กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย ลงพื้นที่ปฐมนิเทศ โครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1)

กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย

 ลงพื้นที่ปฐมนิเทศ โครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว

(ระยะที่ 1)

  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมรายงาน

31 ต.ค. 2556 

         หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551วันที่ 10 ม.ค. 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านทั้ง 22 ราย รายละ  177,199.50 บาท  และจัดทำแผนงาน วิธีการเพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม  น้ำ ดิน พืช และสัตว์
          ต่อมาวันที่ วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 กรมควบคุมมลพิษจึงทำหนังสือของบกลางจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 
         หลังจากได้รับงบประมาณ กรมควบคุมมลพิษจึงดำเนินโครงกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1) โดยพิจารณาให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ศึกษาตามโครงการนี้
 DSCF8969
 
          ล่าสุด วันที่ 31 ต.ค. 2556  กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง เพื่อปฐมนิเทศโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่1) ต่อชาวบ้านคลิตี้ล่าง และคลิตี้บน
         โดย ผศ.ดร เนตรนภิส ตันเต็มทรัพย์  ตัวแทนทีมศึกษาชี้แจงต่อชาวบ้านถึงการดำเนินการตามโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว(ระยะที่ 1) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจข้อมูลและจัดทำแผนที่แสดงการปนเปื้อนสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมซึ่งครอบคลุมตะกอนดินท้องน้ำ น้ำ และสัตว์น้ำ  และเพื่อหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดทำหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยเพื่อฝังกลบตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่ว  โดยทางทีมผู้ศึกษาจะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกระยะ 500 เมตร ตลอดความยาว 28 กิโลเมตรของลำห้วยคลิตี้
 
DSCF8983
          ภายหลังชี้แจงรายละเอียดโครงการ ชาวบ้านคลิตี้ล่างและคลิตี้บนได้ซักถามและมีข้อเสนอแนะต่อ กรมควบคุมมลพิษและ ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตรายในเรื่องการศึกษาโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1) รวม 4 ข้อด้วยกันคือ

  1. เสนอให้ว่าตั้งแต่บริเวณน้ำตกท้ายหมู่บ้านจนถึงจุด KC4/1 ควรเก็บตัวอย่างทุกระยะ 100 เมตร  เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำไหลช้าและชาวบ้านอยู่อาศัย และมีความคดโค้งสูงจึงอาจจะมีตะกอนอยู่มาก
  2. เสนอให้หาบริเวณพื้นที่ที่น้ำจากลำห้วยคลิตี้ท่วมไปถึง  
  3. เสนอให้ตรวจสอบความแข็งแรงของบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าจะไม่รั่วไหลลงมาอีก
  4. เสนอว่ากรมควบคุมมลพิษควรขุดตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่วในหลุมฝังกลบ (เดิม) ที่เหลืออีก 4 หลุมคือ หลุมที่ 1 6 7 8  ออกไปให้หมด

 
DSCF8980
 
          นอกจากนี้ ชาวบ้านยังให้ข้อเสนอแนะว่า ทีมผู้ศึกษาควรเข้ามาชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการศึกษากับชาวบ้านในทุกวันพระ ซึ่งทีมผู้ศึกษาได้รับข้อเสนอว่าในช่วงหมู่บ้านจะเก็บตัวอย่างทุกระยะ 100 เมตร เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำไหลช้า และชาวบ้านอยู่อาศัย จึงอาจจะมีการตกตะกอนอยู่มาก และจะศึกษาหาบริเวณที่น้ำจากขอบตลิ่งท่วมไปถึง  ส่วนการตรวจสอบความแข็งแรงของบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่และการขุดบ่อฝังกลบเดิมออกจากพื้นที่ ทีมผู้ศึกษาจะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่อไป
          ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตรายจะชี้แจงความก้าวหน้าของการศึกษาตามโครงกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว (ระยะที่ 1 )   ครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน 2556
 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง