มีชื่อเสียง นักนิเวศวิทยานาม มาร์ดิ กราส ใช้เวลาจากบ่ายถึงเที่ยงคืนไปตามถนนย่อย ๑๔ จาก ถนนหลักที่ ๓ ถึง ถนนหลักที่ ๗ ขณะที่นักร้องเพลงพื้นบ้าน โอเด๊ดต้า ร้องเพลง “We shall Overcome” วงดนตรีร๊อคเล่นเพลงในตำนานของวงเดอะบีเทิล “Power to the People” ที่วอชิงตัน ดีซี รัฐสภา งดเว้นจากภารกิจปกติอันเนื่องมาจากสมาชิกส่วนมากไม่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด รู้สึกว่าจำเป็นต้องไปปรากฏตัวในเขตเลือกตั้งของตน ส่วนประธานาธิบดีนิกสันยังคงทำงานตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาล
@@@@@@@@@@
ผู้มาก่อน : การอนุรักษ์
ขณะที่วันโลกเป็นการเริ่มต้นของแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่รับรู้ได้ในปัจจุบัน แต่การยอมรับคุณค่าของธรรมชาติและการรับรู้ถึงความสำคัญของผลกระทบอันเนื่องมาจากการทำลายธรรมชาติในอเมริกานั้น สามารถสืบย้อนกลับไปได้หลายศตวรรษ ยกตัวอย่างเช่น ในปี ๑๖๕๒ เมืองบอสตันได้สร้างระบบกักเก็บน้ำสาธารณะขึ้น ซึ่งในศตวรรษต่อมาหลายเมืองในรัฐเพนซิลวาเนียได้ดำเนินการอย่างเดียวกัน โดยในปีค.ส. ๑๘๐๐ เทศบาลเมืองจำนวน ๑๗ แห่งได้ใช้มาตรการเดียวกันนี้เพื่อปกป้องพลเมืองของตนจากแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามเพียงไม่นานหลังจากการปฏิวัติอเมริกัน คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย ชาร์ลตัน และบอสตัน ก็ไม่สามารถหลีกหนีจากผลกระทบของการขยายความเป็นเมือง เช่น กลิ่นของขยะที่มาจากแม่น้ำใกล้ ๆ ขยะของมนุษย์และสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีอยู่ทั่วไป กลิ่นของอาหารที่บูดเน่า เสียงตะโกนจอแจของพ่อค้าแม่ค้าบนถนนแคบ ๆ และการชำรุดทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วของถนนจากรอยเท้าสัตว์และล้อเกวียน
แนวคิดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ ๑๙ ได้ทำให้ผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น พวกคนที่มีการศึกษาเป็นพวกแรกที่รับรู้ถึงแนวโน้มนี้ เฮอร์แมน เมลวิว กับวรรณกรรมเรื่อง โมบี้ดิก (๑๘๕๑) และหนังสือเรื่อง วอลเดน หรือ ชีวิตในป่า (๑๙๕๔)ของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร ได้เน้นให้ความสำคัญของพลังอำนาจและความเงียบสงบของธรรมชาติ นักเขียนรุ่นที่สองที่อาจจริงจังขึ้นอันเป็นผลจากการตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งตะวันตกของคนอเมริกัน ได้ผลิตงานเขียนโดยไม่มีการอำพรางจากเรื่องแต่ง จอห์น เบอร์รัฟซ์ ได้ตีพิมพ์บทความ ๒๗ เรื่องเกี่ยวกับความใกล้ชิดและประสบการณ์กับธรรมชาติ จอห์น มิวเออร์ ผู้เผยแพร่ความคิดของการใช้ชีวิตเผชิญกับโลกภายนอกชาวสก๊อตได้เขียนบรรยายข้อสังเกตของเขาไว้ในหนังสือชุดเริ่มต้นด้วย ภูเขาแห่งแคลิฟอร์เนีย ในปี ๑๘๙๔
ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ผู้ซึ่งเคยร่วมเดินทางพักแรมที่ฝั่งตะวันตกกับมิวเออร์ ในปี ๑๙๐๓ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้เขาได้รับความนิยมทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างและหลังการบริหารของเขาการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกลายมาเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาล
นโยบาย นิวดีล ของประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลท์ ได้มีการออกมาตรการเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ศูนย์อนุรักษ์ดินได้ถูกตั้งขึ้นในปี ๑๙๓๕ เพื่อมีหน้าที่ในการนำข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์มาปรับใช้เพื่อลดการกรัดกร่อนของดินเพื่อการเกษตร การลดลงของสัตว์ได้รับการยอมรับไว้ในเนื้อหาของกฎหมาย พิทแมน-โรเบอร์สัน ปี ๑๙๓๗ ที่ได้ตั้งกองทุนเพื่อสัตว์ป่าและปลา โดยนำเงินมาจากภาษีที่รัฐบาลกลางเรียกเก็บจากเครื่องมือจับปลาและล่าสัตว์ โครงการที่ทะเยอทะยานมากที่สุดคือการที่ รัฐวิสาหกิจเทนเนสซี วอลเลย์ ได้ก่อสร้างเขื่อนจำนวน ๙ เขื่อน และเชื่อมโยงสถานีผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ด้วยกัน
@@@@@@@@@@
จากนิเวศน์สู่แนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยม
นิยามของธรรมชาติในฐานะที่เป็นสถานที่เก็บทรัพยากรธรรมชาติขนาดมหึมาที่มีไว้เพื่อให้มนุษย์จัดการได้เปลี่ยนไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ การใช้ชีวิตที่แนวหน้าเช่นเดียวกับคนที่อยู่ข้างหลังได้ลดความต้องการของประเทศในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลกลางลง มากไปกว่านั้นการส่งกำลังพลกลับบ้านอย่างรวดเร็วในปี ๑๙๔๕ และ ๑๙๔๖ ส่งผลให้อัตราการเกิดของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ให้ออกให้กับทหารผ่านศึกผลักให้มีการตั้งถิ่นฐานในเขตชานเมืองขยายไปจากเขตเมือง ขณะที่ชนชั้นกลางพบว่าตนเองได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ชายขอบของพื้นที่เปิด คำถามทางการเมืองเกี่ยวกับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมซึ่งอยู่ถัดจากหลังบ้านตนไปก็ปรากฏขึ้น แนวคิดนิเวศวิทยา ซึ่งให้ค่ากับความงามและสิ่งมีชีวิตมากกว่าประสิทธิภาพและการค้าก็เริ่มเข้ามาปรากฏในสำนึกของสาธารณชน
การเติบโตของเมืองทำให้ความเลวร้ายของมลพิษเห็นได้โดยง่าย สื่อหลายสำนักรายงานข่าวการทิ้งอาวุธนิวเคลียร์และผลกระทบของมันในห่วงโซ่อาหาร อันตรายที่มีต่อแหล่งน้ำในเมืองและความเสื่อมโทรมของคุณภาพอากาศในเมือง การเปรียบเทียบที่เข้าใจง่ายของ “ข่ายใยของชีวิต” ที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นสำหรับการดำรงอยู่ที่หลากหลายของพวกมัน ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองสาธารณชนจึงมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงต่อหนังสือที่โด่งดังเรื่อง “ความเงียบสงัดในฤดูใบไม้ผลิ” ของ ราเชล คาร์สัน ที่ตีพิมพ์ในปี ๑๙๖๒ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่สร้างความตื่นตระหนกได้อย่างเงียบ ๆ เกี่ยวกับการแพร่กระจายของพิษจากยาฆ่าแมลงที่มีต่อมนุษย์และธรรมชาติ หนังสือของเธอประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดการประท้วงอย่างโกรธเกรี้ยวของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติ ไม่ใช่สำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคตแต่เพราะคุณค่าในตัวของมันเอง
ในกระบวนการของการเปลี่ยนแนวคิดนิเวศวิทยาจากศาสตร์ที่ไร้ชีวิตชีวามาเป็นความคิดความเชื่อของนักกิจกรรม โดยไม่ตั้งใจ คาร์สัน ได้เริ่มแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ได้แก่ การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้รัฐไม่เพียงแต่ต้องปกป้องโลกแต่ต้องควบคุมและลงโทษผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษต่อโลกด้วย เมื่อรับรู้ได้ถึงประโยชน์ในการเลือกตั้งจากกระแสผลักดันเหล่านี้ ประธานาธิบดี เคนเนดี้ และ จอห์นสัน ก็ได้เพิ่มเติมเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าในปาฐกถาและโครงการที่จะออกกฎหมายของพวกเขา ในปาฐกถาต่อรัฐสภาในปี ๑๙๖๔ และ ๑๙๖๕ ลินดอน จอห์นสัน ได้แสดงถ้อยแถลงที่ทรงพลังเกี่ยวกับการปกป้องธรรมชาติและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม
ริชาร์ด นิกสัน ได้แสดงความกระตือรือร้นเช่นเดียวกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งคนก่อน ๆ ทั้งหลาย ที่จะเอาประโยชน์จากประเด็นนี้ และเขาก็ได้ชูมันขึ้นมาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ๑๙๖๘ อย่างไรก็ตามขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเขาได้ลงมือทำด้วยความลังเล โดยการลงมือทำในสองทิศทาง ณ เวลาเดียว ในด้านหนึ่งเขาก็แสดงความกังวลในการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมลพิษระดับชาติ องค์กรภายในกระทรวงพาณิชย์ซึ่งองค์ประกอบมีเพียงผู้บริหารของบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็ใช้อำนาจยับยั้งกฎหมายน้ำสะอาดฉบับถึงสองครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในปี ๑๙๖๙ และ ๑๙๗๐ เขาก็ให้ความเห็นชอบและเป็นผู้ทำให้เกิดความต่อเนื่องของมาตรการด้านการกำจัดสิ่งสกปรก ซึ่งได้พยายามขยายอำนาจของรัฐบาลกลางในการปกป้องควบคุมสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
@@@@@@@@@@
การปฏิวัติทางสิ่งแวดล้อม
เพียงสี่เดือนหลังงานฉลองการเข้ารับตำแหน่งในเดือน มกราคม ๑๙๖๙ ประธานาธิบดีนิกสัน ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นในคณะรัฐมนตรีของเขาพร้อม ๆ กับกับคณะกรรมการที่ปรึกษาพลเมืองด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฝ่ายค้านแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงทั้งต่อการดำเนินการนี้และต่อตัวนิกสัน ที่อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปจนต้องลุกขึ้นมารับความท้าทายเหล่านี้ นิกสันได้ขอให้ รอย แอล แอช ผู้ก่อตั้ง ลิตตั้น อินดัสทรี เป็นผู้นำของคณะที่ปรึกษาขององค์กรฝ่ายผู้บริหารและจัดทำข้อเสนอแนะให้มีการปฏิรูปองค์กร ในเดือนพฤศจิกายน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาภายในแนะนำให้ แอซ ศึกษาว่าควรมีการรวมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของรัฐบาลกลางเข้ามาอยู่ในหน่วยงานเดียวหรือไม่ ระหว่างการประชุมในฤดูใบไม้ผลิในปี ๑๙๗๐ เป็นครั้งแรกที่ แอซ แสดงออกถึงความต้องการที่จะให้มีหน่วยงานเดียวขึ้นมาดูแลทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในเดือนเมษายนเขาก็เปลี่ยนใจ ในบันทึกที่ทำถึงประธานาธิบดีเขาผลักดันให้มีองค์กรกำกับควบคุมที่แยกออกมาเพื่อทำภารกิจในการต่อต้านมลพิษ
การก่อตั้งสถาบันใหม่นี้ขึ้นมา แท้จริงแล้วก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนสุดท้ายของการเดินทางอย่างรวดเร็วไปสู่จิตสำนึกสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ รัฐสภายอมรับถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าวในช่วงปลายปี ๑๙๖๙ โดยการผ่านกฎหมายนโยบายสิ่งแวดล้อมของชาติ กฎหมายฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐบาล จากเดิมที่เป็นเพียงผู้อนุรักษ์ธรรมชาติ มาเป็นผู้ปกป้องโลก อากาศ ดินและน้ำ กฎหมายได้ประกาศเจตนาของรัฐสภาไว้ว่า “เพื่อสร้างและคงไว้ซึ่งเงื่อนไขที่มนุษย์และธรรมชาติสามารถดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืน และ เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับชาวอเมริกันทุกคน ในความพึงพอใจต่อ ความปลอดภัย สุขอนามัย ความสวยงาม วัฒนธรรม ที่อยู่รอบตัว” ด้วยเหตุผลเช่นนี้เองหน่วยงานของรัฐบาลกลางทั้งหมดที่วางแผนโครงการซึ่งจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงถูกบังคับให้ต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังและรับรู้ในนามรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง กฎหมายสิ่งแวดล้อมของชาติ ๑๙๖๙ ได้แนะนำให้ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมการว่าด้วยคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นภายในคณะรัฐมนตรีของเขา
รองเลขาธิการกระทรวงมหาดไทย รัสเซล อี เทรน ตอบรับเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาชิกในคณะกรรมการจำนวน ๓ คนและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ช่วยประธานาธิบดีในการเตรียมรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อมประจำปีต่อรัฐสภา รวมรวมข้อมูล และให้คำแนะนำด้านนโยบาย การลงชื่ออนุมัติกฎหมายท่ามกลางเสียงอึกทึกในงานเฉลิมฉลองปีใหม่ของปี ๑๙๗๐ ประธานาธิบดี นิกสัน พบว่าเขาได้ปักใจเชื่อมากยิ่งขึ้นว่าปี ๑๙๗๐ นี้เองที่อเมริกาต้องจ่ายหนี้ที่ได้ก่อไว้ในอดีต ด้วยการเรียกเอาความบริสุทธิ์ของอากาศ น้ำ และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิตของพวกเรากลับคืนมา เขากล่าวไว้ว่า “เราต้องทำเดี๋ยวนี้หรือไม่ทำเลย”
สามอาทิตย์ต่อมาเขาก็ได้แสดงให้เห็นถึงการริเริ่มดำเนินการสิ่งใหม่ ๆ โดยในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภานั้น ประธานาธิบดีได้กล่าวถึงช่วงศตวรรษใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ เขาได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๓๗ เรื่องอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และได้เรียกร้องงบประมาณจำนวน ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สำหรับการปรับปรุงอุปกรณ์บำบัดน้ำ เรียกร้องให้มีมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติและคู่มือที่เคร่งครัดเพื่อลดการปล่อยควันของรถยนต์ และเริ่มงานวิจัยที่สนับสนุนโดยรัฐบาลกลางเพื่อลดมลพิษจากรถยนต์ นิกสัน ยังออกคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสถานที่ประกอบการต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางที่มีการปนเปื้อนในอากาศและน้ำ เสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อหยุดการทิ้งขยะลงใน เกรตเลคส์ เสนอให้มีการเก็บภาษีต่อการเติมตะกั่วลงในน้ำมัน นำเสนอแผนที่เคร่งครัดในการป้องกันการขนถ่ายน้ำมันทางทะเลต่อรัฐสภา และอนุมัติแผนในอนาคตของประเทศเพื่อจัดการกับการรั่วไหลของปิโตรเลียม
@@@@@@@@@@
องค์การเพื่อสิ่งแวดล้อม
หลังจากที่ได้นำเสนอข้อเสนอใหม่ ๆ เหล่านี้ในฤดูใบไม้ผลิ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลก็สามารถที่จะทุ่มเทความใส่ใจทั้งหมดไปยังส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงการ การดำเนินการตามคำแนะนำของ รอย แอซ ประธานาธิบดีตัดสินใจตั้งองค์กรควบคุมตรวจสอบที่เป็นอิสระขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการบังคับใช้นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในการแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เขาได้ประกาศความตั้งใจที่จะตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของอเมริกา หรือ EPA ขึ้นและไม่ทิ้งข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับอำนาจที่กว้างขวางขององค์กรนี้ นิกสัน แถลงถึงพันธกิจของมันว่าจะมุ่งไปที่
• การสร้างและบังคับใช้มาตรฐานในการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศ
• ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางของมลพิษ รวมถึงวิธีการและเครื่องมือในการควบคุม การรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและให้คำแนะนำเพื่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
• ช่วยเหลือส่วนอื่น ๆ ผ่านทางการให้ทุน ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค และช่องทางอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
• ให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาและให้ข้อเสนอแนะต่อประธานาธิบดีเกี่ยวกับนโยบายใหม่ ๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม
ประธานาธิบดีปฏิบัติตามถ้อยแถลงของเขาโดยการเสนอแผนปฏิรูปองค์กรหมายเลข ๓ ต่อรัฐสภาในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๑๙๗๐ ซึ่งเขาได้แจ้งต่อรัฐสภาถึงความตั้งใจของเขาที่จะสร้าง EPA ขึ้นจากส่วนของ ๓ กระทรวง ๓ สำนักงาน ๓ ส่วนงาน ๒ คณะที่ปรึกษา ๑ คณะกรรมกรร ๑ ศูนย์บริการ และสำนักงานอื่น ๆ อีกจำนวนมาก โดยกระทรวงมหาดไทยจะมอบส่วนการจัดการคุณภาพน้ำของรัฐและส่วนงานที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระทรวงสาธารณสุข การศึกษาและสวัสดิการสังคมจะมอบส่วนงานที่เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศ การศึกษาวิจัยการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยาและส่วนจัดการขยะที่เป็นของแข็ง ความปลอดภัยของน้ำ และบางส่วนของส่วนงานสุขภาพที่เกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสี กระทรวงเกษตรก็จะมอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยส่วนวิจัยของกระทรวง ขณะที่คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์และคณะกรรมการกัมมันตภาพรังสีก็จะมอบส่วนงานที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานของกัมมันตภาพรังสีให้ ท้ายที่สุดงานวิจัยด้านนิเวศวิทยาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการที่ปรึกษาก็จะถูกโอนมายังหน่วยงานใหม่นี้
การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกาถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี ๑๙๗๐ โดยมีการให้การสนับสนุนข้อเสนอของประธานาธิบดีอย่างแข็งขัน คณะอนุกรรมปฏิบัติการของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการปฏิรูปฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มี เชท โฮลิฟิล สมาชิกรัฐสภาของรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นประธาน ได้จัดงานรับฟังความคิดเห็นขึ้นในวันที่ ๒๒, ๒๓ กรกฎาคม และ ๔ สิงหาคม เพื่อไต่สวนเกี่ยวกับแผนปฏิรูปองค์กรหมายเลข ๓ หัวหน้าพยาน รัสเชล เทรน ได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันโดยคาดการณ์ว่า “วิสัยทัศน์เพื่อน้ำและอากาศบริสุทธิ์ขององค์กร จะทำให้เรามีความเป็นเอกภาพและภาวะผู้นำซึ่งจำเป็นต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม” ขณะที่ รอยแอซ ให้การในวันต่อมาว่า “สภาพกระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ ของการควบคุมมลพิษที่เป็นอยู่นั้น ถ้ายังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะไปจำกัดความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก แม้ว่าเราจะขยายพันธะกิจในการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อมออกไปก็ตาม” ต่อมาก็มีการให้การพยานต่อต่อคณะอนุกรรมการปฏิบัติการของวุฒิสภาเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรและการวิจัยฝ่ายบริหารในวันที่ ๒๘ และ ๒๙ โดยมีวุฒิสภาชิก อับราฮัม ริบิคอฟ แห่งคอนเนกติคัต เป็นประธาน ในระหว่างการรับฟังนี้ วุฒิสภาชิก เจคอบ จาวิทส แห่งนิวยอร์ก อาจเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกทั่วไปของรัฐสภาได้ เมื่อเขาอธิบายถึงองค์กรใหม่นี้ในฐานะ “ที่เป็นองค์กรที่เข้มแข็งมากและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะยุติและป้องกันการเสื่อมสลายของทรัพยากรธรรมชาติอันประเมินค่าไม่ได้ของมนุษยชาติทั้งมวล และเพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินที่ประเมินค่ามิได้เหล่านี้ มนุษย์ผู้ซึ่งปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศอย่างผิดปกติอาจจะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะดำรงภาวะเช่นนั้นต่อไป”
สมาชิกรัฐสภา จอห์น ดินเจล แห่งรัฐมิชิแกน เป็นเพียงคนเดียวที่เสนอทางเลือกอื่นอย่างจริงจังเกี่ยวกับแผนปฏิรูปองค์กรหมายเลข ๓ ในฐานะนักอนุรักษ์ที่มุ่งมั่น ดินเจล ได้ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา จึงไม่มีอำนาจกำกับควบคุมงานระบบระบายน้ำเสียและน้ำในกระทรวงเกษตร และที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง รวมถึงส่วนปฏิบัติการสิ่งแดล้อมของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงคมนาคม เขาเสนอว่าแทนที่จะตั้งองค์กรนี้ขึ้น รัฐบาลควรพิจารณาอย่างละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการทั้งสองคณะให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของประธานาธิบดีและได้นำเสนอรายงานดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการของ โฮลิฟิล นำเสนอเมื่อ ๒๓ กันยายน ขณะที่อนุกรรมการของ ริบิคอฟ นำเสนออีก ๖ วันหลังจากนั้น โดยเป็นที่ชัดเจนว่าเมื่อปัญหาทางกฎหมายทั้งหมดได้รับการแก้ไขจนลุล่วงแล้ว ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๑๙๗๐ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะได้เปิดทำการ
@@@@@@@@@@
ผู้บริหารคนแรก
ระหว่างที่แผนก่อตั้ง EPA กำลังถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาอยู่นั้น การเตรียมการในทางปฏิบัติก็ดำเนินการไปพร้อม ๆ กันที่สำนักงานการจัดการและงบประมาณ กลุ่มภารกิจเฉพาะเพื่อจัดตั้งองค์กรจำนวน ๙ คน ได้ประชุมกันต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วงของปี ๑๙๗๐ เพื่อออกแบบโครงสร้างของสถาบันใหม่แห่งนี้ ในช่วงต้นของเดือนตุลาคม กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของตนเกี่ยวกับการถ่ายโอนหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องไปเพื่อจัดตั้งองค์กรใหม่ ในที่สุดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๑๙๗๐ ประธานาธิบดีนิกสันก็ได้ประกาศความตั้งใจที่จะเสนอชื่อ
วิลเลี่ยม ดี รัคเคิลเซาส์ ให้เป็นผู้บริหารคนแรกขององค์กรใหม่นี้ ด้วยพื้นฐานการศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย พรินซ์ตัน และ คณะนิติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชาวอินเดียนาอายุ ๓๘ ปี ผู้นี้มีประวัติที่น่าประทับใจมากมาย เมื่ออายุ ๒๘ ปีเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยอัยการของรัฐและในตำแหน่งดังกล่าวเขาได้ร่างกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศของรัฐอินเดียนา ๑๙๖๓ ในปี ๑๙๖๗ เขาลงสมัครรับเลือกตั้งและไม่เพียงแต่ได้ที่นั่งของพรรคริพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นคนแรกที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นผู้นำเสียงส่วนใหญ่ในช่วงแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง ในฐานะนักการเมืองที่โดดเด่นเขาได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของประเทศแต่แพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป ขณะได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นผู้บริหารองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกานี้ รัคเคิลเซาส์ ทำงานอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้ช่วยอัยการสูงสุดในส่วนคดีแพ่ง
ระหว่างการรับฟังเพื่อยืนยันการแต่งตั้งของเขาในวันที่ ๑ และ ๒ ธันวาคม รัคเคิลเซส์ ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะอนุกรรมการวุฒิสภาด้านงานสาธารณะ ถ้อยแถลงครั้งแรกของเขาต่อวุฒิสภาไม่เพียงแต่วางพื้นฐานสำหรับการบริหารในช่วงของเขา แต่ยังเป็นพื้นฐานในอนาคตให้กับองค์กรใหม่นี้ด้วย
“ผมคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากขององค์กรใหม่นี้ แน่นอนเพื่อให้มีความก้าวหน้าในการลดมลพิษ เราต้องมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งในระดับประเทศ นั่นไม่ได้หมายความว่านโยบายนี้จะไม่เป็นธรรมแต่มันหมายความว่ามันจะเคร่งครัดจริงจัง จากที่ผมได้พิจารณาพันธกิจขององค์กรนี้และพันธกิจของผมในฐานะที่ถูกเสนอให้เป็นผู้บริหาร มันจะต้องเป็นไปอย่างเข้มแข็งและมีพลังเช่นเดียวกับกฎหมายที่รัฐสภาได้ตราขึ้น และจะแสดงให้เห็นถึงการให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐต่าง ๆ”
หลังจากให้คำปฏิญาณต่อการเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๔ ธันวาคม ๑๙๗๐ ผู้บริหารของ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของอเมริกาก็ได้กล่าวต้อนรับเจ้าหน้าที่ของเขาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้เพิ่งจะถูกโอนย้ายมาจากหน่วยงานหรือกระทรวงเดิมเมื่อ ๒ วัน ก่อนหน้านั้น
วิลเลี่ยม รัคเคิลเซาส์ ได้อ้างถึงตราสัญลักษณ์และพันธกิจขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอเมริกา ว่าพวกเขาได้เข้าร่วมองค์การอิสระใหม่ล่าสุดระดับประเทศ และเรียกร้องให้พวกเขา “ก้าวเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ กับงานที่มีคุณค่าที่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเสนอความเห็นของคุณแก่เรา ทำงานหนักและช่วยกันสนับสนุนการสร้างองค์กรที่ใหม่และมีประสิทธิภาพ”
@@@@@@@@@@